สภาองค์การนายจ้างฯ ประเมินผลกระทบต่อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบันจะมีต่อเศรษฐกิจไทยที่อาจสูงมากกว่า 11 ล้านล้านบาท ล็อกดาวน์ทำฝันค้าง ศก.ไทยพ้นจุดต่ำสุด คาดตลาดแรงงานยิ่งเปราะบางมากยิ่งขึ้น หวังมาตรการเยียวยารัฐบาลช่วยหนุน แนะรัฐเดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 10 จังหวัด ระยะเวลา 14 วัน จะส่งผลกระทบต่อการว่างงานเพิ่มขึ้นแต่จะมากน้อยเพียงใดอยู่กับมาตรการเยียวยาของรัฐบาลในทางปฏิบัติจะแก้ไขได้ตรงจุดหรือไม่ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากสุดคือธุรกิจส่วนใหญ่ยกเว้นกลุ่มส่งออกมีความบอบช้ำจากวิกฤตที่เกิดขึ้นตั้งแต่การระบาดระลอกแรกจนถึงรอบใหม่ ทำให้กำลังซื้อคนไทยอ่อนแอ ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในภาวะประคองตัว แม้การล็อกดาวน์ครั้งนี้จะจำกัดวงแค่ 10 จังหวัดแต่จังหวัดเหล่านี้มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( GDP) และการจ้างงานรวมกันประมาณ 60-70% ดังนั้น ภาพความเสียหายจากผลกระทบโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยอาจสูงกว่า 11.038 ล้านล้านบาท
“ผลกระทบโควิด-19 ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน (ม.ค. 63-เม.ย. 64) ผมได้ประมาณการความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 11.038 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 65.3% ของ GDP (ปีฐาน พ.ศ. 2562) จากมูลค่าจีดีพีที่หดตัวลง ผลกระทบด้านส่งออกและท่องเที่ยว ฯลฯ แม้ส่งออก 5 เดือนแรกปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจในประเทศทรุดตัวก็จะยิ่งกระทบเพิ่มขึ้น และการล็อกดาวน์แม้จะจำกัดวงแต่การระบาดระลอก 4 มีความรุนแรงเท่ากับดับความหวังว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านถึงจุดต่ำสุด ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ค้ารายย่อย แผงลอย ธุรกิจในห่วงโซ่ท่องเที่ยว ก่อสร้าง ฯลฯ มีแนวโน้มที่จะยังทรุดตัว ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อภาวะความเปราะบางของตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นเพราะธุรกิจเหล่านี้มีแรงงานคิดเป็น 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด” นายธนิตกล่าว
ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขแรงงานในระบบประกันสังคม ม.33 เดือน พ.ค. 64 มีจำนวน 11.077 ล้านคนเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ซึ่งเป็นปีก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดมีจำนวน 11.540 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจทำให้แรงงานในระบบหายไปถึง 463,275 คน ลดลง 4.01% และเมื่อพิจารณาจากแรงงานต่างด้าวพบว่าเดือน พ.ค. 62 แรงงานต่างด้าวทุกประเภทมีจำนวน 3.189 ล้านคน เทียบกับเดือน พ.ค. 64 มีจำนวนลดลงเหลือ 2.307 ล้านคน หรือหายไปถึง 27.6% ต่ำสุดในรอบสองปี
หากพิจารณาการล็อกดาวน์ครั้งแรกในเดือน เม.ย. 63 จำนวนแรงงานในระบบประกันสังคมลดลงอย่างมากและต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี แม้ว่ารัฐบาลจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐใช้เงินไปประมาณ 5.132 แสนล้านบาท ยังไม่รวมเงินจากประกันสังคมและเงินกู้เสริมสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งใช้เงินไปแล้วกว่า 3.0 แสนล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้การจ้างงานกลับมา โดยสะท้อนจาก ม.ค.-พ.ค. 64 จำนวนแรงงานในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นเพียง 22,157 คน ขณะที่แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัยถึง 126,468 คน
“การล็อกดาวน์ครั้งนี้เอกชนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จบภายใน 14 วัน เพราะคนเองก็ยังคงเดินทาง กิจกรรมบางอย่างก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ แม้รัฐจะเคอร์ฟิวช่วงกลางคืนก็เป็นเวลาที่คนไม่ได้เดินทางไปห้างอะไรอยู่แล้ว การฉีดวัคซีนเองวันนี้ก็ยังถือว่าต่ำ ดังนั้นรัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว” นายธนิตกล่าว