ผลการสำรวจอสังหาฯ พื้นที่ EEC พบตลาดรวมยังชะลอตัวหนัก ซัปพลายเปิดขายใหม่หดตัว -17.1% ขณะที่มูลค่าลดลงถึง -35.0% โดยเป็นการลดลงอย่างมากในส่วนของจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ผลสำรวจภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยพื้นที่ EEC จากผลการสำรวจภาคสนามในพื้นที่ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา พบว่า ภาพรวมตลาดมีการชะลอตัวอย่างมากในด้านอุปทานของหน่วยเปิดขายใหม่ลดลงกว่า -17.1% ในขณะที่มูลค่าลดลงถึง -35.0% โดยเป็นการลดลงอย่างมากในส่วนของจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่ของโครงการอาคารชุดลดลงถึง -41.6% มูลค่าลดลง -84.0% ขณะที่โครงการบ้านจัดสรรลดลง -7.1% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 3.2%
ในด้านหน่วยขายได้ใหม่พบว่าทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าลดลง โดยจำนวนหน่วยปรับลดลง -25.9% เป็นการลดลงของโครงการอาคารชุด -25.7% และโครงการบ้านจัดสรรลดลง -26.0% ด้านมูลค่าหน่วยขายได้ใหม่ลดลง -31.0% โดยเป็นการลดลงของโครงการอาคารชุด -36.2% และโครงการบ้านจัดสรรลดลง -28.1% ขณะที่อัตราดูดซับโดยภาพรวมปรับลดลงจาก 2.6% ในช่วงครึ่งแรกปีที่ผ่านมาลงมาอยู่ที่ 2.0% ในครึ่งแรกปี 64
จากการที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้จัดเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ด้วยการสำรวจภาคสนามในช่วงที่ยังมีการการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 และ 4 ได้พบความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของอุปทานที่อยู่อาศัยหน่วยเปิดขายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดในพื้นที่ EEC
โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 64 มีโครงการที่อยู่อาศัยใหม่เข้าสู่ตลาดน้อยมากโดยมีเพียง 5,752 หน่วย หรือ ลดลง -17.1% และมีมูลค่ารวม 14,227 ล้านบาท หรือลดลง -35.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ซัปพลายที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่มีการขายในพื้นที่ EEC มีจำนวนรวม 72,120 หน่วย หรือลดลง -7.5% และมีมูลค่ารวม 240,722 ล้านบาท หรือลดลง -7.9% โดยมีหน่วยขายได้ใหม่ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยมีหน่วยขายได้ใหม่ประมาณ 8,841 หน่วย หรือลดลง -25.9% และมีมูลค่า 26,198 ล้านบาท หรือลดลง -31.0% ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายอยู่ในตลาดประมาณ 63,279 หน่วย และมีมูลค่ารวมประมาณ 214,525 ล้านบาท ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า -4.1% และ -4.0% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ ประมาณการปี 64 จะมีโครงการเปิดขายใหม่จำนวน 14,479 หน่วย มูลค่ารวม 38,704 ล้านบาท จะมีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ 19,328 หน่วย มูลค่ารวม 57,650 ล้านบาท มีหน่วยเหลือขายรวมทั้งสิ้น 65,790 หน่วย มูลค่า 215,682 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นในปี 65 ทั้งในส่วนของการเปิดขายโครงการใหม่ และยอดขายใหม่ จะส่งผลให้ที่อยู่อาศัยเหลือขายในพื้นที่ EEC ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 61,942 หน่วยในครึ่งหลังปี 65
นายเกรียงไกร กรีบการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขยายตลาดเข้าสู่โซนพื้นที่ EEC ยังไม่นาน โดยเข้ามาด้วยโปรดักต์ในกลุ่มที่อยู่อาศัย ต่อด้วยกลุ่มเพื่อเช่า และกลุ่มสินค้าบริการ ซึ่งขยายไปในพื้นที่ต่างๆ ใน EEC ทั้งชลบุรี และระยอง เพราะมองว่ามีศักยภาพในการเติบโต แม้ว่าใน 1-2 ปีนี้จะมีปัจจัยลบจากโควิด-19 เข้ามากระทบตลาด แต่บริษัทยังมองในมุมบวก หลังจากที่ปัจจัยลบผ่านพ้นและประชาชนได้รบวัคซีนทั่วถึงแล้ว EEC จะกลายเป็นพื้นที่ที่มีการขยายการลงทุนใหม่ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนของภาครัฐ และการลงทุนจากต่างประเทศจะชะลอลงไป แต่บริษัทยังมองว่าในระยะอันใกล้นี้ตลาดจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะมีการขยายลงทุนอย่างมาก คือกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องดูนโยบายของรัฐบาลด้วยว่าจะส่งเสริมการลงทุนมาน้อยแค่ไหน อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเชื้อเพลิง ซึ่ง ปตท.จะมีการลงทุนเพิ่มจำนวนมาก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งเสริมการลงทุนระบบ 5G กลุ่มอุตสาหกรรมมการบิน น่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลักดันการเติบโตของ EEC