xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมนักลงทุนทิ้งหุ้นแบงก์ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 10 แห่ง ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ออกมาแล้ว กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น แต่ราคาหุ้นกลับไม่ตอบรับ และซึมลงด้วยซ้ำ

ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ธนาคารทิสโก้ (TISCO)

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG)

ในไตรมาสที่ 2 มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 51,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 69.11%

ส่วนผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกปีนี้ ผลกำไรสุทธิของ 10 ธนาคารมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 97,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.90% จากระยะเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ผลกำไรสุทธิโดยรวมของกลุ่มธนาคารที่เติบโตสูงในไตรมาสที่ 2 เป็นเพราะมีการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนใน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นกำไรพิเศษที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานตามปกติ

และถ้าหักกำไรพิเศษจากเงินลงทุนแล้ว ผลประกอบการของธนาคารกรุงศรีอยุธยางวด 6 เดือนแรกลดลง 5% หรือลดลง 678 ล้านบาท ซึ่งจะฉุดให้ผลประกอบการแบงก์ทั้งกลุ่มไม่เติบโตมากนัก

ราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์ทั้งกลุ่มไม่ได้ตอบรับกับผลประกอบการไตรมาสที่ 2 โดยหลังทยอยประกาศงบการเงิน ราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลง แต่ดีดตัวขึ้นแรงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา และเป็นการขึ้นตามภาวะตลาดหุ้นที่ฟื้นตัว แต่อ่อนตัวลงใหม่ในการซื้อขายวันที่ 23 กรกฎาคม

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ไม่เชียร์ให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะยังกังวลผลกระทบโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะพุ่งขึ้น

และธนาคารต้องตั้งสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ฉุดผลประกอบการครึ่งปีหลังชะลอตัวลง

ถ้าพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานหุ้นขนาดใหญ่ BBL KBANK และ SCB ถือว่าปัจจัยพื้นฐานอ่อนลง โดย BBL มีค่าพี/อี เรโชประมาณ 12.14 เท่า สูงสุดในรอบหลายปี ขณะอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 2.39% ต่ำสุดในรอบหลายปี

KBNAK มีค่าพี/อี เรโช 7.5 เท่า ต่ำมากในรอบหลายปี แต่อัตราเงินปันผล 2.34% ต่ำสุดในรอบหลายปี และ SCB มีค่าพี/อี เรโช ประมาณ 11.54 เท่า สูงมากเมื่อเทียบกับค่า พี/อี เรโชรอบหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน 2.41% ต่ำสุดรอบหลายปี

ในรอบ 12 เดือน ราคาหุ้น BBL แตะระดับสูงสุดที่ 134.50 บาท แต่ปิดล่าสุดวันที่ 22 กรกฎาคมที่ 104.50 บาท KBANK แตะระดับสูงสุดที่ 153 บาท ปิดล่าสุด 22 กรกฎาคมที่ 107 บาท และ SCB สูงสุดที่ 114 บาท ปิดล่าสุดที่ 95.25 บาท

ราคาหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดประมาณ 20-30% และเป็นอัตราปรับตัวลดลงมากกว่าดัชนีหุ้นเสียอีก แสดงว่า สถานการณ์กลุ่มธนาคารย่ำแย่กว่าภาวะตลาดหุ้นโดยรวม

ความกังวลในหนี้เสียไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มแบงก์เท่านั้น แม้แต่กลุ่มนอนแบงก์ก็ตกอยู่ในเป้าหมายความเสี่ยหนี้เสียพุ่งขึ้นด้วย หุ้นกลุ่มนอนแบงก์ช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD หุ้นบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC และบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ซึ่งราคาหุ้นเริ่มหงอยลง

สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังเลวร้ายกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ จนเกิดความกังวลตัวเลขหนี้เสียจะพุ่งขึ้น ทำให้กลุ่มแบงก์และนอนแบงก์เป็นหุ้นกลุ่มเสี่ยง

ครึ่งปีหลังอาจต้องเว้นวรรคหุ้นแบงก์และนอนแบงก์ ลดความเสี่ยงจากราคาหุ้นซึมลง








กำลังโหลดความคิดเห็น