xs
xsm
sm
md
lg

รายย่อย...เหยื่อสังเวยหุ้นขาลง / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเกิดความผันผวนรุนแรง นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกข่าวลือจนเกิดการเทขาย ฉุดให้ดัชนีหุ้นดิ่งลงกว่า 70 จุด เกือบจะหลุดจากระดับ 1,500 จุด ก่อนกระเตื้องขึ้นมาในช่วงท้าย

ตลาดหุ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกครอบงำด้วยความกังวลภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งจะนำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ทรุดลงแรง ส่งผลกระทบทางจิตวิทยา ฉุดให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงตาม รวมทั้งตลาดหุ้นไทยที่กำลังจะพุ่งทะลุ 1,600 จุด แต่ต้องถอยหลังลงมาตั้งหลักต่ำกว่า 1,550 จุด

แนวโน้มตลาดหุ้นกลับเข้าสู่ช่วงขาลง โดยมีความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นตัวกดดัน แต่ช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี มีข่าวลือไม่พึงประสงค์เข้ามาซ้ำเติม จนนักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกพากันเทขายหุ้น

ดัชนีหุ้นที่ลดลงอยู่ระหว่าง 10-20 จุด รูดลงทันที โดยลบลงไปถึง 70.83 จุด จนถอยมายืนที่ 1,501.02 จุด ก่อนจะมีแรงซื้อทยอยเข้ามา ดึงดัชนีหุ้นดีดตัวกลับแรง และปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,548.23 จุด

นักลงทุนกลุ่มที่ตื่นตระหนกกลายเป็นนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งขายหุ้นสุทธิ 2,458.07 ล้านบาท พอร์ตโบรกเกอร์ขายหุ้นออกสุทธิ 1,797.76 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันหรือกองทุนรวมขายหุ้นออกสุทธิ 286.28 ล้านบาท

นักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ซื้อกลุ่มเดียว โดยซื้อสุทธิ 4,542.11 ล้านบาท

หุ้นปีนี้ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และไม่เกิดการปรับฐานใหญ่ แม้จะมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยเข้าช้อนซื้อหุ้น จนพยุงตลาดไม่ให้เกิดการทรุดตัวลง

ผู้ที่มีเงินออม และไม่รู้จะลงทุนอะไรได้ย้ายเงินเข้ามาในตลาดหุ้น โดยหวังแสวงหาผลตอบแทนที่ดี

นักลงทุนหน้าใหม่ทยอยเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น และกลายเป็นกองหนุนสำคัญ ทำให้มีเงินก้อนใหม่เข้ามาประคับประคองตลาด หุ้นจึงไม่ลง ทั้งที่สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงถึงขั้นวิกฤต

ปี 2563 นักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ซื้อหุ้นมากที่สุด โดยมียอดซื้อหุ้นสุทธิ 216,192.19 ล้านบาท และปีนี้ยังซื้อต่อ มียอดซื้อสุทธิสะสมจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม รวมทั้งสิ้น 96,850.88 ล้านบาท ซึ่งแรงซื้อของนักลงทุนรายย่อยมีส่วนผลักดันให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นจนทะลุ 1,600 จุดหลายครั้ง

แต่นักลงทุนรายย่อยใจจะสู้ต่อไปไหม และมีเงินช้อนซื้อหุ้นได้อีกยาวนานขนาดไหน เพราะช่วง 2 ปีนี้ นำเงินไปจมอยู่ในตลาดหุ้นจำนวนมหาศาล

เฉพาะเงินที่จมไปในการช้อนซื้อหุ้นกว่า 3.12 แสนล้านบาทแล้ว ยังไม่นับหุ้นใหม่ที่แห่เข้ามาสูบเงินจากนักลงทุนในตลาดหุ้นอีกหลายแสนล้านบาท ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และมีอีกหลายบริษัทที่รอคิวเข้ามาดูดซับสภาพคล่องในตลาดหุ้นปีนี้

แต่นักลงทุนจะปั๊มเงินจากไหนมาไล่ช้อนหุ้นอีก

ถ้าต่างชาติยังเทขายหุ้นไม่เลิก ถ้าตลาดหุ้นเกิดความผันผวน หรือทรุดลง แค่หลุดระดับ 1,500 จุด และเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ สัก 3 เดือน นักลงทุนรายย่อยที่แบกหุ้นไว้เต็มพอร์ตอาจทนไม่ไหวจนต้องระบายหุ้นออกมา ซึ่งจะซ้ำเติมให้สถานการณ์ตลาดหุ้นเลวร้ายลง

ภาวะเงินเฟ้อสหรัฐฯ กลายเป็นปัจจัยใหม่ที่ซ้ำเติมตลาดหุ้น นอกเหนือจากวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 และทำให้แนวโน้มตลาดหุ้นระยะสั้นเสี่ยงที่จะเกิดความผันผวนรุนแรง

นักลงทุนรายย่อยน่าจะใกล้หมดกระสุนแล้ว ถ้าตลาดหุ้นเกิดวิกฤต และไม่มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาเป็นกองหนุนช่วยซื้อหุ้นพยุงตลาด

วิกฤตหุ้นรอบใหม่อาจรุนแรงมาก นักลงทุนรายย่อยจึงต้องเฝ้าระวัง เพราะเก็บสะสมหุ้นไว้แทบจะเต็มพอร์ตทั้งนั้น

ถ้าเกิดการปรับฐานใหญ่จะเป็นกลุ่มเจ็บหนักที่สุด








กำลังโหลดความคิดเห็น