xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นหุ้นกลุ่มการแพทย์ฟื้น วัคซีนโควิด-19-ท่องเที่ยว-คนไข้หนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลพ้นจุดต่ำสุด คาดไตรมาส 4 ปี 63 ผลงานเริ่มฟื้นตัวหลังยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ อีกทั้งปริมาณคนไข้ในและต่างประเทศยังจำต้องพึ่งพารักษาไข้ ขณะที่ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของต่างชาติจะกลับสู่ประเทศไทย รวมถึงพัฒนาการของวัคซีนโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญ เชื่อดันผลงานปี 64 กลุ่มการแพทย์เติบโต  

หลังจากที่รัฐมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ งดรับผู้ป่วยที่บินเข้ามาใช้บริการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 ของโรงพยาบาลที่มีรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งสิ่งที่เกิดกับแต่ละโรงพยาบาลจะแตกต่างกันไปตามสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติ อีกทั้งความกังวลต่อสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานแทบจะทุกอาชีพมากน้อยแตกต่าง ครึ่งหลังของปี 2563 นักวิเคราะห์ประสานเสียงให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงในหุ้นหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือกลุ่มโรงพยาบาล เพราะการล็อกดาวน์เป็นมาตรการที่ทุกประเทศประกาศใช้ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตที่แตกต่างและเปลี่ยนไป เพราะการเดินทางออกนอกบ้านแทบจะไม่ปกติ คนไข้หรือคนป่วยจากต่างประเทศไม่ได้บินข้ามน่านฟ้าเพื่อเข้ามารักษาการเจ็บป่วยเหมือนเคย ทำให้รายได้หดหายไปอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จนถึงล่าสุดปลดล็อกระยะที่ 5 โดยเฉพาะการอนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยให้เข้ามาได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมปี 2563 ทำให้หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์อย่างกลุ่มโรงพยาบาลเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้้นมาได้บ้าง เพราะโรงพยาบาลที่มีรายรับจากผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวช่วงไตรมาส 4 รวมถึงจะเห็นพัฒนาการด้านบวกจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลายๆ ประเทศในปี 2564 ขณะที่ผลกระทบด้านลบจากโรคระบาดจะลดลงจากการมีการใช้มาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และสามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้สำเร็จ

จับตาฉีดวัคซีนโควิด-19  หนุนหุ้น รพ.ฟื้น

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส (ASPS)**** เปิดบทวิเคราะห์ถึงความคืบหน้าล่าสุดกรณีโรงพยาบาลเอกชนที่จะนำวัคซีนโควิด-19 เข้ามาให้บริการ โดยแนวทางปัจจุบันคือจะต้องสั่งผ่านตัวแทนจำหน่ายที่แต่งตั้งในประเทศไทยของผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งปัจจุบันยังต้องรอให้ตัวแทนจำหน่ายขึ้นทะเบียนขออนุญาตกับ อย.ก่อน โดยคาดจะกระบวนการทั้งหมดต้องใช้เวลาราว 1-3 เดือน ทั้งนี้ มองกลุ่ม BDMW-BCH ได้ประโยชน์กรณีวัคซีนฉีดได้

ดังนั้น ประเมินเป็นบวกต่อกลุ่มการแพทย์ แม้ในทางพื้นฐานเชื่อว่าประโยชน์ของการให้บริการฉีดวัคซีนจะไม่สร้าง Upside ที่มีนัยต่อประมาณการ อย่างไรก็ตาม คาดประโยชน์หลักๆ อยู่ในกลุ่ม รพ.เครือข่าย BDMS และ BCH ที่มีจุดให้บริการหลายแห่ง และ รพ.ที่จับตลาดกลาง-บน อย่าง BH และ PR9 ที่น่าจะมีความต้องการรับบริการเข้ามา รวมถึงจะได้ประโยชน์ในแง่การกลับมาให้บริการรักษากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดวัคซีนได้ และคาดหนุนการฟื้นตัวที่คาดหวังได้จากกลุ่มผู้ป่วยไทย มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินในปี 64 ที่กำหนดให้การฟื้นตัวมีนัย หลังเริ่มมีการกระจายวัคซีนครอบคลุมมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 64

ขณะที่ผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อการเดินทางเข้ามารักษาของผู้ป่วยไทย ปัจจุบันยังประเมินผลกระทบจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดือน เม.ย.63 ต่อทั้งกลุ่มผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) สะท้อนจากปัจจุบันที่การรักษา ผ่าตัดที่ไม่จัดอยู่ในกรณีฉุกเฉินยังสามารถทำได้อยู่ เทียบกับช่วงเดือน เม.ย.63 ที่ให้พิจารณางดการผ่าตัดส่วนใหญ่

เชียร์ซื้อ BDMS-PR9-BCH

ดัชนีกลุ่มการแพทย์ปี 2563 ปรับตัวลดลงถึง 17.3% เทียบกับตลาดที่ลดลง 10.4% เชื่อว่าน่าจะสะท้อนปัจจัยกดดันไปมากแล้ว โดยจากทิศทางระยะถัดไปที่น่าจะคาดหวังการฟื้นตัวได้มากขึ้น จากทั้งการเริ่มจัดสรรวัคซีนเอกชนคาดจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญต่อการฟื้นตัวของธุรกิจนับจากนี้ ยังให้ลงทุนเท่าตลาด เลือก BDMS (FV@B24) และ PR9 (FV@B11) เป็น Top picks กลุ่ม และยังแนะนำซื้อ BCH (FV@B19) จากการปรับตัวได้ดี หนุนได้อานิสงส์ระยะสั้นจากการรับตรวจโควิด-19 ระลอกใหม่ และโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการบริการวัคซีนโควิด-19 ในระยะถัดไป

ติดตามพัฒนาการวัคซีน  นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) **** คาดการณ์ภาพรวมกลุ่มโรงพยาบาลในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัว ทั้งปริมาณคนไข้ในประเทศและต่างประเทศ โดยมีพัฒนาการวัคซีนโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญ โดยฝ่ายวิเคราะห์ประเมินภาพรวมรายได้กลุ่มโรงพยาบาลที่มีฐานคนไข้ต่างชาติจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้แข็งแกร่งกว่ากลุ่มโรงพยาบาลที่ฐานคนไข้ประกันสังคม

พร้อมกันนี้ ทุกโรงพยาบาลชั้นนำต่างเร่งปรับรูปแบบการรักษาโรคทั่วไป รวมถึงติดตามผลการรักษาผ่านระบบ Telemedicine on Social Network เพื่อนำพื้นที่ภายในอาคารมาพัฒนาให้เกิดศักยภาพสูงสุด เช่น การดัดแปลงพื้นที่เป็นห้อง CCU, ICU, ศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศ ซึ่งจะเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ ฝ่ายวิเคราะห์แนะนำ "ซื้อ" หุ้น PR9 ราคาเหมาะสม 11 บาท BDMS ราคาเหมาะสม 24 บาท และ RJH ราคาเหมาะสม 28.50 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส (CS) ประเมินพร้อมปรับเพิ่มราคาเหมาะสมหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลไทย (Healthcare) ขึ้น 6-8% สะท้อนประมาณการกำไรมีแนวโน้มโตต่อเนื่องทั้งปี 2564 และ 2565 และตลอดปีที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลยังไม่สะท้อนปัจจัยบวกจากพัฒนาการวัคซีนโควิด-19 อย่างชัดเจนโดยให้ BDMS, BCH และ CHG เป็นหุ้นที่โดดเด่น

สำหรับ 5 โรงพยาบาลที่ CS ปรับเพิ่มราคาเหมาะสมประกอบด้วย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ปรับขึ้นเป็น 27.00 บาท จากเดิม 25.00 บาท บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ปรับขึ้นเป็น 20.50 บาท จากเดิม 19.30 บาท บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG ปรับขึ้นเป็น 3.50 บาท จากเดิม 3.30 บาท บริษัท โรงพยาบาลราชธานี จำกัด (มหาชน) RJH ปรับขึ้นเป็น 30.00 บาท จากเดิม 28.00 บาท

ทั้งนี้ CS ปรับราคาเหมาะสมของบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ปรับขึ้นเป็น 111.00 บาท จากเดิม 90.00 บาท เพิ่มขึ้น 23% สะท้อนส่วนลดใหม่และปรับกำไรปี 2564-2565 ที่จะเพิ่มขึ้น 4-10% จากโอกาสความร่วมมือกับ PRINC แต่ราคาได้สะท้อนไปแล้ว จึงยังให้ "Underperform"

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์มาว่า ฝ่ายวิจัยมองหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลขนาดกลางโดดเด่น คาดกำไรไตรมาส 4 ปี 2563 โรงพยาบาลขนาดกลาง (BCH, CHG, RJH, RPH) เติบโตแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดย CHG จะมีกำไรเติบโตเทียบปีก่อน สูงที่สุดในไตรมาสนี้ หรือเพิ่มขึ้น 70% จากปีก่อน และกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2563 ของ RJH จะเติบโตขึ้นคาด 59% จากปีก่อนและ RPH โตเพิ่มขึ้น คาด 43% จากปีก่อน ซึ่งสูงสุดในรอบปี 2563 ส่วน BCH โตคาด 27% จากปีก่อน ซึ่งการเติบโตมาจากรายได้ส่วนประกันสังคมที่เพิ่มทั้งปริมาณและมูลค่า และรายได้จากการตรวจและให้บริการที่เกี่ยวกับโควิด-19 รวมถึงมี Economy of scale

อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลพรีเมียมมีกำไรสุทธิอ่อนแอลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากรายได้คนไข้ต่างชาติหดตัวแรงในช่วงวิกฤตโควิด-19 มาร์จิ้นลดลงจากการมีค่าใช้จ่ายประจำและการให้ส่วนลดค่าบริการ
ฝ่ายวิจัยคาดกำไรสุทธิปี 2564 จะขยายตัวต่อ โดยโรงพยาบาลพรีเมียมจะอัตราการเติบโตของกำไรสูง เป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อยๆ คลี่คลายลง โดยประมาณการว่ากำไรสุทธิ BDMS จะเติบโต +32% เทียบปีก่อน และ BH ขยายตัว 64% จากปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 80% และ 58% ของระดับกำไรสุทธิก่อนมีโควิด-19 ในปี 2562 เนื่องจากการฟื้นตัวของคนไข้ไทยและต่างชาติ

ดังนั้น ฝ่ายวิจัยจึงให้น้ำหนักการลงทุน Overweight กลุ่มโรงพยาบาล โดยให้ BDMS, BCH และ CHG เป็นหุ้น Top picks ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิของ CHG และ BCH จะเติบโตดีต่อในปี 2564 และราคาหุ้นปัจจุบันมี Valuation ต่ำกว่าในอดีต ส่วนการลงทุนระยะยาวเห็นว่า BDMS น่าสนใจ เนื่องจากเป็นกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการเข้ามารับบริการของคนไข้ประเทศเพื่อนบ้าน

บล.หลักทรัพย์กรุงศรี  วิเคราะห์หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นโดยมั่นใจในแนวโน้มอุตสาหกรรมสุขภาพ mega trend ในปัจจุบัน (สังคมผู้สูงอายุ คนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) และยังมีโอกาสเติบโตของสัดส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ/GDP จาก 3.8% สู่ระดับใกล้ค่าเฉลี่ยของโลกที่ 9.9% นอกจากนี้ ยังมีความต้องการการบริการทางการแพทย์ระดับโลกและค่าใช้จ่ายต่ำกว่าในประเทศของพวกเขา ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อกำไรของโรงพยาบาลให้ลดลง 57% ใน 9 เดือนของปี 63 เนื่องจากการลดลงของคนไข้ชาวต่างชาติจากข้อห้ามการเดินทาง และการเลื่อนการรักษาที่ไม่เร่งด่วน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัจจัยกดดันนี้จะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น

