ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 อยู่ที่ 1.0% จากประมาณการเดิมที่ 1.8% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงกว่าที่เคยประเมิน ส่งผลกระทบให้ระบบสาธารณสุขของไทยเผชิญข้อจำกัด จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานมีมากขึ้น และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ทรุดตัวไปกว่าเดิม ในขณะที่มาตรการเยียวยาจากทางภาครัฐคาดว่าจะช่วยประคองการดำรงชีพที่จำเป็นของประชาชน แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม
ทั้งนี้ ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัสและจำนวนผู้ติดเชื้อที่กลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดกรอบประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ลงอยู่ที่ 2.5-6.5 แสนคน จากกรอบประมาณการเดิมที่ 2.5 แสน-1.2 ล้านคน แม้ว่าจะมีการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” อย่างไรก็ดี แผนการเปิดประเทศในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการเร่งฉีดวัคซีนเป็นหลัก ขณะที่ในต่างประเทศยังเผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการส่งออกไทยปี 2564 จะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 11.5% ทั้งนี้ ประมาณการส่งออกนี้ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงลบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือที่สูงขึ้น รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดในประเทศที่อาจจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนที่อาจต่ำกว่าเป้าหมาย โดยหากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศยังไม่คลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งมากขึ้น โดยใช้งบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ขณะที่ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ในการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยแล้ว และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวได้ 1.0%
**บาทอ่อนรับสถานการณ์โควิด-19 เสี่ยงสูง**
ด้านเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสัญญาณความเสี่ยงที่ชัดเจนมากขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกสามที่มีแนวโน้มยากควบคุม เพราะต้องรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ โดยเงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 15 เดือน ที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายในวันที่ 9 ก.ค.64 ความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อยังเพิ่มแรงกดดันต่อสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยให้ขาดดุลมากขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า ปัจจัยพื้นฐานของค่าเงินบาทกำลังอ่อนแอลง พร้อมกับความเสี่ยงต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินบาทมีความเป็นไปได้ที่จะอ่อนค่าต่อเนื่องไปทดสอบระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนสิ้นปี 64 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศยังไม่ลดระดับความเสี่ยงลงมา และเฟดสามารถเริ่มทยอยส่งสัญญาณเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงินได้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ปี 64 ตามที่ตลาดประเมินไว้ อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ไม่แรง หรือเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อีกระลอก ก็อาจส่งผลทำให้ตลาดต้องกลับมาประเมินการคาดการณ์ในเรื่องจังหวะการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ใหม่อีกครั้ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า และอาจช่วยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ โดยเฉพาะหากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลง