โดย พรทิพย์ บำรุงชาติอุดม
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือต่อประชากรโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การเข้าถึงสินค้าและบริการบนโลกออนไลน์เป็นไปอย่างแพร่หลาย การพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการเงิน หรือ “FinTech” เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และปฏิเสธไม่ได้ว่า Fintech กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำธุรกรรมทางการเงินเดิมๆ และกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของโลกในอนาคต
Financial Technology Innovation “FinTech” คือเทคโนโลยีทางการเงินที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้การเข้าถึงบริการทางการเงิน การลงทุน และการทำธุรกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการเงินสามารถทำได้สะดวกสบายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ FinTech มีขอบเขตการใช้งานที่ครอบคลุมในหลายมิติ ตั้งแต่การเป็นแพลตฟอร์มในการรับ-จ่ายเงินออนไลน์ (Payment Gateway) เช่น ระบบการรับ-จ่ายเงินออนไลน์แบบที่ไม่ต้องไปทำธุรกรรมที่ธนาคารเหมือนในอดีต
แพลตฟอร์มการให้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์ (Digital Wallet) เช่น True money wallet หรือแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่ทางรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการโอนเงินให้แก่ประชาชน การเป็นแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการด้านการลงทุน เช่น แอปพลิเคชัน Stock Radar หรือ Steaming การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเทคโนโลยีประกันภัย (Insurtech) การเป็นตัวกลางทางระบบการเงินแทนธนาคารเพื่อปล่อยสินเชื่อออนไลน์ (Digital Lending) การเป็นเครื่องมือในการระดมทุนออนไลน์ (Crowd Funding) และการพัฒนาเงินสกุลดิจิทัล (Cryptocurrency) เพื่อทดแทนระบบเงินในปัจจุบัน เช่น Bitcoin ก็เป็นตัวอย่างของบริษัทในกลุ่ม FinTech
ปัจจุบันผู้นำในการพัฒนา FinTech คือกลุ่มบริษัท BigTech รายใหญ่ของโลก โดย FinTech ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการบริการที่ครบวงจรซึ่งจะเห็นได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น บริษัทที่พัฒนาระบบร้านค้าออนไลน์ (E-Commerce) มักจะพัฒนาระบบชำระเงินออนไลน์ (Digital Wallet) เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าสามารถทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างของบริษัทที่เป็นทั้งบริษัท Bigtech และ FinTech ที่เป็นที่รู้จักได้แก่ บริษัท Alibaba ซึ่งพัฒนาระบบกระเป๋าเงินออนไลน์อย่าง Alipay หรือบริษัท SEA Ltd. ที่พัฒนา SHOPEE คู่กับระบบ AirPay ซึ่งไม่เพียงแต่รองรับธุรกิจร้านค้าออนไลน์แล้ว ยังเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มเกมออนไลน์อย่าง Garena อีกด้วย
นอกจากนี้ ระบบสื่อสารออนไลน์ (Communication) ที่มีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมากก็ยังมีการพัฒนาระบบธนาคารดิจิทัลเพื่อต่อยอดธุรกิจ อย่างบริษัท Tencent ที่พัฒนา WeChat ก็มีการพัฒนา WeBank เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ผู้ใช้งานรายย่อย เป็นต้น ไม่เพียงแต่การพัฒนาเพื่อการทำธุรกิจที่ครบวงจรเท่านั้น FinTech ยังถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าและใช้งานง่ายกว่าเมื่อเทียบกับระบบการเงินแบบเดิม เช่น บริษัท Square ซึ่งพัฒนาระบบรับ-จ่ายเงิน ระบบโปรแกรมขายหน้าร้าน (POS) และระบบบัตรเครดิตออนไลน์ที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำกว่าผู้ให้บริการเดิม และยังพัฒนาระบบการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ (Cash App) สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานกว่า 24 ล้านคนในสหรัฐฯ
ในอีกมิติหนึ่ง FinTech ยังถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมสำหรับกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงระบบการเงิน (Unbanked) ซึ่งมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 31 ของประชากรโลก (อ้างอิงสถิติจาก World Bank ปี 2017) จึงทำให้การพัฒนา FinTech ในรูปแบบของ Mobile Money (MM) ซึ่งเป็นเสมือนระบบธนาคารเคลื่อนที่ ช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินหรือเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด เช่น M-pesa ซึ่งเป็นบริการการชำระเงินผ่านมือถือยอดนิยมที่ประเทศเคนยา สำหรับประเทศไทยยังมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงระบบสถาบันการเงินสูงถึงร้อยละ 18 ของประชากร ก็มีความพยายามในการพัฒนาระบบการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ (Digital Lending) จากผู้ให้บริการทางการเงินหลายบริษัท ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จนอกจากจะเป็นการเพิ่มอัตราการปล่อยสินเชื่อแล้วยังเป็นการช่วยลดการปล่อยกู้นอกระบบได้อีกด้วย
จากประโยชน์และจุดเด่นของ FinTech ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สำหรับผู้ใช้งานอย่างตรงจุดนั้น ทำให้จำนวนผู้ใช้งาน FinTech เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในปีที่ผ่านมาการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้บริษัทในกลุ่ม FinTech ได้รับความสนใจอย่างมากจากการขยายตัวของตลาด E-Commerce และแนวโน้มการชำระเงินที่ลดการสัมผัส (Contactless Payment) ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ของโลก ทำให้บริษัทในกลุ่ม FinTech ยังมีแนวโน้มการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องในอนาคต ดังนั้น การลงทุนในกลุ่มบริษัท FinTech จึงถือเป็นการลงทุนที่น่าสนใจในแง่ของการเติบโตในระยะยาว และเนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนในกลุ่ม FinTech ให้ผลตอบแทนในเชิงลบ (Negative Correlation) กับการลงทุนในกลุ่ม Value Stock การลงทุนใน FinTech จึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน