xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.งัดแผนจับคู่ธุรกิจหาแรงงานป้อนส่งออกแสนคนรับออเดอร์พุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.งัดมาตรการจับคู่ธุรกิจหาแรงงานป้อนส่งออกหลังออเดอร์พุ่งแต่ขาดแรงงานในระบบนับ 100,000 คน โดยจับคู่กับโรงงานที่ต้องการลดภาระระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือนหรือสิ้นปีนี้เพื่อรอวัน ศก.ฟื้นตัวกลับมา มั่นใจดันส่งออกไปต่อพร้อมลดการปลดแรงงานออก จับตาปัจจัยเสี่ยงส่งออก โควิดสายพันธุ์เดลตาหากเอาไม่อยู่โลกป่วนอีกรอบ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การส่งออกของไทยเดือน พ.ค. 64 มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 41.59% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปีตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากการที่หลายประเทศประสบความสำเร็จในการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งทำให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกไทยได้รับอานิสงส์คำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เข้ามาต่อเนื่องจนส่งผลกระทบให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในโรงงานนับ 100,000 คน ดังนั้น ส.อ.ท.จึงดำเนินมาตรการจับคู่ธุรกิจหาแรงงาน (Matching) กับผู้ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.ระหว่างโรงงานที่ต้องการกำลังคนเพิ่มกับโรงงานที่ต้องการลดภาระกำลังคนชั่วคราวในช่วงไม่เกิน 6 เดือนหรือภายในสิ้นปีนี้

“การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่องระลอก 2 และ 3 ล่าสุดทำให้แรงงานต่างด้าวบางส่วนกลับภูมิลำเนา ซึ่งในระลอก 2 หลายโรงงานได้รับผลกระทบ แต่พอระลอก 3 ต้องยอมรับว่าโรงงานที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกได้รับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจึงทำให้แรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่ได้กลับมา จึงทำให้มีปัญหาขาดแคลนทั้งระบบราว 100,000 คนโดยเฉพาะโรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้น ขณะที่โรงงานที่เน้นจำหน่ายในประเทศต้องยอมรับว่าแรงซื้อคนไทยยังไม่ดีขึ้นทำให้เขาพยายามประคองแรงงานไว้และอาจไม่ไหวเพื่อให้เขาไม่ต้องจ่ายเงินแต่ยังรักษาคนไว้รอเศรษฐกิจฟื้นระยะสั้นๆ ก็เลยจะนำมาจับคู่ให้แรงงานกันไปชั่วคราวก่อน วิธีนี้ก็จะทำให้การผลิตเพื่อส่งออกเราไม่สะดุดและช่วยไม่ให้โรงงานที่กำลังลำบากมีภาระจนอาจนำไปสู่การปลดคนได้” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับแนวทางที่พิจารณาจะเป็นทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทย โดยมีเงื่อนไขหลักสำคัญ คือ 1. จะต้องดูประเภทอุตสาหกรรมที่อยู่ในลักษณะหรือเข้าข่ายประเภทเดียวกันเพื่อให้แรงงานสามารถดำเนินงานได้ทันที 2. สถานที่โรงงานและที่พักแรงงานจะต้องอยู่ไม่ไกลกันเพื่อสะดวกต่อการทำงานของแรงงาน และ 3. เป็นสัญญาแลกเปลี่ยนระยะสั้น 3-6 เดือนเพื่อให้โรงงานเดิมเมื่อเศรษฐกิจดีกลับมายังคงมีแรงงานกลับไปทำงานเช่นเดิม ซึ่งมองว่าหากรัฐบาลดำเนินการฉีดวัคซีนได้ตามแผนเศรษฐกิจก็น่าจะกลับมาค่อยๆ ฟื้นตัวได้ในปลายปีนี้

นายเกรียงไกรกล่าวว่า หากมองสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าภาคการส่งออกของไทยยังคงมีทิศทางที่ดีตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินจำนวนมากทำให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจีนที่มีแรงซื้อเข้ามาจากอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้น ประกอบกับสต๊อกสินค้าเดิมเริ่มหมดลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามที่สำคัญ คือ โควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่อินเดีย และแพร่ระบาดไปแล้วใน 92 ประเทศจะส่งผลกระทบให้หลายประเทศที่กำลังฟื้นตัวต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่มากน้อยเพียงใด และโลกจะรับมือกับสายพันธุ์นี้ได้มากน้อยเพียงใดหากลุกลามก็จะกระทบต่อการส่งออกตามมา

นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตสินค้าส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ทั้งการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นแล้ว ยังพบว่าวัตถุดิบต่างๆ เช่น เหล็ก น้ำมัน ฯลฯ ยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะบั่นทอนขีดความสามารถทางการส่งออกของไทยได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น