xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ พลิกกลยุทธ์ ‘ดึงกำลังซื้อในประเทศ’ เฟ้นหาดีมานด์เฉพาะ รายใหญ่ไม่ถอดใจ! ลุยโครงการใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางวิกฤตจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ยังคงเป็น “ปัจจัยลบ” ใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย ตัวเลขผู้ติดเชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้าง จนในขณะนี้ตัวเลขแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 8,000 คนต่อวัน กระจายไปทุกคลัสเตอร์ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ บั่นทอนโอกาสของการดำเนินธุรกิจ และล่าสุด รัฐบาลได้ดำเนินการประกาศ “ล็อกดาวน์ 14 วัน” ในพื้นที่ 10 จังหวัด ซึ่งแน่นอน ในเชิงการบริหารจัดการ ภาครัฐต้องการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19

แต่ “ความเสียหาย” ทางเศรษฐกิจย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด ได้ประกาศมาตรการเยียวยาออกมาด้วยวงเงิน 42,000 ล้านบาท ดูแลกิจการ ลูกจ้าง แรงงานที่อยู่ในระบบและนอกระบบประกันสังคม รวมถึงลดภาระในเรื่องค่าครองชีพผ่านการลดค่าน้ำค่าไฟ และดูแลค่าใช้จ่ายในเรื่องการศึกษาให้ประชาชน

ซึ่งมองในภาพกว้างแล้ว ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ เนื่องจากเริ่มมีการระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เดลตา การประกาศกึ่งล็อกดาวน์ ส่งผลให้สถานการณ์ค่อนข้างเปลี่ยนเร็ว ทำให้เศรษฐกิจไทยเผชิญควาเสี่ยงที่มากขึ้น ชะลอตัวลง จึงได้ปรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2564 จากเดิม 3% เหลืออยู่ที่ 1.8% และในปี 65 จาก 4.7% เหลือ 3.9%

นั่นจึงเป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อภายในประเทศยิ่งเปราะบางมากขึ้น

และประเด็นที่น่ากังวล คือ หนี้ครัวเรือนของไทยเข้าสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มประสบภาวะ Debt Overhang หมายถึง ภาวะของการมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายและการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในด้านต่างๆ ของภาคครัวเรือน โดยตัวเลขไตรมาสแรกปี 64 แตะระดับที่ 90.5% ต่อจีพีดี เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 4.6%

ขณะที่สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ระบุว่า มาตรการกึ่งล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 10 จังหวัด จะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการว่างงานมากขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจส่วนใหญ่ (ยกเว้นส่งออก) มีความบอบช้ำตั้งแต่การระบาดระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน กระทบต่อกำลังซื้อคนไทยให้ “อ่อนแอ” และผลกระทบจากโควิด-19 ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน (ม.ค.63-เม.ย.64) ประมาณการความเสียหายไม่น้อยกว่า 11.038 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 65.2% ของจีดีพี (ปีฐาน พ.ศ.2562)

นายภัทรชัย ทวีวงศ์
อสังหาฯ ใช้เวลากว่า 2 ปี Remove กลับขึ้นมา “กินบุญเก่า” สต๊อกพร้อมโอนหนุนรายได้

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึงความเสี่ยงที่มีผลต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ว่า เท่าที่เคยประเมิน เรามองข้ามการฟื้นตัวของภาคอสังหาฯ ไปปี 2565 ขณะที่การเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ยังไม่ใช่ปัจจัยหนุนภาพรวมของตลาดให้ดีขึ้น

“ดังนั้น เราคิดว่าตลาดอสังหาฯ น่าจะใช้เวลาขั้นต่ำ 2 ปีข้างหน้าที่จะ Remove ให้กลับขึ้นมา ซึ่งผู้ประกอบการที่มีสต๊อกพร้อมโอนเยอะ น่าจะโชว์ผลการดำเนินงานที่ออกเป็นบวก ยอดโอนกรรมสิทธิ์เป็นบวก เนื่องจากดีเวลลอปเปอร์ยังมีสต๊อกพอ เพียงพอ ประคองอยู่ได้ในช่วงนี้ เพราะกินบุญเก่าอยู่ แต่อย่าลืมยอดการโอนกรรมสิทธิ์ หรือยอดรับรู้รายได้ หรือจะมีรายได้จะต้องเปิดมาจากยอดขายด้วย ถ้าสต๊อกเก่าระบายออกไป และของใหม่ไม่มีการเปิดตัวเลยจะมีผลในการประกอบธุรกิจของบริษัทอสังหาฯ ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากไม่มีโครงการจะขายแล้ว”

อสังหาฯ พลิกกลยุทธ์ ดึงกำลังซื้อในประเทศ
“เฟ้นหาดีมานด์เฉพาะ” ดันยอดขายสู้โควิด-19

