สมาคมอาคารชุดไทย ร่อนหนังสือถึงสือยื่นหนังสือถึงประธานสมาคมธนาคารไทย แจงประเด็น "แอชตัน อโศก" ต้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง แม้โครงการผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐอย่างถูกต้อง หวั่นเคส 'คอนโดฯ หรู' กระทบความเชื่อมั่นการลงทุน ด้าน ลูกบ้านทวงถามคดีอาจจะอีกไกล แต่หากทุบตึก รัฐ หรือบริษัทอนันดาฯ จะเยียวยา หวั่น เจ้าของโครงการอาจปิดกิจการ หนักใจสภาพโครงการไม่ต่างจากคอนโดฯ เถื่อน
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 สมาคมอาคารชุดไทย โดย ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย ได้ส่งจดหมายด่วนถึงสื่อมวลชนในประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการ นักลงทุน เจ้าของร่วมและผู้อยู่อาศัยในโครงการแอชตัน อโศก คอนโดมิเนียมหรูสูง 50 ชั้น หลังจากที่ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการคอนโดฯ หรู เนื่องจากพื้นที่ที่ตั้งโครงการถนนแคบกว่า 12 เมตร ผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 นั้น ซึ่งเกือบ 2 สัปดาห์ หลังจากที่ศาลมีคำสั่ง ผู้บริหารโครงการแอชตัน อโศก โดยบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) พยายามออกมาชี้แจงในความถูกต้อง และความเดือดร้อนของเจ้าของร่วม แม้ว่าขณะนี้ คำพิพากษาของศาลยังไม่ถึงที่สุด
ทั้งนี้ สมาคมอาคารชุดไทย เป็นสมาคมฯ แรก ที่ออกมาแสดงท่าทีต่อปมปัญหาดังกล่าว โดยได้มีการส่งหนังสือถึง นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ธนาคาร ที่มีลูกบ้านใช้สินเชื่อกับสถาบันการเงินรวม 3,000 ล้านบาท) (อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง : อนันดาฯ ถกเจ้าหนี้ช่วยลูกบ้าน "แอชตัน อโศก" แบงก์จ่อตั้งสำรองหนี้-เบรกรีไฟแนนซ์ https://mgronline.com/stockmarket/detail/9640000078024 )
โดยในรายละเอียดของหนังสือระบุว่า เนื่องด้วยกรณีที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของอาคารชุดแห่งหนึ่งบนถนนอโศกมนตรี ได้รับคําพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างของโครงการพักอาศัยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่โดยมีผู้เข้าอยู่อาศัยมานานมากกว่า 2 ปี แล้ว โดยให้มีผลเป็นการย้อนหลัง รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย (1)
สมาคมอาคารชุดไทย อันเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้ประกอบการและผู้ร่วมลงทุนจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธุรกิจอาคารชุดให้เจริญก้าวหน้า ช่วยกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่มีอยู่ เผยแพร่แนวความคิด และรายละเอียดที่ถูกต้องการของอาคารชุดแก่ประชาชน ตลอดจนเป็นสื่อกลางที่จะติดต่อกับทางราชการและสถาบันการเงิน ซึ่งมีสมาชิกในขณะนี้รวมจํานวนกว่า 200 บริษัท โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจนี้มีบทบาทสําคัญในการลงทุนของภาคเอกชน การจ้างงาน และการจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนตลอดมา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมาคมอาคารชุดไทย ได้ติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และพบว่า การเพิกถอนใบอนุญาตโดยมีผลย้อนหลังแม้ว่าโครงการจะผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทุกภาคส่วนตามขั้นตอนแล้ว ทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สํานักงานเขตวัฒนา ผู้อํานวยการสํานักการโยธา และกรุงเทพมหานคร จึงทําให้ได้รับใบอนุญาตครบถ้วนถูกต้อง
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวทําให้เกิดข้อห่วงกังวลของผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย โดยมีโครงการที่มีลักษณะการใช้ที่ดินของหน่วยงานของรัฐเป็นทางเข้าออกนับ 100 โครงการตามตัวอย่างข่าวที่ส่งมาด้วย(2)
