วารสารการเงินธนาคาร เผยผลจัดอันดับธนาคารแห่งปี Bank of the Year 2021 ธนาคารกสิกรไทย ครองแชมป์ธนาคารแห่งปี 2564 โดยในปี 2563 ธนาคารกสิกรไทย มีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 29,487.12 ล้านบาท มีกำไรต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 12.42 บาท และมีรายได้รวม 176,921.41 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1
วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2564 ประกาศผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2564 หรือ Bank of the Year 2021 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง ในรอบปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2563 มาพิจารณาจัดอันดับ ปรากฏว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ครองแชมป์ธนาคารแห่งปี 2564 โดยในปี 2563 ธนาคารกสิกรไทย มีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 29,487.12 ล้านบาท มีกำไรต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 12.42 บาท และมีรายได้รวม 176,921.41 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกัน
สำหรับปี 2564 ธนาคารได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ยังคงดำเนินธุรกิจบนหลักการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity) และมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้าในทุกๆ กลุ่ม โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจที่สำคัญ 3 ด้าน
1.พัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตทางธุรกิจและตอบโจทย์ลูกค้า โดยรักษาการเป็นผู้นำในการให้บริการชำระเงินทางดิจิทัลเพื่อเข้าถึง และให้บริการลูกค้าในสถานที่และเวลาที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงได้ข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมแก่ลูกค้าต่อไป ควบคู่ไปกับการยกระดับการปล่อยสินเชื่อทั้งด้านธุรกิจและบุคคล เพื่อสร้างรายได้ด้วยการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเจาะกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรายย่อย การนำข้อมูลธุรกรรมทางธุรกิจที่ได้จากคู่ค้าใน Value Chain มาวิเคราะห์เพื่อหาลูกค้าใหม่ รวมถึงการบริหารต้นทุนด้านความเสี่ยงและการปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังขยายการให้บริการลงทุนและประกันไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อย และกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงการลงทุนและประกัน ด้วยผลิตภัณฑ์ของธนาคาร บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน รวมถึงการให้บริการจากพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร ด้วยแพลตฟอร์มการลงทุนที่ช่วยให้ลูกค้าสะดวกและมีข้อมูลในการตัดสินใจได้ พร้อมทั้งยกระดับประสบการณ์บริการและการขาย พัฒนาบริการของช่องทางต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าทำรายการได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงมีรูปแบบการขายและบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อสร้างคุณค่าที่มากขึ้นจากการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ทั้งทรัพยากรบุคคล ข้อมูล การเงิน และเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ก็จะรุกตลาดภูมิภาค AEC เพื่อให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและทำธุรกิจใน AEC ที่กำลังเติบโตทั้งทางด้านประชากรและเศรษฐกิจ
2.สร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเชื่อถือได้ ผ่านการสื่อสารและบริหารประสบการณ์ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดได้รับจากการทำธุรกิจกับธนาคาร และ 3.ยกระดับความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวอย่างต่อเนื่องตามโครงการ Transformation ทั้ง 8 โครงการ ได้แก่ 1) การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการสร้าง Ecosystem ควบคู่กับการพัฒนาช่องทางการขายและให้บริการของธนาคาร เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า 2) การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเสนอสินเชื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย (Intelligent Lending) 3) บริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ และแนวทางการป้องกันในเชิงรุก 4) การพัฒนาบริการรับชำระเงินระหว่างประเทศ 5) การพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Data Analytics) 6) ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ 7) การพัฒนาศักยภาพของพนักงานเพื่อมุ่งสู่การเป็น Agile Organization และ 8) พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้ธนาคารเป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาค
สำหรับเป้าหมายทางการเงินของธนาคารในปี 2564 กำหนดไว้ดังนี้
1.การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) ตั้งเป้าที่ 4-6% โดยมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อลูกค้าบุคคลที่ 11-13% จากการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ตั้งเป้าเติบโต 2-4% และสินเชื่อบรรษัทธุรกิจ ตั้งเป้าเติบโต 1-3% 2.NIM ตั้งเป้าที่ 3.1-3.3% สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย 3.รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (Net Fee Income Growth) ตั้งเป้าเติบโตเล็กน้อยที่ Low Single Digit จากธุรกิจบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมรับจากการให้สินเชื่อ และธุรกิจจัดการกองทุน 4.NPL Ratio (Gross) ตั้งเป้าที่ 4.0-4.5% 5.Credit Cost ตั้งเป้าที่ Up to 160 bps ภายใต้สมมติฐานเกี่ยวกับโควิด-19 รวมทั้งการที่ธนาคารยังคงใช้หลักความระมัดระวังและนโยบายทางการเงินที่รอบคอบในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และ 6.Cost to Income Ratio ตั้งเป้าที่ Mid-40s โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการต้นทุนและการปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity) รวมถึงการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต