xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันเหล็กฯ ส่งสัญญาณราคาเหล็กตลาดโลกพุ่งขึ้นต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันเหล็กฯ เผยแนวโน้มสถานการณ์ราคาเหล็กโลกยังปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง 1 ปีขยับแล้วกว่าเท่าตัว โดยแร่เหล็กเพิ่มขึ้น 119% เศษเหล็กขึ้น 110% ส่งผลให้ราคาสินค้าเหล็กในไทยยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เหล็กในตลาดโลกปรับตัวขึ้นกว่าเท่าตัว โดยข้อมูลจาก Metal Bulletin พบว่า แร่เหล็ก และเศษเหล็ก ในเดือนเมษายน 2564 มีราคาอยู่ที่ 162 และ 432 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 83 และ 205 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น 119% และ 110% ตามลำดับ

ขณะที่ราคาสินค้าเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น และวัตถุดิบอย่างเหล็กแท่งเล็ก หรือบิลเลต มีราคาปรับขึ้นเช่นกัน โดยในเดือนเมษายน 2564 มีราคาอยู่ที่ 645 และ 810 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 378 และ 441 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น 71% และ 84% ตามลำดับ

ส่วนกลุ่มสินค้าเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน และวัตถุดิบอย่างเหล็กแท่งแบน หรือสแลป ในตลาดโลกปรับขึ้นในอัตราที่สูงกว่า โดยราคาในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 795 และ 925 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 360 และ 408 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น 121% และ 127% ตามลำดับ

ทั้งนี้ การปรับราคากลุ่มสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งมีอิทธิพลส่วนหนึ่งจากระดับอุปสงค์ที่ฟื้นตัวเทียบกับระดับอุปทานที่อาจจะยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เต็มความสามารถในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินโดยหน่วยงาน Office of the chief economist ของ Department of Industry, Science, Energy and Resources ของประเทศออสเตรเลียว่าอาจจะมีปัจจัยที่ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ราคาสินแร่เหล็กในช่วงหลายเดือนข้างหน้า คือ ปริมาณการผลิตสินแร่เหล็กของบราซิลที่คาดว่าจะฟื้นตัว โดย Vale ผู้ผลิตแร่รายใหญ่ของบราซิลจะมีระดับการผลิตเพิ่มขึ้นกลับมาสู่ระดับก่อนที่จะเกิดปัญหาเขื่อน Brumadinho จะพังในเดือนมกราคม 2562 ซึ่งทำให้ปริมาณการผลิตสินแร่เหล็กของ Vale หายไปเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจีนอาจยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางรายการอาจจะส่งผลต่อราคาแร่เหล็กให้ปรับตัวลดลง โดยคาดว่าการปรับลดลงของราคาสินแร่ทยอยปรับลดลงอาจอยู่ที่ราว 70-80 ดอลลาร์สหรัฐในระยะกลาง แต่จะไม่กลับไปอยู่ในระดับต่ำเหมือนในช่วงปี 59-60 ที่ระดับราว 50-60 ดอลลาร์สหรัฐ

“การผลิตสินค้าเหล็กประเภทต่างๆ ของไทยปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเหล็กประเภทต่างๆ โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ที่มีการผลิตสินค้าเหล็กปรับเพิ่มขึ้น 9.1% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2563 ตลอดจนการนำเข้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 42.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2563 ดังนั้น คาดว่าปัญหาการขาดแคลนสินค้าเหล็กในประเทศจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย” นายวิโรจน์กล่าว

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา และปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากช่วงตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีอิทธิพลมาจากข่าวนโยบายของรัฐบาลจีนในการตัดลดปริมาณการผลิตในบางมณฑลที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการชะลอการรับคำสั่งซื้อสำหรับการส่งออกเหล็กผู้ผลิตเหล็กในประเทศจีน เนื่องจากปรากฏข่าวตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2564 ว่ารัฐบาลจีนมีแผนการปรับลดอัตราการชดเชยภาษีสำหรับการส่งออก (Export VAT rebate) ในสินค้าเหล็ก แต่ไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของมาตรการและกรอบเวลาของนโยบาย ส่งผลต่อการกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ซื้อต้องจ่ายค่าสินค้าเพิ่ม หากรัฐบาลประกาศปรับลด Export VAT rebate ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะราคาสินค้าเหล็กของจีน และส่งผลต่อราคาสินค้าเหล็กทั่วโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานการณ์ราคาสินค้าเหล็กทั่วโลกจะปรับเพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศทั่วโลกเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย และเวียดนามก็ยังคงพยายามป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรมอย่างการทุ่มตลาด ซึ่งมีการประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหลายรายการในช่วงปลายปี 2563 อีกทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศดังเช่นที่สหรัฐอเมริกาพยายามส่งเสริมนโยบาย Buy America เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น