รอคอยกันมานานสำหรับบริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรฃั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH ซึ่งทิ้งความเสียหายให้นักลงทุนเรือนหมื่นราย ในที่สุดผู้บริหารบริษัทที่ร่วมกันทำให้กิจการล่มสลาย กำลังจะต้องใช้กรรมที่ก่อไว้
เพราะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศร้องทุกข์กล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร RICH จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย น.ส.อังคกาญจน์ ตันติวิรุฬห์ นายสมเกียรติ วงศาโรจน์ และนายธีระ ผลเจริญสุข ซึ่งร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สินและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นเหตุให้บริษัทฯ เสียหาย
และลงข้อความเท็จในงบการเงิน โดยได้รับการสนับสนุนจากนิติบุคคลและบุคคลอีก 8 ราย ประกอบด้วย บริษัท เบเนฟิท บลู จำกัด นายสราวุฒิ พูลทวีธรรม บริษัท ชัยชนะ สตีล จำกัด นายชนินทร์ หอประเสริฐวงศ์ บริษัท เอ็มไพร์ สตีล เซ็นเตอร์ จำกัด น.ส.กัลยา เกตุสิงห์ บริษัท อาร์.เอส.ดี.สตีล จำกัด และ น.ส.ศุภิสรา หอประเสริฐวงศ์
พฤติกรรมความผิดเกิดขึ้นโดยการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อสินค้าหรือขายสินค้าแล้วแต่กรณี ซึ่งไม่ปรากฏว่า บริษัทที่จ่ายเงินล่วงหน้าไปได้ส่งมอบสินค้าให้ RICH โดยมูลค่าของธุรกรรมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 89% ของหนี้รวมในงบการเงินปี 2559
และการตรวจสอบพบพยานหลักฐานว่า บริษัทที่จ่ายเงินล่วงหน้าไปอยู่ภายในอำนาจและการควบคุมสั่งการของผู้บริหาร RICH ที่ถูกกล่าวโทษ และกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทที่ร่วมธุรกรรมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริหาร RICH
เมื่อเกิดการผิดนัดมอบสินค้าหรือไม่ชำระค่าสินค้า ผู้บริหาร RICH เอื้อประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายให้บริษัทที่ร่วมธุรกรรม ทั้งการติดตามหนี้ การฟ้องคดี และกระบวนการในชั้นศาลในมูลหนี้ที่เกิดขึ้น ทำให้ RICH ได้รับความเสียหายมูลค่ารวม 1,159.43 ล้านบาท และต้องบันทึกบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเกือบเต็มจำนวนในงบปี 2559
การกระทำของกรรมการและผู้บริหาร RICH พร้อมพวกรวม 11 คน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในหลายมาตรา ก.ล.ต. จึงร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และแจ้งการดำเนินคดีต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
RICH เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 หลังจากนำหุ้นเสนอขายประชาชนทั่วไปในราคาหุ้นละ 2.25 บาท จากราคาพาร์ 1 บาท และเป็นหุ้นกลุ่มเหล็กที่ร้อน เพราะมีการปล่อยข่าวกระตุ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทประกาศเพิ่มทุนขายผู้ถือหุ้นเดิมอยู่หลายครั้ง
แต่ผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จนส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์ และถูกตลาดหลักทรัพย์แขวนป้าย “SP” การซื้อขาย ขณะที่งบการเงินมีปัญหาจนต้องถูก ก.ล.ต.สั่งแก้ไขเป็นกรณีพิเศษ
วันที่ 19 สิงหาคม 2563 ตลาดหลักทรัพย์ตะเพิด RICH พ้นจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขเหตุแห่งการถูกเพิกถอนได้ตามเวลาที่กำหนด หลังจากหุ้นถูกขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 โดยราคาปิดครั้งสุดท้ายอยู่ที่ 7 สตางค์
ต้นเหตุความล่มสลายของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ถูกเปิดโปงหลังเวลาผ่านพ้นไปประมาณ 5 ปี โดยกรรมการและกลุ่มผู้บริหารตั้งแก๊งผ่องถ่ายทรัพย์สินออกจากบริษัทจนกิจการเหลือแต่ซาก และทิ้งความเสียหายให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 7,198 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วนประมาณ 88% ของทุนจดทะเบียน
ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทยอยขายหุ้นทิ้ง และไม่ใส่เงินเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น ปล่อยให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยถมเงินเข้ามาในบริษัท ก่อนจะถูกไซฟ่อนออกไป จนกิจการเหลือแต่ซาก
RICH เป็นอีกโศกนาฏกรรม โดยมีประชาชนผู้ลงทุนตกเป็นเหยื่อสังเวย และไม่มีสิทธิเรียกร้องความเสียหายใด แม้แต่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยึดนโยบายรับหุ้นในเชิงปริมาณมาตลอด เปิดช่องให้หุ้นเน่าๆ เข้ามาปล้นเงินนักลงทุนในตลาดหุ้น
การกล่าวโทษแก๊งปล้น RICH เป็นอีกคดีที่ได้รับความสนใจ แต่สุดท้ายผู้ร่วมขบวนการสูบเงินผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนเกือบ 1 หมื่นราย จะต้องชดใช้กรรมหรือไม่ ยังต้องเฝ้าจับตาต่อไป
เพราะคดีปั่นหุ้นที่ ก.ล.ต. ส่งให้ดีเอสไอมักจะเงียบหาย และหลายคดีถูกเป่าทิ้ง ปล่อยให้อาชญากรในตลาดหุ้นลอยนวลแล้วนับสิบๆ คดี