xs
xsm
sm
md
lg

ERW เพิ่มทุน 2.37 พันล้านหุ้น ขาย RO-แจกวอร์แรนต์เสริมสภาพคล่อง-ขยายลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ERW ประกาศเพิ่มทุนโดยออกหุ้นสามัญ จำนวน 2.37 พันล้านหุ้น เสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมอัตรา 1.25 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาขายหุ้นละ 1 บาท ที่เหลือใช้รองรับการแจกวอร์แรนต์ (ERW-W3) อัตรา 7 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ หวังระดมเงินเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงานและขยายการลงทุน ขณะที่งบปี 63 พลิกขาดทุน 1.7 พันล้านบาท ลดลง 485% หวังปีนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว

บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 2,517,533,185 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 4,891,207,330 บาท โดยการออกหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 2,373,674,145 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท เพื่อเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) และรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งที่ 3 (ERW-W3) ซึ่งจะออกให้กับผู้ถือหุ้นเดิม

เพิ่มทุนสัดส่วน 1.25 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่

โดยการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวแบ่งเป็น จำนวนไม่เกิน 2,014,026,548 หุ้น เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น ในอัตราส่วนหุ้นสามัญเดิม 1.25 หุ้นต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ราคาเสนอขายหุ้นละ 1 บาท 

และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 359,647,597 หุ้น รองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ ERW-W3 ซึ่งจะออกให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยไม่คิดมูลค่า (ศูนย์บาท) โดยมีอัตราการจัดสรรเท่ากับ 7 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ มีอายุไม่เกิน 3 ปี มีอัตราการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วยต่อหุ้นสามัญ 1 หุ้น ราคาใช้สิทธิ 3.00 บาทต่อหุ้น

หวังเสริมความแข็งแกร่งทางการเงิน- ขยายการลงทุน

ทั้งนี้ การเพิ่มทุนดังกล่าวเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ มีโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสมต่อการขยายการดำเนินงาน และสามารถขยายการลงทุน ในขณะที่อัตราส่วนทางการเงินอยู่ในระดับที่เหมาะสม

นอกจากนี้ บริษัทฯ อาจใช้เงินทุนดังกล่าวเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับรองรับโอกาสในการลงทุนในธุรกิจโรงแรม ซึ่งจะสร้างการเติบโตที่ดีตามแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของบริษัทฯ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มโรงแรมบัดเจ็ท ทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ผลงานปี 63 ทรุด 485% หวังปีนี้ท่องเที่ยวทั่วโลกฟื้นตัว

สำหรับผลดำเนินงานปี 63 พลิกขาดทุน 1,715.25 ล้านบาท ลดลง 485% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 445.56 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมจากการดำเนินงานเท่ากับ 2,306 ล้านบาท ลดลง 64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการบันทึกขาดทุนก่อนดอกเบี้ยภาษีเงินได้และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เท่ากับ 159 ล้านบาท บันทึกขาดทุนก่อนรายการพิเศษเท่ากับ 1,605 ล้านบาท

ไตรมาส 4/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 473 ล้านบาท ลดลง 368% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 176 ล้านบาท บริษัทฯ มีรายได้รวมจากการดำนินงาน 589 ล้านบาท โดย EBITDA เท่ากับ 29 ล้านบาท และบันทึกขาดทุนก่อนรายการพิเศษจำนวน 368 ล้านบาท จากมีผลขาดทุนจากเงินลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เอราวัณ โฮเทล โกรท จำนวน 13 ล้านบาท และการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน จำนวน 92 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานของโรงแรมในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าในทุกกลุ่มโรงแรมและทุกพื้นที่ ก่อนที่จะปรับตัวลงเล็กน้อยในเดือน ธ.ค.63 จากผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในประเทศไทยในไตรมาส 4/63 อยู่ที่ 43% ซึ่งปรับตัวดีขึ้น และมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักลดลง 73%

ส่วนรายได้อาหารและเครื่องดื่มมีการปรับตัวดีขึ้น 48% จากไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้จากโรงแรม 5 ดาวในกรุงเทพฯ

สำหรับแนวโน้มปี 64 คาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวทั่วโลก จะเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังเป็นปีที่มีความท้าทายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเป้าการเดินทางในประเทศอยู่ที่ 120 ล้านคน-ครั้ง

ย้ำปีนี้ลูกค้าไทยยังเป็นลูกค้ากลุ่มหลัก พร้อมเน้นมาตรการคุมต้นทุน

ทั้งนี้ ปี 64 กลุ่มลูกค้าชาวไทยยังคงเป็นลูกค้ากลุ่มหลักที่บริษัทฯ ให้ความสาคัญภายใต้กลยุทธ์การตลาดและการแข่งขันที่ยังคงมุ่งเน้นการตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาช่องทางการสื่อสารให้มีความหลากหลายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างมากขึ้น ทั้งหมดนี้บริษัทฯ ได้ดาเนินการอย่างต่อเนื่องและพร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ยังบริหารจัดการมาตรการควบคุมต้นทุน มาตรการการดูแลสภาพคล่องและการรักษากระแสเงินสด รวมทั้งการดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพนักงานซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรหลักของบริษัทฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น