xs
xsm
sm
md
lg

ทริสเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ KTC เป็น “AA-” แนวโน้ม “Stable”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(KTC) เป็นระดับ “AA-” จากระดับ “A+” ในขณะเดียวกัน ยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปี ของบริษัทที่ระดับ “AA-” ด้วยเช่นกัน โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รวมการปรับเพิ่มสถานะเครดิตของบริษัทอันเนื่องมาจากการที่บริษัทเป็นบริษัทย่อยซึ่งมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวเป็นผลมาจากมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าบูรณาการระหว่างบริษัทและกลุ่มธนาคารกรุงไทยมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งเห็นได้จากบทบาทที่ชัดเจนของบริษัทในการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กลุ่มธนาคารกรุงไทย หลังจากล่าสุด บริษัทจะเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 75.05% ในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความสำคัญต่อกลุ่มธนาคารกรุงไทยมากยิ่งขึ้นในอนาคต

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัท ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงทางด้านเครดิตที่มีความระมัดระวัง ซึ่งช่วยสนับสนุนคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งถูกลดทอนลงจากแรงกดดันที่มีต่อความสามารถในการทำกำไรอันเนื่องมาจากการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรง และภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

ด้านของความร่วมมือทางธุรกิจนั้น บริษัทได้วางกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของกลุ่มธนาคารกรุงไทย บริษัทใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศในการเสนอผลิตภัณฑ์และให้บริการลูกค้าร่วมกัน ทั้งนี้ ประมาณ 40% ของบัตรเครดิตที่ออกใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นการแนะนำมาจากธนาคารกรุงไทย บริษัทและธนาคารกรุงไทยยังมีความร่วมมือด้านการตลาดระหว่างกันและใช้แบรนด์ร่วมกันอีกด้วย ในขณะที่ระบบบริหารความเสี่ยงของบริษัทก็ได้รับการบูรณาการให้รวมอยู่ในระบบบริหารความเสี่ยงของธนาคารกรุงไทยด้วยเช่นกัน สำหรับในด้านความร่วมมือทางการเงินนั้น บริษัทได้รับการสนับสนุนทางด้านสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงไทยในรูปของวงเงินที่ไม่สามารถยกเลิกได้

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัทอันได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเอาไว้ได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากจุดแข็งในด้านการตลาดของบริษัทและแบรนด์ที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 13% ของสินเชื่อบัตรเครดิตและ 7% ของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกันเอาไว้ได้ในปี 2563 ถึงแม้ว่าผลกระทบจากการปิดเมือง (Lockdown) อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จะส่งผลต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2563 แต่การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของบริษัทลดลงเพียง 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งน้อยกว่าอุตสาหกรรมที่หดตัวลงถึง 13% ทั้งนี้ เป็นผลเนื่องมาจากการรณรงค์ส่งเสริมการตลาดที่มีประสิทธิภาพของบริษัท

ด้านเงินให้สินเชื่อคงค้างของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ระดับ 4% จากปีก่อนหน้า โดยสินเชื่อบัตรเครดิตเติบโต 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโต 1% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีสินเชื่อคงค้างซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อบัตรเครดิตคิดเป็นสัดส่วน 67% ของสินเชื่อรวมของบริษัท ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลคิดเป็น 33%

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า เงินให้สินเชื่อรวมของบริษัทจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5-8% ต่อปีในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งจะมีปัจจัยสนับสนุนจากความพยายามทางการตลาดของบริษัทและการออกบัตรเครดิตแก่ลูกค้ารายใหม่ๆ บริษัทมีเป้าหมายในการออกบัตรเครดิตใหม่จำนวน 200,000 บัตรในปี 2564 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะกลับมาดีขึ้นโดยจะขยายตัวที่ระดับ 5% ต่อปีในช่วงปี 2564-2566 อันเป็นผลมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัว สำหรับการขยายฐานสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น บริษัทจะให้ความสำคัญกับฐานลูกค้าเดิมที่ยังใช้วงเงินเบิกถอนไม่เต็มจำนวนและมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่อีกจำนวน 130,000 บัญชีในปี 2564 และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้เปิดตัวบริการใหม่คือสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกัน อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจใหม่ดังกล่าวนี้จะเป็นไปอย่างระมัดระวังโดยให้บริการผ่านสาขาในทำเลที่เป็นกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทยซึ่งเน้นลูกค้าในกลุ่มจำกัดเท่านั้น

รวมถึงคาดว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไรเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยใช้วิธีบริหารจัดการผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยแล้วนั้นถือว่าอยู่ในระดับปานกลางที่ 4.5% ในปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 5.3 พันล้านบาทในปี 2563 ลดลง 3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยมีสาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นและรายได้หนี้สูญรับคืนที่ลดลงซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน (TFRS9) และภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมนั้นก็ลดลงด้วยโดยเป็นไปตามปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นก็ได้รับการชดเชยบางส่วนจากรายได้ที่แข็งแกร่งจากพอร์ตสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่มั่นคงที่ระดับประมาณ 13.4% แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยรับจะลดลงก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงมาอยู่ที่ระดับ 32.9% ในปี 2563 จาก 34.1% ในปี 2562 เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาดที่ลดลงในปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าการบริหารจัดการผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของบริษัทจะช่วยชดเชยรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงและช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรได้

คุณภาพสินเชื่อโดยรวมน่าจะยังคงดีอยู่แม้ว่าจะมีแนวโน้มอ่อนแอลง ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่า สถานะความเสี่ยงของบริษัทน่าจะยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากนโยบายในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของบริษัทที่มีความระมัดระวัง อีกทั้งยังมีการยกระดับระบบการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพียงพอ ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 1.8% ณ สิ้นปี 2563 จากระดับ 1.1% ณ สิ้นปี 2562 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีการปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ถึงแม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มที่จะยังคงอ่อนแอลงอีกในปีนี้ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่ทริสเรทติ้งคาดว่าจะอยู่ในวิสัยที่บริษัทสามารถบริหารจัดการได้ บริษัทมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 460% และมีอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 7.5% ในปี 2563 ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายสำรองของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 6.6%-7.4% ของสินเชื่อโดยเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2564-2566 เนื่องมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นจากเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อใหม่ที่เข้มงวดขึ้น โดยจะเห็นได้จากอัตราการอนุมัติบัตรเครดิตที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 30% ในปลายปี 2563 จากระดับประมาณ 40% ในช่วงต้นปี 2563 และลดลงมาอยู่ที่ระดับ 20% จากระดับประมาณ 30% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งนี้ จากประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทน่าจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 500% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ถดถอยอันเป็นผลจากการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลงอย่างมากถึง 30% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 และฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2563 เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและมีการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ สำหรับตลอดปี 2563 นั้น ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน การปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคตามที่ ธปท. บังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2563 ยังส่งผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการในปี 2563 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของระบบค่อนข้างทรงตัวจากมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือลูกหนี้ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของอุตสาหกรรมสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.91% ณ สิ้นปี 2563 จาก 1.93% ณ สิ้นปี 2562 สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.45% ณ สิ้นปี 2563 จาก 3.51% ณ สิ้นปี 2562 การคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและการเติบโตของสินเชื่อในปี 2564 ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ขยายระยะเวลาออกไปนั้นน่าจะช่วยประคับประคองคุณภาพสินเชื่อไม่ให้ถดถอยลงไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการกระตุ้นการใช้จ่ายและสร้างรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพื่อชดเชยผลตอบแทนที่ลดลงน่าจะเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการทุกราย

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่า บริษัทจะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเอาไว้ได้ ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งด้วยว่าฐานทุนและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น