กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ประกาศกลยุทธ์ปี 64 ชูดิจิทัล นวัตกรรม และศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน พร้อมจับมือพันธมิตรผสานความแข็งแกร่ง สร้างความเติบโต และพัฒนาศักยภาพบุคลากร ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร 305,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 สินเชื่อใหม่ 88,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง
น.ส.ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า กล่าวว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ผันผวน และความไม่แน่นอนในตลาด จากสถานการณ์โควิด-19 แต่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ก็ยังมีผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 280,000 ล้านบาท (-11% เทียบกับปี 2562) ยอดสินเชื่อใหม่ 79,000 ล้านบาท (-21%) ยอดสินเชื่อคงค้าง 144,000 ล้านบาท (-4%) และจำนวนบัญชีลูกค้าใหม่ 488,000 ราย (-51%) ผลประกอบการในภาพรวมแม้จะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ก็ได้รับผลกระทบรุนแรงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ อันเป็นผลจากการใช้ระบบเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการรักษาคุณภาพสินเชื่ออย่างรัดกุม
น.ส.ณญาณี กล่าวอีกว่า มาดูที่หมวดการใช้จ่ายสูงสุด 5 หมวดแรก ได้แก่ ประกัน ซูเปอร์มาเกต อุปกรณ์แต่งบ้าน-เครื่องใช้ในบ้าน น้ำมัน และชอปปิ้งออนไลน์-กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะพบว่าอันดับที่ 5 หมวดชอปปิ้งออนไลน์-กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ปรับอันดับขึ้นมาจากอันดับ 6 มีอัตราการเติบโตถึง 50% แซงหมดวห้างสรรพสินค้าลงไปอยู่อันดับ 6 ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้เราเห็นเทรนด์ว่าจะต้องไปทางไหน รวมถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ก็จะต้องปรับไปในกลุ่มที่แตกต่างไปจากเดิมด้วย
"ในปีที่แล้วเราเน้นการช่วยเหลือลูกค้าเป็นหลักมีทั้งมาตรการช่วยลูกค้าที่ประสบปัญหา และลูกค้าที่ปกติ โดยมีทั้งมาตรการระยะสั้น และระยะยาวที่ให้ยืดระยะเวลาผ่อนชำระสูงถึง 99 เดือน เพื่อให้ช่วยให้ลูกค้ายืนอยู่ได้ ไปต่อได้ และเราก็ไปต่อได้เช่นกัน และก็ยังจะต้องช่วยกันยาวต่อมาถึงสิ้นปีนี้ เพราะยังมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่มาอีกตั้งแต่ปลายปีก่อน"
ส่วนในปี 2564 คาดว่าสภาวะตลาดโดยรวมยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ ภาวะการว่างงาน และกำลังซื้อ รวมถึงอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ อยู่ที่ระดับ 1.2% สำหรับบัตรเครดิต และ 3.4% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ ซึ่งนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจ อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสใหม่ๆ จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดรับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นตัวเร่งให้สังคมไทยก้าวสู่ยุคสังคมไร้เงินสดแบบก้าวกระโดด กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จึงเตรียมปรับแผนธุรกิจ โดยเน้นการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างรัดกุม พร้อมกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้วางกลยุทธ์หลัก 4 ประการเพื่อสร้างความเติบโตในระยะยาว
สำหรับกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้แก่ 1.การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น การใช้ระบบดิจิทัล เวิร์กโฟลว์ และการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการทำงานที่มีการทำซ้ำ (Robotic Process Automation-RPA) บริการส่งใบเรียกเก็บเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-billing) บริการสมัครบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อผ่านทางแอปพลิเคชันยูชูส (Digital Lending) การนำ AI และ Chatbot มาใช้พัฒนาการบริการ การพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ บนแอปพลิเคชันยูชูส เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ รวมทั้งเป็นช่องทางในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ 2.การนำศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ เพื่อให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น 3.การผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี และพันธมิตรชั้นนำทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด ขยายฐานลูกค้า และแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ โดยเฉพาะในเซกเมนต์ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เช่น บริการส่งอาหาร ชอปปิ้งออนไลน์ และประกันภัย เป็นต้น และ 4.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ก้าวทันโลกธุรกิจยุคใหม่ โดยมีเป้าหมายในระยะยาวที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และการบริการให้ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2564 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร 305,000 ล้านบาท เติบโต 9% ยอดสินเชื่อใหม่ 88,000 ล้านบาท เติบโต 11% ยอดสินเชื่อคงค้าง 148,000 ล้านบาท เติบโต 3% และจำนวนลูกค้าใหม่ 583,000 ราย เติบโต 19% ขณะที่แนวโน้มเอ็นพีแอลนั้น จากผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงไตรมาสแรกของปีจึงน่าจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่จากมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องที่ออกมาก็ไม่น่าจะสูงมากนัก
"จำนวนลูกค้าใหม่ ณ ระดับที่ตั้งเป้าไว้กว่า 5 แสนราย ก็ยังต่ำกว่าระดับก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่จะอยู่ประมาณ 900,000 ราย เพราะจากสถานการณ์ที่เป็นทั้งหนี้ครัวเรือนที่สูง ผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ยังไม่หนักอยู่ จึงไม่เอื้อต่อการเพิ่มบัตรใหม่ในระดับที่สูงมากนัก แต่จะเน้นไปที่การช่วยเหลือมากกว่า ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่สูงนั้น เป็นปัญหามาระยะหนึ่งแล้ว สิ่งที่ทำได้ก็คือจะยืดระยะเวลาการผ่อนออกไปและไม่สนับสนุนให้ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น"