xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสถิติการใช้จ่าย “เราชนะ-ม.33 เรารักกัน” หลังปิดโครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

โครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

ปัจจุบันรัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา อยู่ 4 โครงการ โดยสองโครงการแรกรัฐบาลมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ได้แก่

โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 เดิมมีผู้ถือบัตรประมาณ 13.7 ล้านคน แต่ข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 11.2 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 2,211.60 ล้านบาท

โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (ใช้บัตรประชาชน) เดิมมีประมาณ 2.4 ล้านคน แต่ข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 496,929 ราย มียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 97.1 ล้านบาท


ส่วนโครงการที่รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ที่รัฐบาลสนับสนุนวงเงิน 1,500 บาท ในวันที่ 1 กรกฎาคม และ 1 ตุลาคม 2564 เพื่อใช้สิทธิรัฐร่วมจ่าย 50% สูงสุด 150 บาทต่อวัน รวม 3,000 บาทตลอดโครงการ

ข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 17.5 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 13,962.5 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 7,050.5 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 6,912 ล้านบาท

และ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ให้สะสมยอดใช้จ่ายผ่านทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ผ่านร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้วจะได้รับบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ตั้งแต่ 10-15% สูงสุด 7,000 บาทตลอดโครงการ

ข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 32,689 ราย ยอดการใช้จ่ายสะสมรวม 176.3 ล้านบาท

ณ เวลา 22.00 น. วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 พบว่า โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 สิทธิคงเหลือ 1,512,752 สิทธิ จากทั้งหมด 31 ล้านสิทธิ เท่ากับมีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิแล้ว 29,487,248 ราย


ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ สิทธิคงเหลือ 3,513,050 สิทธิ จากทั้งหมด 4 ล้านสิทธิ เท่ากับมีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิแล้ว 486,950 ราย แต่เมื่อดูข้อมูลผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 32,689 ราย

ที่ผ่านมา โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ถูกมองว่ามีเงื่อนไขที่จุกจิกเกินไป ทั้งการสะสมยอดใช้จ่ายต่อวันเพื่อนำมาคำนวณเป็น e-Voucher สูงสุดเพียงวันละ 5,000 บาท ซึ่งไม่สะท้อนความเป็นจริงของกลุ่มเป้าหมายผู้มีกำลังซื้อ ซึ่งมีอยู่ 6 ล้านคน

สังเกตได้จากห้างสรรพสินค้า เวลาจัดโปรโมชันร่วมกับบัตรเครดิต มักจะจูงใจด้วยยอดซื้อสูงๆ นับหมื่นบาท แต่กติกาโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ทำให้ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ กระตุ้นยอดขายสินค้าราคาสูงไม่ได้

อีกทั้งยังสะสมยอดซื้อเพื่อคำนวณเป็น e-Voucher ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน 2564 เท่านั้น โดยนับยอดซื้อทั้งเดือน แล้วได้รับ e-Voucher ในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ใช้ได้ถึง 31 ธันวาคม 2564

ล่าสุด กระทรวงการคลังที่เป็นเจ้าของโครงการนี้ เตรียมปรับปรุงเงื่อนไขโครงการ เช่น สะสมยอดใช้จ่ายต่อวันเพื่อนำมาคำนวณเป็น e-Voucher เพิ่มจาก 5.000 บาท เป็น 10,000 บาท

รวมทั้งขยายเวลาสะสมยอดซื้อเพื่อคำนวณเป็น e-Voucher จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 แต่ต้องรอเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน


สำหรับโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 แม้จะมีสิทธิคงเหลือกว่า 1.5 ล้านสิทธิ แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐบาลขยายสิทธิจากเดิมเฟส 1 และเฟส 2 จำนวน 15 ล้านคน ขยายเป็น 31 ล้านคน เพื่อรองรับประชาชนที่ไม่เคยใช้สิทธิมาก่อน

โดยเฉพาะประชาชนส่วนหนึ่งที่เลือกโครงการช้อปดีมีคืน ในปีภาษี 2563 นำค่าซื้อสินค้าและบริการมาลดหย่อนภาษี สูงสุด 30,000 บาท มาปีนี้ไม่มีโครงการดังกล่าวแล้ว ต้องเลือกระหว่างโครงการคนละครึ่ง กับ ยิ่งใช้ยิ่งได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง

วัดกันเฉพาะวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียน คือ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 มีจำนวนผู้ลงทะเบียน 23,691,277 ล้านคน ก็วัดผลได้แล้วว่าโครงการนี้มีประชาชนให้ความสนใจมากขนาดไหน

แต่ในยามที่รัฐบาลประกาศมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ เวลานี้อาจจะยากลำบากไปบ้าง

แต่โครงการนี้ยังมีระยะเวลาถึง 31 ธันวาคม 2564 ยังพอมีเวลาที่จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น วางระบบให้ใช้สิทธิผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ โดยไม่กลายเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตเฉกเช่นในอดีต


ย้อนกลับไปที่ โครงการคนละครึ่ง เฟส 1 และ 2 เป้าหมาย 15 ล้านคน ที่สิ้นสุดโครงการไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีผู้ใช้สิทธิทั้งสิ้น 14,793,502 คน มียอดใช้จ่ายตลอดโครงการ 102,065 ล้านบาท

แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 52,251 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 49,814 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ มีคนที่ใช้จ่ายตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป จำนวน 13,653,565 คน คิดเป็น 92% ของผู้ใช้สิทธิทั้งหมด และมีคนใช้จ่ายครบ 3,500 บาท จำนวน 7,819,925 คน

5 จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ สงขลา และเชียงใหม่


มาถึงตัวเลข โครงการเราชนะ จัดสรรวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพสูงสุด 9,000 บาทต่อคน สิ้นสุดโครงการไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 พบว่า มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ 33.2 ล้านคน มูลค่าการใช้จ่ายวงเงินสิทธิรวม 273,475 ล้านบาท แบ่งออกเป็น

กลุ่มที่ 1 ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน มูลค่าการใช้จ่าย 101,301 ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 ผู้มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” (เฉพาะผู้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง และ เราเที่ยวด้วยกัน) จำนวน 8.4 ล้านคน

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จำนวน 8.7 ล้านคน

โดยกลุ่มที่ 2 และ 3 มูลค่าการใช้จ่าย 151,344 ล้านบาท

กลุ่มที่ 4 ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จำนวน 2.4 ล้านคน มูลค่าการใช้จ่าย 20,830 ล้านบาท

เมื่อจำแนกการใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ 1.3 ล้านกิจการ พบว่า มียอดใช้จ่ายจากร้านค้าทั่วไปและอื่นๆ มากที่สุด 110,501 ล้านบาท รองลงมาคือ ร้านธงฟ้า ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค 93,182 ล้านบาท

อันดับสาม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 52,948 ล้านบาท, อันดับสี่ ร้านโอทอป 11,371 ล้านบาท, อันดับห้า ร้านค้าบริการ 5,293 ล้านบาท และอันดับหก ขนส่งสาธารณะ 180 ล้านบาท

และเมื่อดูกราฟการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ในโครงการเราชนะ พบว่าสัปดาห์แรกมียอดใช้จ่าย 69,020 ล้านบาท ก่อนที่จะกระเตื้องในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมีนาคม 2564 และค่อยๆ ขยับสูงขึ้นมา และสูงขึ้นในสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 262,330 ล้านบาท


ส่วน โครงการมาตรา 33 เรารักกัน ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม ระบุแต่เพียงว่า จำนวนผู้ประกันตนที่เข้าร่วมโครงการ 8.14 ล้านคน จำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 247.899 แห่ง ยอดการใช้จ่าย 48,185,847,179.56 ล้านบาท

เมื่อนำยอดการใช้จ่าย หารด้วยจำนวนผู้ประกันตนที่เข้าร่วมโครงการ จะพบว่าแต่ละคนใช้จ่ายผ่านโครงการดังกล่าวเฉลี่ยคนละ 5,919.63 ล้านบาท จากวงเงินสิทธิช่วยเหลือผู้ประกันตนประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 6,000 บาทต่อคน

สถิติที่กล่าวถึงนี้ หวังว่าพอจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจ ว่าประชาชนมียอดใช้จ่ายจากร้านค้าแบบไหนมากที่สุด แม้ข้อมูลจะไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียดว่า เป็นร้านค้าประเภทใด ค้าปลีกหรือค้าส่งก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น