พิษโควิด-19 ระลอกใหม่ ปิดแคมป์คนก่อสร้าง ล็อกดาวน์ กระทบเศรษฐกิจ ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เตรียมทบทวนภาพรวมอสังหาฯ ปี 64 ระลอกใหม่ หลังเจอมรสุมเพียบ คาดตัวเลขหลุดใกล้กรอบ 'เลวร้ายสุด' ตัวเลขหน่วยเปิดโครงการใหม่ลดลง -14.9% มูลค่าลดฮวบเหลือ 12.8% ปัจจัยดีเวลลอปเปอร์ชะลอเปิดโครงการคอนโดมิเนียม ยอดขายลดลง -6.4% มูลค่าติดลบเกือบ 10% ชี้สต๊อกเหลือขายเพิ่มขึ้นเป็น 935,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9%
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หน่วยงานกลางจัดเก็บข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เตรียมทบทวน (Review) และปรับมุมมองต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2564 ใหม่ เนื่องจากเกิดปัจจัยแทรกซ้อนเข้ามากระทบต่อตลาดอสังหาฯ อย่างชัดเจนในช่วงที่เริ่มเข้าสู่ต้นไตรมาส 3 ของปี 2564 (ก.ค.-ก.ย.)
เริ่มจาก การปิดแคมป์คนงานก่อสร้างชั่วคราว 1 เดือน (มีผลตั้งแต่ 28 มิ.ย.64) เพื่อควบคุมการเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 จากแคมป์คนงานก่อสร้าง ตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ณ สิ้นปี 2563 มีบ้านจัดสรรและคอนโดฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ขายแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างรวม 51,153 หน่วย มูลค่ารวมกัน 274,716 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนก่อสร้างแล้วเสร็จและโอนให้ลูกค้าไปแล้ว แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและต้องส่งมอบในปีนี้
และล่าสุด ประกาศ "ล็อกดาวน์ 14 วัน" มาตรการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมานี้
"ตัวเลขสำคัญต่างๆ ของภาคอสังหาฯ มีแนวโน้มน่าจะปรับตัวลงต่ำกว่ากรณี Base Case ที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง แต่คาดว่าไม่น่าจะหลุดเกินกรณี Worst Case (เลวร้ายสุด) ซึ่งทางศูนย์ข้อมูลฯ กำลังประเมินตัวเลขและภายในเดือนสิงหาคม จะเปิดตัวเลขที่รีวิวตลาดอสังหาฯ ปี 64 ใหม่"
ตามข้อมูลของภาคอสังหาฯ ปี 64 บ่งชี้ว่า ตลาดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลอยู่ในภาวะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา คาดว่าหน่วยเปิดขายใหม่รวมอาคารชุดและบ้านจัดสรร ในปี 2564 ของกรณีฐาน Base Case ที่ประมาณไว้ที่จำนวน 62,592 หน่วย ลดลง -5.5% เป็นมูลค่า 323,600 ล้านบาท ลดลง -3.1%
แต่การวิเคราะห์และประเมินใหม่จะลดลงแต่ไปในกรอบที่ไม่ต่ำกว่า Worst Case ที่หน่วยเปิดใหม่ 56,333 หน่วย (ซัปพลายหายไป 6,259 หน่วย) ลดลง -14.9% เป็นมูลค่า 291,242 ล้านบาท (มูลค่าหายไป 32,358 ล้านบาท) ลดลง -12.8% ทั้งนี้ การติดลบเป็นผลจากการที่โครงการอาคารชุดมีการเปิดตัวลดลงอย่างมาก
สำหรับยอดขายจะลดลงจาก Base Case ที่มีจำนวน 69,996 หน่วย สมมติฐานเดิมเพิ่มขึ้น 4% ส่วนมูลค่าประมาณ 312,000 ล้านบาท ลดลง -4.3% จะลดลงแต่ไม่เกิน Worst Case ที่มียอดขายลดลงเหลือ 62,996 หน่วย ลดลง -6.4% เป็นมูลค่า 294,500 ล้านบาท ลดลง -9.1% ทั้งนี้ การติดลบเป็นผลจากยอดขายของอาคารชุดที่ลดลง
สต๊อกเหลือขายเพิ่มขึ้นรวม1.83 แสนหน่วย ยอดโอนลด -13.6%
การที่หน่วยเปิดตัวใหม่และยอดขายที่ลดลง ทำให้หน่วยเหลือขายสะสม ณ สิ้นปี 64 น่าจะเหลือไม่เกินกว่ากรณี Worst Case ที่ 183,511 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.2% โดยมีมูลค่าประมาณ 935,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9%
และมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์รวมประมาณ 169,844 หน่วย ลดลงไม่เกินกว่า -13.6% และมีมูลค่าโอนประมาณ 544,320 ล้านบาท ลดลงไม่เกินกว่า -11.3% ในกรณี Worst Case
ลุ้นเปิดประเทศ ดัชนีเชื่อมั่นอสังหาฯ บวกเล็กน้อย
ล่าสุด ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาส 2 ปี (เม.ย.-มิ.ย.64) ยังต่ำกว่าระดับ 50.0 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 50.5 ลดลงอย่างชัดเจนจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.8 แม้ว่าค่าดัชนียังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 แต่มีการลดลงอย่างมากในทุกปัจจัย สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการก็ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ในอีก 6 เดือนข้างหน้าในเชิงบวกเล็กน้อย อาจเป็นเหตุผลจากการที่รัฐบาลได้ประกาศแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคม 64 ซึ่งหากสามารถทำได้ตามแผนดังกล่าวจะทำให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ยังมีความกังวลเรื่องการระบาดของโควิด -19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในปัจจุบัน