บล.เอเซียพลัส ระบุหุ้นกลุ่มเหล็กกอดคอร่วง หลังก่อนหน้าพุ่งแรงแค่ระยะสั้น เหตุกังวลข่าวนายกฯ เล็งคุมราคาเหล็ก พร้อมประเมินดีมานด์เหล็กทั่วโลกยังสดใส หนุนเป็นอัปไซด์เทรนด์อย่างน้อยอีก 3 เดือน เชียร์ TMT - MCS เด่นสุดในกลุ่ม ให้ราคาเป้าหมายที่ 14.8 บาท และ 23.9 บาท ตามลำดับ ด้านกลุ่มอุตฯ เหล็กเตรียมยื่นหนังสือถึงภาครัฐ แจงราคาเหล็กแพงเป็นไปตามกลไกตลาดโลก
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยว่า ราคาหุ้นในกลุ่มเหล็กเมื่อวันอังคารที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา มีแรงเทขายทำกำไร และปิดตลาดมีราคาลดลงเป็นส่วนใหญ่ แม้ก่อนหน้าราคาจะปรับขึ้นไปแรงนั้นเป็นผลจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแลปัญหาราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการที่มีเหล็กเป็นวัตถุดิบหลัก
โดยหุ้น TMT -0.8% TGPRO -7.5% CSP -5.1% MILL -13.8% TSTH +1.5% INOX -4.44%
ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อปี 2551 ราคาเหล็กเส้นของไทยเคยปรับตัวขึ้นไปสูงถึง 38 บาท/กก. ซึ่งสูงกว่าราคาปัจจุบันที่อยู่บริเวณ 22-23 บาท/กก.มาก แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ จึงต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบ (Bilet Slap, Scrap) จากต่างประเทศทั้งหมดมาแปรสภาพเป็นเหล็กเส้นและเหล็กแผ่น
มองราคาเหล็กยังเป็นขาขึ้นไปอีก 3 เดือน
อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นเหล็กที่ปรับลงมา คำแนะนำ ASPS ยังเชื่อมั่นว่าประเด็นนี้น่าจะกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานจำกัด ยังให้น้ำหนักไปที่ทิศทางราคาเหล็กโลกที่ยังเป็นช่วงขาขึ้น โดยปัจจัยหนุนราคาทางพื้นฐานของอุตสาหกรรมยังมีแรงหนุนจากฝั่ง Supply คือ สินแร่เหล็กต้นน้ำในออสเตรเลียที่ขาดแคลน บวกกับจีนต้องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมเหล็กลง 30% ให้สำเร็จภายในปี 68 (เร็วขึ้นจากแผนเดิม 5 ปี) ส่งผลให้โรงเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานต้องปิดตัวลง
ขณะที่ฝั่ง Demand เหล็กทั่วโลกฟื้นตัวกลับมาระดับสูง ขับเคลื่อนจากภาคการผลิตและภาคก่อสร้าง แต่ Supply เหล็กในจีน (Steel Conรumption คิดเป็น 50% ของโลก) ไม่เพียงพอต่อความต้องการเพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ฝ่ายวิจัยคาดว่าราคาเหล็กยังมีทิศทางที่เป็น Upside Trend ได้ต่อเนื่องไปอีก 3 เดือนหน้าเป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้ ผูผลิตเหล็กกลางน้ำในไทยปัจจุบันได้เร่งกำลังการผลิตขึ้นเป็น 50-60% จากเดิม 30% ในช่วงก่อนหน้า เพราะต้องการส่งออกสินค้าไปขายในตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่ปัจจุบันราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนอยู่ที่ราว 1,100 USD/ตัน เทียบกับราคาขายในประเทศที่ 900 USD/ตัน แม้จะปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี แต่ยังต่ำกว่าตลาดต่างประเทศถึงตันละ 200-300 USD
ฝ่ายวิจัย ASPA ได้แนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มเหล็ก แบ่งเป็น
TMT (ราคาเป้าหมาย 14.8 บาท) Fair value ล่าสุดกำหนด ASP ประเมินโดยใช้ PER ใช้ 12 เท่า ราคาหุ้นที่ปรับฐานลงมากลับมาเปิด Upside ราว 20% เรายังคงคำแนะนำซื้อ เพราะประมาณการกำไรทั้งปี 64 คาด 1,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.5%yoy โดย ASPS คาดมีโอกาสเป็นไปได้ โดยปัจจัยขับเคลื่อนจากราคาเหล็กโลกฟื้นตัวสูง หนุนราคาเหล็กเฉลี่ย TMT งวด Q1/64 พุ่งแรง 21.8%QoQ มาที่ 24.8 บาท/กก คือ ถ้าทำคาดหวังปันผลได้ตามคาดการณ์
MCS (ราคาเป้าหมาย 21.9 บาท) ลักษณะธุรกิจคล้ายบริษัทรับเหมาก่อสร้างมากกว่าเหล็ก โดยเหล็กเป็นต้นทุนหลักในการผลิต MCS ได้ป้องกันความเสี่ยงโดยซื้อเหล็กล่วงหน้าเมื่อเซ็นสัญญารับงาน โดยอัตรากำไรของ MCS จะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของงานที่เข้าไปรับมากกว่าการเปลี่ยนแปลงราคาเหล็ก ซึ่งปีนี้จะส่งมอบงาน margin สูงที่เป็นงานที่ต้องใช้บริษัทที่ได้รับใบรับรองระดับ S grade (ใบรับรองระดับสูงสุดของญี่ปุ่น) ทั้งโครงการ Toranomon และ Azabudai ซึ่งทำให้ราคาขายเฉลี่ยในงวด Q1/64 ของ MCS สูงขึ้นมาที่ 3 แสนเยน/ตัน จากราคาเฉลี่ยปี 63 ที่ 2.4 แสนเยน/ตัน โดยราคาหุ้น MCS ปัจจุบันมีค่า PER ต่ำเพียง 7 เท่า ยังคงคำแนะนำซื้อ
กลุ่มอุตฯ เหล็กแจงราคาเหล็กพุ่งเป็นไปตามกลไกตลาด
นายทวีศักดิ์ ตั้งเด่นชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ภาครัฐจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาราคาเหล็กในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการนั้น ว่า จากการหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการเหล็กในประเทศไทยแล้วนั้น กลุ่มเตรียมยื่นหนังสือให้ทางภาครัฐเพื่อรับทราบถึงประเด็นที่ราคาเหล็กในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาเหล็กในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนสินแร่เหล็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงมีผลกระทบทำให้ราคาเหล็กในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามเช่นเดียวกัน
ส่วนกรณีที่ภาครัฐอาจจะมีการนำเข้าเหล็กมาในประเทศเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ราคาเหล็กในประเทศสูงจนเกินไปนั้นมองว่าปริมาณการผลิต โดยเฉพาะเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศไทยนั้นอยู่ที่ 11 ล้านตันต่อปี แต่ความต้องการใช้ในประเทศมีเพียงแค่ 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นแล้วว่าความต้องการเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศยังเพียงพอต่อปริมาณการผลิตจึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้า
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาเหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ จนทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นนั้น เป็นไปตามภาวะกลไกของราคาเหล็กในตลาดโลก ซึ่งผู้ประกอบการเหล็กในไทยเองไม่สามารถควบคุมราคาเองได้
"สาเหตุส่วนหนึ่งที่ราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะความต้องการใช้เหล็กทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะความต้องการใช้เหล็กในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากในอดีตที่ผ่านมา ประเทศจีนเป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ประเทศจีนมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นจึงทำให้ต้องมีการนำเข้าเหล็กในประเทศเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น" นายประวิทย์ กล่าว