บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC กลายเป็นหุ้นที่พุ่งทะยานอย่างเย้ยฟ้าท้าดิน โดยตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2563 ถูกลากขึ้นมาตลอด จากราคาเพียง 10 สตางค์ กำลังจะทะลุ 3 บาทแล้ว ทั้งที่มีปัญหาด้านฐานะทางการเงิน และผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง
หุ้น AEC เปิดปฏิบัติการลากรอบใหม่ โดย 6 วันทำการดีดตัวขึ้นเกือบ 200% และซิลลิ่งเป็นว่าเล่น จากราคาปิดที่ 81 สตางค์ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ล่าสุด วันที่ 7 มิถุนายนปิดที่ 2.60 บาท รวม 6 วันทำการ ปรับตัวขึ้น 1.59 สตางค์ หรือปรับตัวขึ้น 196.29%
และภายใน 6 วันทำการ ราคาถูกลากขึ้นชนเพดานสูงสุด 30% ถึง 3 วันทำการ
ย้อนหลังไปเดือนสิงหาคม 2563 AEC นำหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 3,060.62 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 0.4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่หรือ 1 หุ้นเดิมต่อ 2.5 หุ้นใหม่ ขายในราคาหุ้นละ 10 สตางค์ พร้อมแจกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญหรือวอร์แรนต์รุ่นที่ 6 ในสัดส่วน 2 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอร์แรนต์ กำหนดชำระค่าหุ้นระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคม
ผลการเพิ่มทุนครั้งนั้นแม้จะขายหมด แต่ปรากฏว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนใหญ่สละสิทธิการจองซื้อ แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นที่เหลือจากการจำหน่าย ทำให้วอร์แรนต์จำนวน 1,530.31 หน่วย สัดส่วนประมาณ 95% จัดสรรในหมู่ผู้ถือหุ้นใหญ่ 15 รายที่ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 2,377 ราย ซึ่งถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 59.68% ของทุนจดทะเบียน ได้รับการจัดสรรวอร์แรนต์ไม่ถึง 5% ของจำนวนที่จัดสรรทั้งหมด เนื่องจากสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุน ขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นของรายย่อยปัจจุบันลดเหลือ 25.59% จากจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย 3,001 ราย
ในช่วงก่อนและหลังการเพิ่มทุนเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2563 หุ้น AEC เคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 10 สตางค์ โดยนักลงทุนไม่ให้ความสนใจซื้อขาย มูลค่าการซื้อขายในแต่ละวันจึงเบาบาง เนื่องจากมีปัญหาด้านฐานะทางการเงิน ส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน จนถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย “C”
แต่ก่อนที่วอร์แรนต์รุ่นที่ 6 หรือ AEC-W6 จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 มีการลากราคาหุ้นตัวแม่ หรือหุ้น AEC จนพุ่งทะยานอย่างร้อนแรง ราคาพุ่งขนเพดานติดต่อกัน 8 วันทำการ โดยแม้ตลาดหลักทรัพย์จะประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายอยู่หลายครั้ง แต่ไม่อาจดับความร้อนหุ้นตัวนี้ได้
การลาก AEC ครั้งล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายถี่ยิบ จนเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายขั้นที่ 3 กำหนดให้ซื้อหุ้นด้วยเงินสด ห้ามซื้อขายในลักษณะหักกลบภายในวันเดียวกัน และห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย
แต่ AEC “ดื้อยา” เสียแล้ว ราคายังพุ่งทะยาน โดยไม่หวั่นเกรงการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งที่นายประพล มิลินทจินดา อดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทปัจจุบัน เคยถูก ก.ล.ต.ลงโทษในความผิดร่วมกันปั่นหุ้น บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT ก็ตาม
น.ส.ออมสิน ศิริ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาขน) หรือ EA ถูกดึงตัวเข้ามาสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ AEC รั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท
แต่ราคาหุ้นที่พุ่งทะยานอย่างร้อนแรง จะมีผลต่อภาพลักษณ์และชะตากรรมของ น.ส.ออมสิน
จากราคาหุ้นเพียง 10 สตางค์ เมื่อประมาณ 9 เดือนก่อน และนักลงทุนเมินหน้าหนี วันนี้ AEC ถูกลากขึ้นมาเกือบชน 3 บาทแล้ว โดยคิดจากราคาปิดล่าสุด พุ่งขึ้นมาถึง 2,500% ทั้งที่ผลประกอบการขาดทุนติดต่อหลายปี มียอดขาดทุนสะสม 916.60 ล้านบาท และยังถูกแขวนป้าย “C” อยู่
ธุรกิจใหม่ที่ AEC กำลังขยายฐานรายได้คือ การลงทุนในบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นการผลิตแบบนวัตกรรม ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นให้หุ้นวิ่งมาราธอนมา 9 เดือน
ราคาหุ้นที่ถูกลากขึ้นมาสูงลิบเอื้ออำนวยการต่อแผนการระดมทุนรอบใหม่ โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ AEC มีมติเพิ่มทุนอีกครั้ง นำหุ้นใหม่จำนวน 2,856.58 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 35 สตางค์ กำหนดชำระค่าหุ้นระหว่างวันที่ 21-25 มิถุนายนนี้
จากหุ้นเพิ่มทุนราคาหุ้นละ 10 สตางค์ เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน ผู้ถือหุ้นรายย่อยพากันสละสิทธิ แต่การเพิ่มทุนครั้งใหม่เสนอขายในราคาหุ้นละ 35 สตางค์ ผู้ถือหุ้นรายย่อยคงใช้สิทธิกันหมด แถมนักลงทุนทั่วไปยังอยากโดดเข้าไปไล่ซื้อหุ้น AEC เพราะอยากได้ลูกหุ้นด้วย
เพราะฐานราคาหุ้นบนกระดานถูกลากขึ้นมาล่อใจแมลงเม่า
การลาก AEC อย่างเย้ยฟ้าท้าดินกำลังท้าทายอำนาจของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ ในการปกป้องแมลงเม่าไม่ให้โดดเข้ากองไฟ