xs
xsm
sm
md
lg

กำไรแบงก์ Q2 ยังขยับเพิ่ม ครึ่งปีหลังหนักเหตุโควิด-19 รุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 64 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเทียบไตรมาสก่อนชะลอตัว สะท้อนผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทั้งด้านรายได้ ปริมาณธุรกรรม รวมถึงคุณภาพสินเชื่อ และยังต้องจับตาช่วงที่เหลือของปี เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง

ตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 ของธนาคารพาณิชย์ในระบบ 10 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG) ที่แจ้งออกมาพบว่ามีกำไรสุทธิรวม 51,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 64 แล้ว กำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 64 แล้วปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 9.88% และในงวด 6 เดือน หรือครึ่งแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิจำนวนรวม 97,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 77,143 ล้านบาท

ทั้งนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของกำไรในไตรมาส 2 ปี 64 ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีนั้น เป็นการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฐานในปีก่อนที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำอันเนื่องมาจากการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมในปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปีก่อนที่หดตัวลงถึง 12.2% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดของปีนั้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 64 ซึ่งเป็นช่วงต้นปีที่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ก็กลับมาสะดุดจากการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ในช่วงท้ายไตรมาสแรก และรับผลกระทบต่อเนื่องที่หนักขึ้นในไตรมาส 2 นี้

โดยจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารยังต้องมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกัน ยังต้องมีการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สูญในระดับที่สูงต่อไปเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากมีการระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานและจาก กำไรสุทธิไตรมาส 2 ปีนี้หากเทียบกับกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาแล้วมีผลกำไรเพิ่มขึ้น 9.88% โดยส่วนหนึ่งมีการบันทึกกำไรจากรายการพิเศษของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ขณะที่ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่กลับมาระบาดอย่างรุนตั้งแต่ปลายไตรมาสแรกเป็นต้นมา เริ่มส่งผลปริมาณธุรกรรมหลักๆ ของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้จากดอกเบี้ยที่มาจากการปล่อยสินเชื่อที่หดตัวหรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมต่างๆ เช่น การใช้บัตรเครดิตที่ลดลงตามการใช้จ่าย รวมถึงธนาคารก็ยังต้องเพิ่มความระมัดระวังในด้านของคุณภาพหนี้เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนในอนาคต ทำให้ต้องมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในระดับที่สูงกว่าภาวะปกติอยู่ แม้ว่าบางแห่งจะลดลงบ้างแต่ก็มีสาเหตุมาจากการตั้งสำรองไว้ในระดับสูงมากในช่วงก่อนหน้านี้

กันสำรองเพิ่ม-เร่งพยุงลูกหนี้

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในงวดครึ่งปีแรกปี 2564 ธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 39.32% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ได้ตั้งสำรองในระดับที่สูงเป็นจำนวนถึง 32,064 ล้านบาท ภายใต้หลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อน รวมถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ จากสภาวะเศรษฐกิจไทยในงวดครึ่งปีแรกของปี 2564 ที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ธนาคารได้ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวจะเลื่อนเวลาออกไป และยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ลูกค้า ธนาคารจึงได้พิจารณาตั้งสำรองในงวดนี้ทั้งสิ้นจำนวน 19,457 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นระดับสำรองภายใต้หลักความระมัดระวัง ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบไตรมาส 2 ปี 2564 กับไตรมาสก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 24.93%

"ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2564 ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อทิศทางการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและธุรกิจ และยังทำให้ช่วงเวลาการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวต้องเลื่อนเวลาออกไป ทั้งนี้ แม้มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของภาครัฐและสัญญาณการขยายตัวของภาคส่งออกจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่แนวโน้มการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน โดยขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนและการควบคุมการระบาดของโควิด-19"

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งและสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ด้วยดีจากฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง แต่ธนาคารได้เตรียมความพร้อมสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จเพื่อช่วยให้ลูกค้าอยู่รอดและฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้แบบยั่งยืนให้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน ธนาคารยังคงหาโอกาสทางธุรกิจหลังยุควิกฤตโควิด-19 โดยต่อยอดธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตสูง และนำเสนอประสบการณ์ธนาคารดิจิทัลแห่งอนาคต ควบคู่ไปกับการยกระดับความผูกพันกับลูกค้าให้ครอบคลุมมากกว่าธุรกิจการเงิน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังเผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงและขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของลูกค้าประชาชน ธนาคารจึงใช้หลักการความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ และการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) ในระดับสูง โดยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ธนาคารยังคงรักษาระดับการตั้งสำรองในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) กล่าวว่า กรุงศรียังคงให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านมาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการสนับสนุนด้านสภาพคล่องและสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มเติมตามความจำเป็น รวมถึงติดตามและจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบระมัดระวังเพื่อความแข็งแกร่งของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร และมุ่งเน้นที่การกำกับดูแลด้วยความเข้มงวดเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าธนาคารมีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูงและเพียงพอที่จะรองรับกับความท้าทายทางการเงินและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า การดำเนินงานในไตรมาส 2 นั้น ธนาคารยังคงเน้นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่เร่งการเติบโตสวนทางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติม จุดประสงค์หลักเพื่อรักษาและคงความแข็งแกร่งทางการเงินไว้ให้พร้อมสำหรับการเติบโตเมื่อเศรษฐกิจเอื้ออำนวย และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังรุนแรงและยืดเยื้อ สิ่งสำคัญที่สุดที่ธนาคารเร่งดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในตอนนี้ คือ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ โดยนับตั้งแต่การระบาดในปีที่แล้ว ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปมากกว่า 7.5 แสนราย ปัจจุบันยอดสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โปรแกรมความช่วยเหลือมีสัดส่วนประมาณ 14% ของสินเชื่อรวม

"ภายใต้โปรแกรมให้ความช่วยเหลือ การปรับโครงสร้างการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพคล่องที่เปลี่ยนไปของลูกค้าช่วยให้ลูกค้าส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ลดการผิดนัดชำระหนี้ และชะลอการเกิดหนี้เสียใหม่ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการแก้หนี้เสียที่มีอยู่เดิมทำได้ช้าลงเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจในสถานการณ์ปกติ ดังนั้น โดยรวมแล้วยอดหนี้เสียจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น"

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (TISCO) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังเปราะบางและคาดว่าจะขยายตัวในระดับต่ำ แม้จะมีแรงหนุนจากฐานที่ต่ำมากในช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากมองไปในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอเพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรงและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก นำไปสู่การบังคับใช้มาตรการปิดเมืองในบางพื้นที่ ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชนให้มีแนวโน้มชะลอตัวลงยิ่งกว่าเดิม และ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อและรุนแรงมากกว่าที่คาดนี้ การให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างทันการณ์จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและกลุ่มรายย่อย

โดยนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทิสโก้ให้ความช่วยเหลือและดูแลลูกค้ามาอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละประเภท ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ที่ยาวนานขึ้น ทิสโก้จึงขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือต่อจนถึงสิ้นปี โดยปัจจุบัน ทิสโก้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไปแล้วกว่า 150,000 ราย

ด้านธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้สนับสนุนมาตรการของภาครัฐและเร่งดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมดูแลลูกค้าให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าแต่ละราย ขณะเดียวกัน ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารยังคงมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย

โจทย์ครึ่งปีหลังยังหนัก-แนวโน้ม NPL เพิ่ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงขึ้นอยู่กับการสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเร่งจัดหาและกระจายวัคซีน ตลอดจนการเยียวยาภาคส่วนที่ถูกกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทันต่อสถานการณ์ และสำหรับโจทย์ภารกิจเฉพาะหน้าที่สำคัญของสถาบันการเงิน น่าจะอยู่ที่การเร่งช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs และรายย่อยในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวด 10 จังหวัด โดยจากข้อมูล ธปท. สินเชื่อ SMEs และรายย่อยใน 10 จังหวัดดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 31.9% ของสินเชื่อรวม ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ของระบบธนาคารพาณิชย์

ดังจะเห็นได้จากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาเริ่มมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของลูกหนี้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนจากข้อมูลลูกหนี้ที่เข้ารับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินในเดือน พ.ค.2564 ซึ่งขยับขึ้นมาที่ 1.89 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 2.00 ล้านล้านบาท (จาก 1.79 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ฯ 1.98 ล้านล้านบาท ในเดือน เม.ย.64) และ จำนวนบัญชีและยอดภาระหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือมีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 3 จากผลกระทบที่หนักและชัดเจนมากขึ้นของโควิด-19 ระลอกสาม

ขณะที่สถานการณ์ NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ แม้ยังเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของ ธปท. ในกรณีที่สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้ แต่ด้วยความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อรายได้ของลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการในหลายๆ ธุรกิจเป็นเวลานาน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์มีโอกาสขยับขึ้นมาที่กรอบ 3.15-3.25% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 2 นี้ จากระดับ 3.10% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสแรก และยังคงต้องติดตามสัญญาณด้อยคุณภาพของสินเชื่อในพอร์ตลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อย เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอย่างใกล้ชิด

และจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังต้องระมัดระวังประเด็นด้านคุณภาพของหนี้อย่างใกล้ชิด ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงตั้งสำรองสูงกว่าไตรมาสแรกและสูงกว่าระดับสำรองปกติ

โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจขยับขึ้นมาที่กรอบ 1.35-1.45% เทียบกับ 1.30% ไตรมาสแรก ขณะที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพน่าจะทรงตัวในระดับสูงในช่วงประมาณ 144-145%


กำลังโหลดความคิดเห็น