นอกจากนี้ เพียงโครงการเดียวดังกล่าวข้างต้น ยังมีผู้พักอาศัยถึง 578 ครอบครัว จาก 20 ประเทศทั่วโลก ที่ได้ใช้ทรัพย์ซื้อที่อยู่อาศัยอันเป็นสิ่งจําเป็นโดยสุจริต จากเหตุการณ์ข้างต้นอาจกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อันอาจมีผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจธนาคาร สินเชื่อลูกค้ารายย่อย หรือหลักประกันการชําระหนี้ต่างๆ ทุกฝ่ายขาดความเชื่อถือต่อระบบการขออนุญาตจากทางราชการ และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ และส่งผลกระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน และเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ที่ว่างเปล่า ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตลอดแนวก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งอาจเป็นตะเข็บของสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินอยู่เหนือ หรือใต้สิ่งปลูกสร้างโครงการสาธารณูปโภคที่สร้างแล้วเสร็จนั้น หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ควรมีอํานาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ และรายได้สูงสุด โดยอาจมีหรือไม่มีหน่วยงานร่วมพิจารณา เช่น กรมธนารักษ์หรือหน่วยงานพิเศษใด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยรายได้ดังกล่าวจะใช้เป็นงบประมาณในหน่วยงานเพื่อแบ่งเบาภาระทางการคลังประเทศ หรือนําส่งคืนคลังแผ่นดิน เป็นประโยชน์แก่ประเทศต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ทุกหน่วยงานควรช่วยกันลดภาระและสร้างรายได้เข้าสู่รัฐ ภายใต้กฎหมายทันสมัยและส่งเสริมต่อการบริหารประเทศ
จึงเรียนมาเพื่อขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากผลกระทบจากคําตัดสินของศาลปกครองกลาง ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างต่อธุรกิจอสังหาฯ ภาคประชาชนผู้สุจริต และความเชื่อมันในระบบเศรษฐกิจไทย
ลูกบ้าน 'แอชตัน อโศก' หวั่นเจ้าของโครงการอาจปิดกิจการ!
ขณะที่วันที่ 10 ส.ค.64 ทางกลุ่มลูกบ้านชาวแอชตัน อโศก ได้ Live สด ชี้แจงถึงความกังวลและสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา เนื่องจากทางเจ้าของร่วมยังไม่ทราบเลยว่าคดีจะใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะสิ้นสุด แต่เริ่มเกิดผลกระทบ และลูกบ้านกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ได้แก่
1.มีลูกบ้านที่ครบกำหนด (3 ปี) ที่จะสามารถรีไฟแนนซ์สินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้สถาบันการเงินปฏิเสธทันที โดยให้เหตุผล "คอนโดมิเนียมถูกระงับใบอนุญาตก่อสร้าง" และไม่มีความมั่นคงเพียงพอ จึงเป็นเหตุทำให้ ลูกบ้านไม่สามารถยื่นเรื่องของรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินใหม่ได้
2.ในเรื่องของความมั่นคง แอชตัน อโศก (ถูกแช่แข็ง) หลายคนมองว่าเป็น "คอนโดเถื่อน" ลูกบ้านบางรายที่จะโอนต่อให้ลูกหลานไม่สามารถดำเนินการได้ จะผ่อนต่อไปเพื่ออะไร สภาพคอนโดฯ จะเป็นอย่างไร เป็นประเด็นคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ หรือลูกบ้านที่คิดจะขาย ก็ไม่สามารถขายห้องชุดได้
3.มีลูกบ้านชาวต่างชาติกังวลและตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
"เราจะผ่อนกับแบงก์ 30 ปีคุ้มค่าหรือไม่ แล้วค่าส่วนกลางจะเพียงพอหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา เราไม่รับทราบในคดีเลย จนมารู้ตอนเป็นข่าว ค่าใช้จ่ายในเรื่องของทนาย ค่าส่วนกลางจะพอแค่ไหน"
โดยกลุ่มลูกบ้านได้ตั้งคำถามเพื่อสอบถามว่า
1.ใครจะผู้เข้ามาเยียวยาพวกเรา (ลูกบ้าน) กว่า 1,000 คนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ความเชื่อมั่นในการอยู่อาศัย
2.ในฐานะประชาชนตาดำๆ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น และมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนและทุบทิ้ง (แอชตัน อโศก) ถึงเวลานั้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จะเป็นหน่วยงานรัฐ หรือบริษัทอนันดาฯ เพราะบริษัทที่เจ้าของร่วม (ผู้ซื้อ) ทำธุรกรรมด้วย บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เจ้าของโครงการ 'แอชตัน อโศก' ถ้าถึงเวลานั้น บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชียฯ จะอยู่ให้เยียวยาหรือไม่ หากมีการปันผลให้แก่บริษัทแม่ (บริษัทอนันดาฯ) แล้วปิดกิจการบริษัทหนีไปแล้วใช่หรือไม่!
3.บริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการ จะมีการตั้งสำรองหนี้ เผื่อให้กับลูกบ้านด้วยหรือไม่ ซึ่งในอดีตงบการเงินของบริษัทฯ ไม่ได้มีการตั้งสำรองหนี้ในส่วนนี้ไว้ หรือจะเป็นภาครัฐที่จะมาเยียวยา