โฆษก ศบศ.เผย ผู้ประกอบการ-ลูกจ้างฝากขอบคุณ “บิ๊กตู่” หลังสั่งเร่งเยียวยาผลกระทบจากมาตรการคุมเข้ม แจง 23 ก.ค.โอนเงินเยียวยาครั้งแรก พร้อมเคาะสินเชื่ออิ่มใจช่วยเยียวยาเพิ่ม
วันนี้ (8 ก.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เปิดเผยว่า สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนหรือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม โดยล่าสุด ครม.เห็นชอบอนุมัติงบประมาณสำหรับชดเชยเร่งด่วน จำนวน 2,519.38 ล้านบาท เพื่อเยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการด้านก่อสร้าง ที่พัก บริการด้านอาหาร ศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ และผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ถูกปิดกิจการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยเริ่มโอนเงินเยียวยาครั้งแรกภายในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ โดยโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) หากนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำนักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างแจ้ง หรือตามวิธีการอื่นๆ ที่กระทรวงแรงงานกำหนด ส่วนกรณีนายจ้างที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม สามารถลงทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เพื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคม และจะได้เข้าเงื่อนไขของการเยียวยาในครั้งนี้
นายธนกร กล่าวต่อว่า ครม.ยังได้เห็นชอบมาตรการ “สินเชื่ออิ่มใจ” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้า เครื่องดื่ม ที่ได้รับผลกระทบระลอกใหม่ ให้มีสภาพคล่องที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยธนาคารออมสินจะจัดสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านจำหน่ายแบบถาวร เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร อาคารพาณิชย์ ห้องแถว หรือร้านที่มีลักษณะเป็นบูธ ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี (Effective Rate) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก ซึ่งธนาคารออมสินจะเริ่มดำเนินการให้บริการสินเชื่อตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินโครงการจนถึงอนุมัติเต็มวงเงินสินเชื่อ 2,000 ล้านบาท หรือถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ
นายธนกร กล่าวอีกว่า 2 มาตรการดังกล่าวสามารถเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้จำนวนมาก โดยกลุ่มแรกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน สามารถช่วยเหลือนายจ้างในระบบประกันสังคม 41,940 ราย ได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดไม่เกิน 200 คนต่อแห่ง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 663,916 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ส่วนมาตรการสินเชื่ออิ่มใจจะช่วยเหลือผู้ประกอบร้านอาหาร/เครื่องดื่มได้ไม่น้อยกว่า 40,000 ราย เฉลี่ยรายละ 50,000 บาท ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากที่ผู้บริโภคมีการหลีกเลี่ยงใช้บริการภายในร้านหรือเปลี่ยนพฤติกรรมจากการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านเป็นการซื้ออาหารกลับบ้าน รวมทั้งที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนที่กำหนดให้ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม เปิดดำเนินการเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่อื่น ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการ แรงงาน และประชาชน ยังฝากขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วย