กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) แถลงผลประกอบการครึ่งปีแรก 2564 ภาพรวมธุรกิจของทั้งกลุ่มธุรกิจฯ เติบโตได้ดี ทั้งในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุน มีกำไรสุทธิ 2,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับปี 2563 ในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อขยายตัวขึ้นร้อยละ 6.6 จากเมื่อสิ้นปี 2563 โดยเฉพาะในกลุ่มของสินเชื่อที่มีหลักประกัน (collateralized) เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย หรือสินเชื่อสำหรับบรรษัทกลุ่มที่มีเครดิตดี นับเป็นผลสำเร็จจากกลยุทธ์การเติบโตอย่างระมัดระวัง ซึ่งช่วยรักษาผลตอบแทนที่ดีท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนการควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เช่นเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจตลาดทุนมีผลประกอบการที่ดีในทุกกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ซึ่งยังคงครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งและได้รับผลดีจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและธุรกิจจัดการกองทุน ที่มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำหรือการจัดการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 และร้อยละ 12 ตามลำดับ ธุรกิจวาณิชธนกิจที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมของการดำเนินการธุรกรรมขนาดใหญ่ในครึ่งปีแรกเสร็จสิ้น และธุรกิจการลงทุนโดยตรงที่มีรายได้เบ็ดเสร็จกว่า 1,103 ล้านบาท
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรโดยรวมมีความแข็งแรงจากแหล่งที่มารายได้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจตลาดทุนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มากเท่าภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดซึ่งยังมีความไม่แน่นอนและอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในอนาคต ธนาคารจึงยังคงตั้งสำรองอยู่ในระดับที่สูง โดยสำหรับไตรมาส 2/2564 เป็นจำนวน 1,378 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ได้มีการพิจารณาตั้งสำรองพิเศษ (Management Overlay) รวมอยู่ด้วย
"ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกถือว่ายังเติบโตได้ดีท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เป็นเพราะเรามีการกระจายธุรกิจออกไปหลากหลาย ดังนั้น เมื่อธุรกิจหนึ่งโดนกระทบก็มีรายได้ธุรกิจอื่นเข้ามาประคอง ขณะที่การปล่อยสินเชื่อยังเน้นในสินเชื่อที่มีหลักประกัน ขณะที่ธุรกิจตลาดทุน การลงทุนต่างๆ ยังทำรายได้ดี และธุรกิจวาณิชธนกิจแม้เคส IPO อาจจะไม่มากจากสถานการณ์อย่างนี้ แต่ยังมีส่วนอื่นๆ ที่ทำได้ไม่ว่าจะเป็น M&A หรือการออกตราสารต่างไป โดยขณะนี้ยังเคสอยู่ 20 กว่าราย"
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในระยะที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่าส่งผลกระทบไม่สม่ำเสมอกันสำหรับลูกค้าในแต่ละกลุ่ม กลุ่มธุรกิจจึงยังตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อรวมแบบระมัดระวัง ในกลุ่มที่มีศักยภาพที่ร้อยละ 8-12 จากปัจจุบันที่เติบโตเกือบร้อยละ 7 มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่เกินร้อยละ 4.5 จากปัจจุบันที่ร้อยละ 3.4 พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลกระทบจากสินเชื่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โดยการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าอย่างเต็มที่ พร้อมกันนั้น ได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให่การบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น รวมถึงเตรียมพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปหากวิกฤตโควิด-19 หมดไป
"สถานการณ์ในครึ่งปีหลังยังมีความไม่แนอนสูง ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 น่าจะเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาส 3 นี้ และหากยืดเยื้อก็ต่อไปจะถึงไตรมาส 4 ซึ่งทำให้ในครึ่งปีหลังนี้ธุรกิจต่างๆ จะดร็อปลงไปกว่าครึ่งปีแรกบ้าง ขณะเดียวกัน เรายังเน้นดูแลและให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการพักทรัพย์ พักหนี้มีลูกค้าที่ตกลงเข้าร่วมโครงการแล้ว 10 กว่าราย คิดเป็นวงเงิน 1,500-2,000 ล้านบาท จากพอร์ตธุรกิจโรงแรมประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนที่เหลือจะใช้แนวทางอื่นที่เหมาะสมต่างกันไป ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูมีความคืบหน้าอยู่บ้าง แต่ประเด็นหลักตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของดอกเบี้ยที่ต่ำ แต่เป็นเรื่องการพิจารณาในด้านความสามารถในการชำระหนี้คืนทำให้การปล่อยสินเชื่อเป็นไปได้ยากขึ้น"
