นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า ธนาคารโลกเปิดรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย กรกฎาคม 2564 เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยประเมินว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 แต่การฟื้นตัวของอุปสงค์โลกและมาตรการให้เงินเยียวยาขนานใหญ่ของไทยก็ช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว และเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสแรกของปี 2564 หลังจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 ซึ่งทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการหดตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดในอาเซียน โดยเวิลด์แบงก์ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปี 2564 เติบโตร้อยละ 2.2 จากเดิมที่ร้อยละ 3.4 และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตร้อยละ 5.1 ซึ่งเข้าสู่ระดับเกิดก่อนโควิด-19 ในปี 2562 แต่ยังเป็นการเติบโตที่ไม่ทั่วถึง จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมาเต็มที่
ด้านความยั่งยืนทางการคลังนั้น มองว่าหนี้สาธารณะที่ 43% ก่อนเกิดโควิด-19 มาสู่ระดับ 59% ในปัจจุบัน และน่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 62.1% ต่อไปจาก พ.ร.ก.เงินกู้ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 นั้นถือยังไม่มีผลต่อความยั่งยืนทางการคลังของไทย แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเกินเพดานที่ตั้งไว้ 60% เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท และสภาพคล่องในประเทศยังมีอยู่มากเมื่อเทียบกับหนี้ที่เพิ่ม ขณะที่การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากรายได้ที่ลดลงและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจาก พ.ร.ก.เงินกู้ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเยียวยาในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในระยะต่อไปจะต้องมีการบริหารจัดการให้มีความสมดุลมากขึ้น
สำหรับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยนั้นยังมีอยู่สูง โดยเฉพาะการระบาดในระลอกใหม่ซึ่งอาจจะมีการกลายพันธ์ุร่วมเข้ามา ทำให้ภาครัฐต้องกลับมาดำเนินมาตรการเข้มงวดอีก และยังมีความเป็นไปได้ที่การจัดหาและกระจายวัคซีนจะช้ากว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป ขณะนี้ปัจจัยบวกเป็นกรณีเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อภาคการค้าและการลงทุนของไทย
ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์มีข้อเสนอแนะในขณะนี้ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดหาวัคซีนและกระจายวัคซีนซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะทำให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวกลับมาได้ และทำให้การบริโภคในประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติ ขณะที่นโยบายการคลังที่แม้ว่าในปัจจุบันยังมีพื้นที่ให้สามารถดำเนินการในเรื่องการเยียวยาได้แต่ควรทำให้เข้าถึงกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงเป้าหมายในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะเมื่อระยะเวลาผ่านไปทรัพยากรทางการคลังจะมีจำกัดมากขึ้นเช่นกัน และในประเด็นของการค้าโลกที่ดีขึ้น ไทยควรเพิ่มโอกาสด้วยการปฏิรูปด้านอุปทานเพื่อให้ได้รับอานิสงส์จากการค้าโลกที่ฟื้นตัวมากขึ้น
ด้านการท่องเที่ยวนั้น แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในจำนวนที่ต่ำมากจนถึงสิ้นปี 64 โดยได้ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวในปี 64 เหลือ 6 แสนคน จากเดิมที่ 4-5 ล้านคน ขณะที่โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์นั้นจะประสบความสำเร็จได้ระดับไหนขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนของนักท่องเที่ยวประเทศต้นทางและการฉีดวัคซีนในประเทศด้วย
ส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงถึงกว่า 90% ของจีดีพีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่ลดลง ซึ่งเวิลด์แบงก์มีข้อเสนอแนะในขณะนี้ โดยภาครัฐจะช่วยได้โดยมาตรการเยียวยาและประคองรายได้ภาคครัวเรือน รวมถึงเพิ่มทักษะให้ผู้ที่ตกงานสามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ต่อไป และการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น
"การระบาดในระลอก 3 นี้ มาตรการเข้มงวดที่ออกมายังถือว่ามีผลกระทบน้อยกว่าครั้งแรก จะเห็นได้จากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ร้อยละ 1.3 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวของผู้บริโภคที่เข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 3 ประเมินจีดีพีไทยจะเติบโตเพียงร้อยละ 1.2 ได้"