xs
xsm
sm
md
lg

โครงการเปิดใหม่ "ภูเก็ต-สงขลา" ลดฮวบ คาดอสังหาฯ ภาคใต้ดูดซับดีขึ้นช่วงครึ่งหลังปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์
อสังหาฯ ภาคใต้ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างมาก ผู้ประกอบการเบรกการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ พื้นที่จังหวัดภูเก็ต สงขลา หน่วยเปิดใหม่ลดลงร้อยละ -88.7 และร้อยละ -16.7 ตามลำดับ ขณะที่สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ดีมานด์โครงการแนวราบเติบโต คาดปี 65 ปัจจัยกระจายเร่งฉีดวัคซีน ฟื้นเชื่อมั่นภาคอสังหาฯ จ่อเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดกว่า 5,799 หน่วย เกือบ 25,000 ล้านบาท แนวโน้มอัตราดูดซับครึ่งหลังปี 65 ชัดเจนดีขึ้น ส่งผลให้หน่วยเหลือขายลดลงร้อยละ -0.2 อยู่ที่ 15,302 หน่วย มูลค่ารวมเกินกว่าครึ่งแสนล้านบาท

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวถึงผลสำรวจภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยของภาคใต้ (จังหวัดภูเก็ต สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี) พบว่า ในครึ่งปีแรกของปี 64 ตลาดมีการชะลอตัวอย่างมากในด้านอุปทานของหน่วยเปิดขายใหม่ ซึ่งจำนวนหน่วยเข้าสู่ตลาดน้อยมาก เพียง 1,386 หน่วย หรือลดลงร้อยละ -20.3 และมูลค่ารวม 5,811 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -38.6 โดยเป็นการลดลงทั้งในส่วนของอาคารชุดและบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ ร้อยละ -27.9 และร้อยละ -17.7 ตามลำดับ

ส่งผลให้อุปทานที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่มีการขายในพื้นที่ภาคใต้ มีจำนวนรวม 16,701 หน่วย หรือลดลงร้อยละ -1.7 และมีมูลค่ารวม 72,956 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -1.8


"แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีการชะลอตัวในการพัฒนาโครงการใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและสงขลา มีจำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -88.7 และร้อยละ -16.7 ตามลำดับ ส่วนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 844.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเป็นโครงการบ้านจัดสรรทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ไม่มีหน่วยเปิดขายใหม่เลย"

ในส่วนของภาพรวม อุปสงค์ของหน่วยขายได้ใหม่ พบว่า ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 (ประมาณ 1,508 หน่วย) และ 2.1 (มูลค่า 5,479 ล้านบาท) ตามลำดับ ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายอยู่ในตลาดประมาณ 15,193 หน่วย มีมูลค่ารวมประมาณ 67,207 ล้านบาท ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ร้อยละ -2.6 และ -2.1 ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงของหน่วยบ้านจัดสรรเหลือขายร้อยละ -4.9 ขณะที่หน่วยเหลือขายอาคารชุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9

หากพิจารณาอัตราดูดซับบ้านจัดสรร พบว่า มีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเป็นผลจากการที่มีหน่วยเปิดขายใหม่ลดลง หากมองภาพรวมทั้งปี 2564 คาดว่าจะมีหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 3,296 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 14,213 ล้าน มีหน่วยขายได้ใหม่จำนวนประมาณ 3,377 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 13,246 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยรอการขายสะสมประมาณ 15,326 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 66,461 ล้านบาท

และ ในปี 2565 คาดว่าหากมีการกระจายวัคซีนได้ทั่วถึงจะทำให้สถานการณ์ที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลให้มีหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 5,799 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 24,994 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรรประมาณ 3,011 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 12,066 ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ 2,788 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 12,928 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2565 อัตราการขยายตัวของหน่วยโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ถึงร้อยละ 76.3

และคาดการณ์ในปี 65 จะมีหน่วยขายได้ใหม่จำนวนประมาณ 5,272 หน่วย มูลค่ารวม 21,889 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายสะสมลดลง โดยมีจำนวนหน่วยประมาณ 15,302 หน่วย หรือลดลงร้อยละ -0.2 มูลค่ารวมประมาณ 65,847 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรประมาณ 9,890 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 38,485 ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ 5,412 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 27,362 ล้านบาท โดยอัตราดูดซับจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกปี 65 และจะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 65 เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น