โฆษกสำนักนายกฯ เผย รัฐบาลเดินหน้า 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเพื่อลดภาระประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาโครงสร้างในระยะยาว
วันนี้ (11 ก.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เรื้อรังมายาวนาน และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน และยิ่งทำให้ปัญหานี้ท้าทายมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเบ็ดเสร็จ รัฐบาลจึงเดินหน้าใน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
(1) การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน
(2) การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
(3) การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน
ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินในครั้งนี้ จะมีผลช่วยลดภาระของประชาชน และทำให้ประชาชนมีเงินเหลือไว้ใช้สอยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอีกทางหนึ่ง โดยจะมีประชาชนกลุ่มต่างๆ หลายล้านคนได้รับประโยชน์จากมาตรการแก้ปัญหาในครั้งนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยเห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “การเป็นหนี้” ไม่มีทางที่จะยั่งยืน สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพในระยะยาว ประชาชนที่มีหนี้มักจะมีความกังวลต่างๆมากมาย ไม่มีสมาธิ ทำให้ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งบั่นทอนศักยภาพของประเทศโดยรวม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยถึงการผลักดันมาตรการแก้หนี้ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตรการระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมาตรการระยะสั้นที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน อาทิ การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน การแก้ไขการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม การทบทวนเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน การปรับลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็นและที่เรียกเก็บอย่างไม่สมควร โดยเร่งรัดให้คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้โดยเร็วที่สุด การกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) และสหกรณ์ออมทรัพย์ให้มีการบริหารความเสี่ยงการให้สินเชื่อที่เหมาะสม ลดการให้ลูกหนี้ซื้อประกันความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นและพิจารณายกเลิกการค้ำประกันด้วยบุคคล เน้นการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เร่งไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้กับผู้กู้ที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วกว่า 1.2 ล้านราย และกลุ่มที่ยังไม่ฟ้องอีก 1.1 ล้านราย และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพราะการที่ประชาชนรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้และต้องไปกู้นอกระบบเป็นหนึ่งในต้นเหตุของการเป็นหนี้ที่กติกาไม่เป็นธรรมและดอกเบี้ยสูงเกินเหตุ
สำหรับแนวทางในทางแก้ไขหนี้สินครู ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น ในปัจจุบันพบว่าครูและข้าราชการจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาเงินเดือนหลังหักจ่ายหนี้แล้วเหลือไม่พอดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมีภาระหนี้รวมในปัจจุบันสูงกว่าศักยภาพของเงินเดือน ทั้งนี้แนวทางแก้ไขประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ คือ
1. การยุบยอดหนี้เงินต้นให้ลดลง ด้วยการนำรายได้ของข้าราชการเองในอนาคตมาลดภาระหนี้เงินกู้
2. การให้เจ้าหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ข้าราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำเพราะได้ตัดเงินหน้าซองเงินเดือนทุกเดือน
3. การปรับลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็น เช่นการทำประกัน ฯลฯ
4. การปรับปรุงและยกระดับระบบการตัดเงินเดือนของข้าราชการ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต
“การแก้ไขปัญหาหนี้ในครั้งนี้แตกต่างจากการแก้ไขหนี้ครั้งก่อนๆ ซึ่งที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างหนี้และเน้นที่ลูกหนี้แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ครั้งนี้จะให้ความสำคัญเรื่องการกำกับดูแลให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรมด้วย และยังเป็นการแก้ไขหนี้สินทั้งระบบ ไม่ใช่เป็นการแก้เฉพาะหนี้เสีย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาความเหมาะสมในเรื่องของกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆไปในคราวเดียวกันด้วย เพื่อให้เอื้อและไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินในครั้งนี้” นายอนุชา กล่าวทิ้งทาย