ด้านนายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ว่า ในสถานการณ์โควิด-19 การรักษาการเติบโตในสินเชื่อกลุ่มที่มีคุณภาพและมีความสามารถที่จะชำระหนี้จะช่วยรักษาอัตราผลตอบแทนของพอร์ตสินเชื่อรวมให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ดังนั้น กลยุทธ์ด้านสินเชื่อของธนาคารคือการเติบโตแบบระมัดระวังในกลุ่มที่มีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิต และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันยังคงเติบโตได้ดี ทั้งสินเเชื่อเช่าซื้อโตและสินเชื่อบ้านเติบโตเกือบร้อยละ 10 ขณะที่ในครึ่งปีหลังด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่หนักขึ้นอาจจะทำให้การเติบโตชะลอลงบ้างโดยได้ตั้งเป้าหมายเติบโตทั้งปีไม่เกินร้อยละ 12% ส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังมีสัดส่วนที่น้อยมากในพอร์ตเนื่องจากเพิ่งเริ่มทำและยังคงพิจารณากลุ่มลูกค้าเป้าหมายอยู่
นอกจากนั้น สิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างมากคือการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ไม่ว่าสินเชื่อรายย่อย หรือสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะภายใต้สมมติฐานว่าสถานการณ์อาจดำเนินติดต่อไปเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ ธนาคารได้ใช้ข้อมูลการชำระหนี้ของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาออกแบบมาตรการช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ที่สุด โดยปัจจุบัน ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าในทุกประเภทสินเชื่อคิดเป็นกว่าร้อยละ 40 ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร
นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ให้รายละเอียดผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2564 ว่า กลุ่มธุรกิจมีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากครึ่งปีแรก 2563 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 936 ล้านบาท ในส่วนของปริมาณการตั้งสำรองสำหรับปี 2564 มีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 160.1 นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 7,624 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 3,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 จากครึ่งปีแรก 2563 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ร้อยละ 17.89 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับร้อยละ 13.51
**ปรับเป้าจีดีพีโต 0.5%**
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บล.เกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า ด้วยการฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นช้าและปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้มีน้อยกว่าที่คาด สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสซึ่งมีเพียง 5% ในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาก ภายในสิ้นปีจะมีประชากรเพียงประมาณ 35% ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ทำให้การแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์อาจจะมีต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 3 เดือน ในกรณีฐาน ได้ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 เหลือ 0.5% ส่วนในกรณีที่การระบาดรุนแรงกว่า การล็อกดาวน์อาจยาวนานและรุนแรงกว่า หรือต้องมีการปรับความเข้มข้นของมาตรการล็อกดาวน์ จนกระทบต่อภาคการผลิต และการส่งออกที่เป็นความหวังสำคัญ เศรษฐกิจอาจหดตัว 0.8% ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งได้
การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและยาวนานกว่าการระบาด 2,ครั้งแรก จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิต การจ้างงาน กระแสเงินสด ฐานะทางการเงิน และความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ดังนั้น รัฐบาลควรต้อง (1) มีการวางแผนการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่รอบคอบ สอดคล้องกับสถานการณ์และระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุข และสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใส (2) การเพิ่มศักยภาพในการตรวจ สอบสวนโรค และรักษา และเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลเพื่อเพิ่มสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน (3) ออกมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือที่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ (4) เตรียมการเพื่อกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด และ (5) รักษาความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงิน
ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะต่อรายได้ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เพดานวินัยทางคลังที่ร้อยละ 60 และคาดว่าจะเกินระดับดังกล่าวในปี 2565 แต่ด้วยระดับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง รัฐบาลยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นได้หากมีความจำเป็น แต่รัฐบาลต้องมีแผนในการปรับลดการขาดดุลในอนาคตเพื่อรักษาวินัยทางการคลังและความเชื่อมั่น และต้องมีการจัดลำดับของการใช้จ่ายในปัจจุบันให้สอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์