xs
xsm
sm
md
lg

สั่งโบรกเกอร์สยบหุ้นร้อน (1) / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหลักทรัพย์กำลังศึกษาหามาตรการใหม่เพื่อกำกับดูแลหุ้นที่เคลื่อนไหวผิดปกติ เพราะมาตรการกำกับการซื้อขายเริ่มใช้ไม่ได้ผล แต่มาตรการใหม่จะควบคุมหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง เข้าข่ายการสร้างราคาได้เพียงใด

นับตั้งแต่ต้นปี 2564 หุ้นตัวเล็กหลายสิบบริษัทราคาพุ่งทะยานขึ้นโดยไม่มีปัจจัยสนับสนุนอย่างชัดเจน ตลาดหลักทรัพย์จึงประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายนับร้อยครั้ง แต่ไม่อาจสกัดกั้นความร้อนแรงของราคาหุ้นได้ แม้จะเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการถึง 3 ระดับก็ตาม

เริ่มตั้งแต่กำหนดให้ซื้อหุ้นด้วยเงินสด หรือบัญชีแคชบัลลานซ์ ซึ่งเป็นมาตรการกำกับการซื้อขายระดับที่ 1 การห้ามคำนวณวงเงินซื้อขายหุ้น เป็นการเพิ่มความเข้มข้นระดับที่ 2 และการห้ามหักกลบค่าซื้อขายหุ้นภายในวันเดียว ซึ่งเป็นระดับ 3

แต่ราคาหุ้นยังพุ่งทะยานต่อ แม้หุ้นบางตัวจะถูกประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายถึง 9 ครั้งก็ตาม เช่น หุ้นบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG

หุ้นร้อนที่จัดอยู่ในกลุ่มหุ้น “หัวแข็ง” หรือหุ้น "ดื้อยา" ในระดับแนวหน้า โดยมาตรการกำกับการซื้อขาย “เอาไม่อยู่” เช่นหุ้น XPG หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC หุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA

บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JTS และ หุ้นบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY

DELTA ร้อนมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ปัจจุบันเป็นหุ้นลำดับต้นๆ ที่ถูกตลาดหลักทรัพย์จับตา

AEC ปีนี้ครองความเป็นหุ้นที่พุ่งแรงที่สุด จากราคาปิดเมื่อสิ้นปี 2563 ที่ 17 สตางค์ ราคาปิดล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา 7.85 บาท เพิ่มขึ้น 7.68 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 4,517.64%

ราคาหุ้น AEC ที่ทะยานขึ้นมายาวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยลือกันว่า นายสมโภชน์ อาหุนัย ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เข้ามาถือหุ้น AEC ผ่านตัวแทน และส่ง น.ส.ออมสิน ศิริ อดีต ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กรของ EA เข้ามานั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

XPG ราคาปิดสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 1.07 บาท แต่ราคาพุ่งทะยานขึ้น โดยราคาวันที่ 27 กรกฎาคมปิดที่ 3.86 บาท หลังหุ้นขึ้นเครื่องหมายเอ็กซ์อาร์ ซึ่งหากคำนวนจากสิทธิเพิ่มทุนในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 50 สตางค์ ราคาหุ้น XPG จะอยู่ที่ 10.52 สตางค์ เพิ่มขึ้นจากจุดปิดสิ้นปี 9.45 บาท หรือเพิ่มขึ้น 883.17%

ราคาหุ้น XPG พุ่งขึ้น เพียงเพราะข่าว นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เข้ามาซื้อหุ้นจากนายสุเทพ วงศ์วรเศรษฐ จำนวน 100 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.60 บาท เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564

JTS ราคาปิดสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 1.93 บาท ล่าสุดปิดที่ 46.50 บาท เพิ่มขึ้น 44.57 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2,309.32% และถูกมองว่าน่าจะมีขาใหญ่อยู่เบื้องหลังการลากราคาหุ้น

และหุ้น SABUY ซึ่งสิ้นปี 2563 ปิดที่ 1.81 บาท ล่าสุดปิดที่ 9.10 บาท เพิ่มขึ้น 7.29 บาท หรือเพิ่มขึ้น 402.76% ซึ่งคาดว่า น่าจะมีขาใหญ่อยู่เบื้องหลังการลากราคาหุ้นเช่นเดียวกัน

หุ้นตัวเล็กที่ราคาถูกลากขึ้นอย่างร้อนแรงยกแผงหลายสิบบริษัท กำลังทำให้ตลาดหุ้นถอยหลังไปสู่ยุคอดีตเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ซึ่งยังไม่มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมีการปั่นหุ้นกันอย่างโจ๋งครึ่ม

มาตรการดับร้อนหุ้นปั่นในยุคนั้นใช้เครื่องหมาย “NP” และ “SP” ซึ่งได้ผลในช่วงแรกๆ เท่านั้น แต่ระยะหนึ่งหุ้นปั่นก็ดื้อยา โดยแม้จะถูก SP พักการซื้อขายหุ้น แต่เมื่อปลด SP นักลงทุนขาใหญ่จะลากราคาหุ้น จุดพลุเก็งกำไรต่อทันที จนในที่สุดตลาดหลักทรัพย์ต้องยอมยกธงขาว

ไม่ใช้ป้าย NP และ SP เพื่อดับหุ้นร้อน แต่ปรับมาเป็นมาตรการกำกับการซื้อขายแทน ซึ่งเริ่มใช้ไม่ได้ผลแล้ว จนต้องเตรียมหามาตรการใหม่เข้ามาเพิ่มเติม

ปีนี้ มีหุ้นเล็กร่วมๆ ร้อยตัวที่แสดงอิทธิฤทธิ์ ราคาถูกลากขึ้นอย่างร้อนแรง และล้วนมีขาใหญ่หรือเจ้ามืออยู่เบื้องหลังแทบทั้งสิ้น

ตลาดหลักทรัพย์ยังไม่ “จนตรอก” เสียทีเดียว เพราะอำนาจที่มีอยู่ กลไกในมือ สามารถดับหุ้นร้อน และกำราบขาใหญ่หรือเจ้ามือที่อยู่เบื้องหลังการก่อพฤติกรรมที่เข้าข่ายปั่นหุ้นได้

เพียงแต่ตลาดหลักทรัพย์ไม่กล้าใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อสยบหุ้นตัวร้ายเท่านั้น

(อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้)








กำลังโหลดความคิดเห็น