นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกรุงไทยปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปีนี้เติบโต 0.5-1.3% จากเดิมที่ 0.8-1.6% หรือลดลงประมาณ 0.3% จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถควบคุมได้และเศรษฐกิจจะกลับมาในเดือนกันยายน ก็เลื่อนเป็นเดือนตุลาคม ทำให้กว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมารีสตาร์ทจะเป็นในไตรมาส 4 โดยประมาณการดังกล่าว ได้รวมมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มเติมบางส่วนแล้ว เช่น การคาดการณ์ว่าจะเพิ่มวงเงินจากมาตรการคนละครึ่งจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท เป็นต้น ซึ่งหากภาครัฐมีมาตรการเพิ่มเติม หรือในทางกลับกันหากสถานการณ์โดยรวมแย่ลงจะต้องทบทวนตัวเลขต่างๆ อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จีดีพีปีนี้ได้รับผลบวกจากภาคการส่งออกเข้ามาพยุงไว้ โดยคาดการณ์ส่งออกปีนี้เติบโตที่ระดับ 10% และปีหน้าที่ 7-8% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น และอาจจะมีการปรับเป้าหมายการส่งออกเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการฟื้นตัวขึ้นค่อนข้างแข็งแกร่ง ซึ่งถือว่าภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่เติบโตได้ดีของไทย เข้ามาพยุงภาคเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
"การประมาณการครั้งนี้อยู่ท่ามกลางปัจจัจยที่ยังไม่นิ่ง เช่นเดียวกับสถาบันอื่นๆ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทยเองยังประเมินว่าจะต้องมีการติดตามและทบทวนประมาณการต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งหากสถานการณ์การระบาดยังไม่จบในปีนี้ ตัวเลขด้านล่างที่ใกล้ๆ 0% อยู่ในขณะนี้ก็เป็นไปได้ที่จะลงไปต่ำกว่าที่คาดไว้ ขณะเดียวกัน หากภาครัฐมีมาตรการออกมาเพิ่มเติ่ม หรือท่องเที่ยวการใช้จ่ายกลับมาได้เร็วกว่าคาด มีผลในเชิงบวกกับตัวเลขด้านบนที่จะสูงกว่าที่เราประมาณการไว้ ซึ่งมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ 6 จังหวัดนั้นถือว่ามาถูกทาง แต่ยังเป็นจำนวนน้อยมีผลต่อจีดีพีไม่มากนัก คงต้องรอดูมาตรการที่จะออกเพิ่มเติม โดยเฉพาะการกระตุ้นใช้จ่ายที่น่าจะได้ผลดีในช่วงคุมการระบาดได้แล้ว"
สำหรับสถานะการคลังของรัฐบาลที่มีหนี้สาธารณะในระดับใกล้เคียงเพดาน 60% ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนั้นถือว่าไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่มีความจำเป็นที่ประเทศจะต้องใช้มาตรการทางการคลังเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญที่นักลงทุนจะให้ความสนใจคือการบริหารจัดการหนี้สาธารณะในระยะถัดไป ว่านอก 2-3 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับไหน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลต้องชี้แจงให้นักลงทุนที่ซื้อหรือสนใจจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลอยู่เข้าใจ
"วิกฤตครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งก่อนที่กระทบสถาบันการเงิน แต่เป็นวิกฤตของโรคเกี่ยวกับสุขภาพ คนที่ได้รับผลกระทบจะเป็นคนระดับล่างที่พึ่งพาดีมานด์ในประเทศ ดังนั้น มาตรการเยียวยาต่างๆ ควรที่จะเข้าไปให้ถึงจุดตรงนั้น และสิ่งที่สำคัญคือ การเร่งฉีดวัคซีน ดังจะเห็นได้จากต่างประเทศที่มีการฉีดวัคซีนได้มาก เมื่อโรคภัยผ่านพ้นวิกฤตไปเศรษฐกิจก็กลับมาได้เร็ว"