กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กไทยเตรียมร่อนหนังสือถึงภาครัฐ วอนเข้าใจสาเหตุราคาเหล็กในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เพราะดีมานด์-ต้นทุนสินแร่เหล็กเพิ่ม ลั่นไทยไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าเหล็กเพื่อมาแก้ปัญหาราคา เหตุปัจจุบันกำลังผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศมี 11 ล้านตันต่อปี แต่มีความต้องการใช้แค่ 4 ล้านตันต่อปี ขณะที่แนวโน้มราคาเหล็กโลกคาดจะลดความร้อนแรงลงในไตรมาส 3
นายทวีศักดิ์ ตั้งเด่นชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทยเปิดเผยว่า จากกรณีที่ภาครัฐจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาราคาเหล็กในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการนั้น กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กในประเทศไทยได้มีการหารือกันแล้ว และเตรียมที่จะยื่นหนังสือให้ภาครัฐเพื่อรับทราบถึงประเด็นที่ราคาเหล็กในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาเหล็กในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนสินแร่เหล็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงมีผลกระทบทำให้ราคาเหล็กในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามในลักษณะเช่นเดียวกัน
ส่วนกรณีที่ภาครัฐอาจจะมีการนำเข้าเหล็กมาในประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ราคาเหล็กในประเทศสูงจนเกินไปนั้น นายทวีศักดิ์มองว่าปริมาณการผลิต โดยเฉพาะเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศไทยนั้นอยู่ที่ 11 ล้านตันต่อปี แต่ความต้องการใช้ในประเทศมีเพียงแค่ 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นแล้วว่าความต้องการเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศยังเพียงพอต่อปริมาณการผลิตจึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้า
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้ากล่าวว่า สาเหตุที่ราคาเหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ จนทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นนั้นเป็นไปตามภาวะกลไกของราคาเหล็กในตลาดโลก ซึ่งผู้ประกอบการเหล็กในไทยไม่สามารถควบคุมราคาเองได้ สำหรับราคาเหล็กที่สูงมาจากความต้องการเหล็กในจีนเพิ่มขึ้น โดยอดีตที่ผ่านมาประเทศจีนเป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่แต่ขณะนี้กลับต้องมีการนำเข้าเหล็กในประเทศเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น
“สาเหตุที่ราคาเหล็กเพิ่มขึ้นเพราะมีความต้องการใช้ และเป็นกลไกของตลาดโลก ซึ่งผู้ประกอบการเหล็กในประเทศไม่ได้มีการปั่นราคาหรือกักตุนวัตถุดิบเหล็กแต่อย่างใด” นายประวิทย์กล่าว
นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ราคาเหล็กที่ปรับขึ้นสะท้อนต้นทุนราคาวัตถุดิบทั้งเศษเหล็ก และเหล็กต้นน้ำตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งไทยต้องพึ่งพิงนำเข้าจากต่างประเทศส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศได้สะท้อนต้นทุนตามกลไกตลาดแต่ผู้ผลิตเองได้สร้างความสมดุลของราคาไม่ให้กระทบต่อลูกค้า ซึ่งจะเห็นว่าหากเทียบราคา ณ เดือนที่ตัดสินใจซื้อ (Order Base) ราคาเหล็กในประเทศเฉลี่ยก็ยังถูกกว่านำเข้าจากจีนและเวียดนามที่รวมภาษีฯ
“ยืนยันว่าเราไม่ได้ขายแพงและไม่ได้กักตุน โดยจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ผู้ผลิตในประเทศได้มีการเพิ่มกำลังผลิตในไตรมาสแรกปีนี้อีก 2.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่การเพิ่มผลิตเราเองก็มีวงเงินจำกัดในการซื้อวัตถุดิบจึงไม่สามารถจะผลิตสต๊อกได้มาก ขณะที่การนำเข้าเหล็กไตรมาสแรกปีนี้ก็เพิ่มถึง 12% หรือ 3.02 ล้านตันจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนว่าความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นจากภาคก่อสร้างรัฐที่ฟื้นตัวและอุตสาหกรรมยานยนต์” นายนาวากล่าว
ทั้งนี้ จากการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแนวทางแก้ไขให้ผู้ที่ต้องการเหล็กในประเทศควรหารือกับผู้ผลิตในการวางแผนล่วงหน้า เพราะการผลิตเหล็กไม่ใช่สั่งวันนี้แล้วจะได้ทันทีเพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ นั่นหมายถึงต้องมีเงินสั่งซื้อ ซึ่งกรณีกลุ่มรถยนต์เองก็ไม่ได้มีปัญหาเพราะเป็นลูกค้าและวางแผนล่วงหน้า ขณะที่ผู้นำเข้าที่เคยนำเข้าจากจีนและเวียดนามแล้วจะหันมาซื้อในประเทศเพิ่มจึงควรวางแผนระยะยาวร่วมกัน โดยคาดว่าราคาเหล็กภาพรวมในตลาดโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้