กระแสข่าวความสำเร็จของการทดลองวัคซีน จากบริษัท Plizer and BioNTech, Moderna, Corovac, AstraZeneca และ Sputnik V ได้สร้างความหวังของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ Krungsri Research ได้ปรับคาดการณ์การเติบโต GDP ของไทยจาก -10.3% สู่ -6.4% ในปี 63 และฟื้นตัวสู่ 3.3% ในปี 64 ซึ่งจะช่วยหนุนการจ้างงานและรายได้ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกความต้องการคงค้างของการบริการด้านสุขภาพ นอกจากนี้ เชื่อว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับสู่ประเทศไทย

จากความสำเร็จในการค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19 คาดว่ากำไรของโรงพยาบาลจะฟื้นต้ว โดย BH เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 60% และ BDMS เพิ่มขึ้น 20% จากคนไข้ต่างประเทศและในประเทศ ประกอบกับประโยชน์จากต้นทุนคงที่ที่สูงถึง 55-60% ของต้นทุนทั้งหมด) อ้างอิง consensus กำไรของ BCH และ CHG จะเติบโต 6% และ 14% ตามลำดับ BH, BDMS, CHG และ BCH มีงบดุลที่แข็งแกร่งโดยมีสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (net debt/equity) ที่ต่ำที่ -0.2x, 0.2x, 0.3x และ 0.5x ตามลำดับ ซึ่งไม่เพียงสะท้อนความเสี่ยงด้านการเงินที่ต่ำที่จะช่วยให้บริษัทผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ แต่ยังช่วยหนุนให้บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลได้

นอกจากนี้ ยังหมายถึงยังมีความสามารถในการขยายบริษัทเพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทย แม้ว่าราคาหุ้นจะมีการปรับตัวขึ้นมา ราคาหุ้น BH และ BDMS ปรับลด 22% และ 13% ตามลำดับตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากผลประกอบการที่อ่อนแอปี 2020F อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งในปี 2021F ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้ราคาหุ้นในระยะสั้น เราเชื่อว่าเป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นกลุ่มการแพทย์ บล.กรุงศรีฯ ชอบ BH และ BDMS

โดยมองว่า BDMS จากการขายเงินลงทุนจะช่วยหนุนสถานะทางการเงินของ BDMS ให้กลายเป็นโรงพยาบาลที่เป็นเงินสดสุทธิ (net cash) และรับรู้กำไร 1.1 พันลบ. จากคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการยกเลิกการระงับการเดินทาง คาดว่ากำไรหลักจะเพิ่มขึ้น 24% ในปีหน้า เราประเมินมูลค่าหุ้นที่ 26 บาท และมีผลตอบแทนรวมที่ (TTR) 19% แนะนำ ซื้อ

ขณะที่ BH มีความน่าสนใจที่จะเป็นผู้ชนะในการฟื้นตัว โดยกำไรจะก้าวกระโดด 60% ในปีหน้า เทียบกับคู่แข่งที่เติบโต 6%-20% ความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะทำให้ความต้องการคงค้าง และนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีค่ารักษาต่อรายสูงกลับมา (คนไข้รอรักษา 404 ราย) บริษัทจะได้ประโยชน์จากต้นทุนคงที่ที่สูง (55-60%) หนุนการฟื้นตัว ประเมินมูลค่าหุ้นที่ 128 บาท ด้วย DCF ซึ่งมี TTR ที่ดีน่าสนใจที่ 14% การฟื้นตัวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาหุ้นในระยะสั้น แนะนำ “ซื้อ”


กำลังโหลดความคิดเห็น