ธปท.จ่อปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงจาก 1.8% ผลกระทบโควิด-19 กระทบหนัก คนว่างงานเพิ่ม หนี้ครัวเรือนพุ่ง วัคซีนฉีดไม่ได้ตามที่ ธปท.ประเมินไว้ ส่งผลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า เร่งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู โอนทรัพย์ชำระหนี้ พร้อมใช้นโยบายการเงินเพิ่มขึ้นหากจำเป็น
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพการเงิน เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งรุนแรงกว่าที่คาดจากการประมาณการครั้งล่าสุด และการออกมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปราะบางมากขึ้น ซึ่ง ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะจับตาต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด โดยในการประชุม กนง.ที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย และการเร่งฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น โดยได้มีการคุยกันในที่ประชุม กนง.ครั้งที่ผ่านมาว่า การระบาดของสายพันธุ์เดลตาทำให้การควบคุมการระบาดทำได้ช้าลง การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ช้าลง และกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากกว่าประมาณการล่าสุดที่คาดไว้ว่าปีนี้จะโต 1.8%
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อในปัจจุบัน ทำให้สมมติฐานที่ได้คาดการณ์ไว้เปลี่ยนไปในทางลบมากขึ้น จากเดิมที่คาดการณ์ว่าประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดระลอก 3 ได้ภายในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ปี 2564 และสามารถจัดหาและกระจายวัคซีนได้อย่างน้อย 100 ล้านโดสภายในปีเดียวกัน และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในต้นปี 2565
“การระบาดที่รุนแรงยืดเยื้อ และการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน ทำให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้าออกไป กระทบความเชื่อมั่นในประเทศ และอาจนำไปสู่วิกฤตสาธารณสุข ซึ่งจะกระทบการใช้จ่ายในประเทศอย่างรุนแรง ขณะที่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าช้าออกไป ทำให้มีโอกาสที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไปทางต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่จะปรับลดลงมากเท่าไรนั้นอยู่ระหว่างประเมิน เพราะด้านปัจจัยบวก ธปท.คาดว่ารัฐบาลจะเร่งใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทในปีนี้และปีหน้ามากขึ้นกว่าที่คาดไว้เดิม จากที่คาดว่าจะใช้จ่าย 300,000 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 500,000 ล้านเพื่อลดผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมา ผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐมีผลพยุงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไว้ 0.9%”
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ธปท.จะจับตาปัจจัยเสี่ยงในช่วงต่อไป ประกอบด้วย การระบาดอาจรุนแรงขึ้นและการกลายพันธุ์ของไวรัส ความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลัง ปัญหาฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจนาไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน ความเปราะบางของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นและดอกเบี้ยสูง ขณะที่รายได้ของผู้กู้ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตเพื่อการส่งออกในหลายหมวดอุตสาหกรรม
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า ในการดำเนินนโยบายการเงิน กนง.ยังเน้นนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง ให้น้ำหนักสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งทำให้แน่ใจว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไม่ได้เป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการช่วยเหลือหลักยังเป็นการเร่งลดภาระหนี้สินเดิม ด้วยการพักหนี้ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ และให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่อง โดย ณ วันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว 66,898 ล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้เอสเอ็มอี 21,929 ล้านบาท โดยลงไปที่รายเล็กในภาคบริการและการพาณิชย์เป็นหลัก
“ธปท.ได้มีการเตรียมความพร้อม และหากผลกระทบเศรษฐกิจมากขึ้นมีความจำเป็นก็สามารถที่จะใช้นโยบายการเงินที่เพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะ 6 เดือนจากนี้ที่เศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงเปราะบางมาก ส่วนนโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในวงกว้างนั้น ที่ผ่านมา ธปท.ได้หารือ รวบรวมข้อมูล และอยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้”
ขณะที่ในภาพรวมของเศรษฐกิจนโยบายการเงินและการคลังยังสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมองว่าหากรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อมาใช้ในการเยียวยา และกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้นไปสูงกว่า 60% ก็สามารถทำได้ เพราะเครดิตในการกู้เงิน และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของไทยในสายตาต่างประเทศยังดี และในต่างประเทศก็กู้เงินจำนวนมากเพื่อแก้ไขวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้