นายภัทรชัย กล่าวว่า สำหรับทางออกและทางรอดในภาวะแบบนี้ ผู้ประกอบการต้องเลือกและเปิดโครงการการในทำเลที่มั่นใจในการสร้างยอดขายได้ หาดีมานด์ และต้องพยายามดึงกำลังซื้อในประเทศออกมาให้ได้ในภาวะแบบนี้ วิเคราะห์กลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนและเป็นทำเลเฉพาะ หรือเลือกโลเกชันที่อยู่ใกล้สถานศึกษา ใกล้โรงพยาบาล หรือใกล้ห้างสรรพสินค้าที่ยังเป็นไพรม์แอเรีย (Prime Area) ซึ่งผู้ประกอบการควรหันไปจับลูกค้ากลุ่มนี้ ในภาวะที่ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงมีวิกฤตอยู่ เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังคงมีดีมานด์อยู่อย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังซื้อภายในประเทศ อีกทั้งยังสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในลูกค้ากลุ่มนี้ได้ด้วย

อย่างเช่น บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความสำคัญในการเปิดตลาดในกลุ่มกำลังซื้อโซนนิคมอุตสาหกรรม (อนึ่ง โครงการเสนาคิทท์ ฉลองกรุง-ลาดกระบัง เจาะกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดยยอดจองสิทธิ 100%ในเฟสแรกจำนวน 490 ยูนิต มูลค่า 470 ล้านบาท)

บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่เปิดโครงการรับกลุ่มนักศึกษา หรือแม้แต่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ประสบความสำเร็จการเปิดแบรนด์คอนโดฯ “เดอะ มูฟ เกษตร” เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในราคาที่เข้าถึงเริ่ม 1.69 ล้านบาท

หรือแม้แต่ตลาดอสังหาฯ ในต่างจังหวัด โครงการของบริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)ที่เปิดตัวโครงการ Velana Golf House บ้านเดี่ยวหรูในสนามกอล์ฟ จังหวัดระยอง

PF ผนึกฮ่องกงแลนด์ รุกสร้างพอร์ต ‘บ้านหรู’
Grand รับอานิสงส์ธุรกิจถุงมือยาง หนุนรายได้-กำไร

นายศานิต อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) " PF" เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจในครึ่งหลังของปีนี้ว่า บริษัทและพันธมิตรฮ่องกงแลนด์ ยังคงเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว และบริษัทยังประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาฯ แกรนด์ รอยัล ออคิด โฮสพีทาลีตี้ (GROREIT) ซึ่งมีมูลค่า 4,500 ล้านบาท ทำให้มีกระแสเงินสดเข้ามาช่วยในกลุ่มธุรกิจโรงแรม

ขณะเดียวกัน บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ "Grand" ในเครือ PF จะเร่งเปิดโรงงานผลิตถุงมือยาง โดยจะเปิด 8 ไลน์การผลิตในเฟสแรกเพื่อส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า และภายในไตรมาสแรกปี 65 จะลงทุนพอสมควรขยายในเฟส 2 เพิ่มเป็น 16 ไลน์การผลิต

“ธุรกิจถุงมือยางจะคืนทุนเร็ว เป็นธุรกิจสำคัญของแกรนด์ แอสเสทฯ ในปี 65 ที่เป็นธุรกิจใหม่ของบริษัทฯ โดยจะเป็นรายได้หลักที่มากกว่าธุรกิจโรงแรมและอสังหาฯ คาดว่าจะมีสัดส่วนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และกำไรส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจถุงมือยางจากการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ” นายศานิต กล่าว


อสังหาฯ แบ่งรับแบ่งสู้ ลงทุนครึ่งปีหลัง
เข็นโครงการใหม่ตามแผน-รื้อเป้าเปิดโปรเจกต์

สำหรับสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ในครึ่งหลังของปี 64 (ก.ค.-ธ.ค.64) ผู้ประกอบการยังประกาศก้องลงทุนโครงการ โดยผู้สื่อข่าวได้สำรวจความเคลื่อนไหวของบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ พบว่า

บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ยังคงเป้าตามแผนเปิด 31 โครงการ เป็น 27 โครงการแนวราบ และ 4 โครงการคอนโดมิเนียม รวมมูลค่า 34,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 39% โดยในครึ่งปีแรก 64 เน้นเปิดตัวโครงการแนวราบ จำนวน 9 โครงการ มูลค่าประมาณ 9,180 ล้านบาท

ในด้านของผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 64 ด้วยนโยบายการรุกเจาะตลาดกำลังซื้อเพื่ออยู่อาศัย (เรียลดีมานด์) ทำให้ ศุภาลัย สามารถสร้างยอดขายได้แล้ว 13,005 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63 ซึ่งยอดขายในปีนี้ ยังคงเป้าไว้ที่ 27,000 ล้านบาท ส่วนเป้ารายได้รวม 28,000 ล้านบาท

บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ยืนเป้าเปิด 31 โครงการ มูลค่า 37,500 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ จำนวน 27 โครงการ มูลค่าประมาณ 24,500 ล้านบาท และคอนโดฯ จำนวน 4 โครงการ มูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งในครึ่งปีหลังจะเปิดมากถึง 26 โครงการ มูลค่า 33,440 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเอพีฯ ได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดครึ่งปีหลัง โดยการนำแบรนด์ “บ้านกลางกรุง” กลับมาพัฒนาอีกครั้ง ระดับราคา 35-60 ล้านบาท และขยายโปรดักต์ปรับโฉมแบรนด์ ASPIRE (แอสปาย) มาพัฒนาใหม่เลือกทำเลรัตนาธิเบศร์ และปิ่นเกล้า ซึ่งอยู่ในรัศมีของรถไฟฟ้า ระดับราคาเริ่มต้น 1.59 ล้านบาท

บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป้าเปิด 24 โครงการ มูลค่า 21,500 ล้านบาท โดยในครึ่งปีหลังจะเปิดตามแผนที่วางไว้อีก 20 โครงการ มูลค่ารวม 19,400 ล้านบาท แบ่งเป็นในไตรมาส 3 จำนวน 9 โครงการ และไตรมาสสุดท้ายของปี 64 จำนวน 11 โครงการ

บริษัทโนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ยังคงยืนยันเป้าเปิด 11 โครงการ มูลค่า 45,100 ล้านบาท ตลาดหลักจะเป็นสินค้าแนวราบในจำนวนที่มากกว่าคอนโดฯ แต่มูลค่าเปิดโครงการน้อยกว่าสินค้าแนวสูง


ASW เจาะดีมานด์เฉพาะ ชูแบรนด์ “เคฟ” จับกลุ่มคนรุ่นใหม่-นักศึกษา

นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW กล่าวว่า ในครึ่งปีแรกมียอดขายสะสมกว่า 2,540 ล้านบาท โดยยอดขายประมาณ 40% มาจากยอดขายในแบรนด์ เคฟ (KAVE) เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ เน้นทำเลใกล้สถานศึกษาและมหาวิทยาลัยชั้นนำ เจาะกลุ่มผู้ปกครอง รายได้ระดับกลาง-บน รวมถึงกลุ่มนักลงทุน ระดับราคา 60,000-80,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารายได้ปีนี้จะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อนรายได้ที่ 4,205 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของธุรกิจอสังหาฯ ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น สร้างแผนงานเชิงรุกที่ปรับตัวสู้โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีหลังมี 2 โครงการที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์รับรู้รายได้ ได้แก่ โครงการ “เคฟ ทียู” มูลค่าโครงการ1,800 ล้านบาท มียอดขายกว่า 90% เริ่มโอนกรรมสิทธิ์ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และโครงการ “โมดิซ สุขุมวิท 50” มูลค่าโครงการ 2,100 ล้านบาท ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปีนี้ตามเป้าที่ตั้งไว้

และยังคงเดินหน้าเพื่อเปิดโครงการใหม่ตามแผนงานที่วางไว้ทั้งปี 6 โครงการ มูลค่าประมาณ 10,850 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงเดินหน้าเปิด 5 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 9,700 ล้านบาท ประกอบไปด้วย “แอทโมซ บางนา” มูลค่าโครงการ 2,200 ล้านบาท โครงการ “เคฟ เอวา” มูลค่าโครงการ 2,400 ล้านบาท โครงการ “โมดิซ ไรห์ม คลาวด์” มูลค่าโครงการ 3,700 ล้านบาท โครงการ “โมดิซ ศรีราชา” มูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท และโครงการบ้านภูริปุรี ลาดพร้าว 41 โฮมออฟฟิศ มูลค่าโครงการ 87 ล้านบาท

รวมทั้งยังคงมองหาโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ อย่างเสมอ เช่น การเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคเป็นเจ้าของบ้านและคอนโดฯ ทุกโครงการในเครือ ผ่านการแลกสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี เป็นเงินบาท เพื่อใช้ในการซื้อบ้านและคอนโดฯ ในเครือแอสเซทไวส์ เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดธุรกิจและปรับตัวสู่นวัตกรรมทางการเงินสมัยใหม่ได้อย่างรวดเร็วในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และการศึกษาการลงทุนและความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ เพื่อผลักดันการเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้นได้ต่อเนื่อง

LPN จ่อทบทวนแผนธุรกิจ “โควิด-19 ระบาดหนัก-ปิดแคมป์ฯ”

บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ “LPN” เดิมในแผนธุรกิจวางไว้ในปี 64 จะเปิด 9 โครงการ มูลค่าประมาณ 8,500 ล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ทำให้บริษัทอยู่ระหว่างทบทวนแผนธุรกิจในปีนี้ คาดว่าจะลดจำนวนการเปิดโครงการเหลือประมาณ 5-8 โครงการ โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ได้เปิดไปแล้ว 2 โครงการ มูลค่า 5,500 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ “ลุมพินี วิลล์ จรัญ-ไฟฉาย” มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 1.5 ล้านบาท และโครงการบ้านหรู “บ้าน 365 เมืองทอง” มูลค่าโครงการ 2,500 ล้านบาท ราคาเริ่มต้นที่ 9-19 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 190 หลัง

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป้ารายได้ปีนี้ที่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งระบายสินค้าพร้อมขายที่มีอยู่ประมาณ 11,000 ล้านบาทออกไปอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น