ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ทั้งขยาย-พักระยะเวลาชำระหนี้ และวงเงินกู้เสริมสภาพคล่องสำหรับธุรกิจโรงแรมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในธุรกิจ พร้อมทำงานเชิงรุกเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิดหนุนลูกค้าให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารได้ตระหนักถึงภาระที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มองเห็นความพยายามช่วยเหลือตัวเองอย่างสุดกำลังของผู้ประกอบการมาโดยตลอด จึงต้องการเป็นอีกพลังช่วยสนับสนุนให้เอสเอ็มอีสามารถก้าวผ่านวิกฤตไปได้อีกครั้ง โดยออกมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 ต่อเนื่องจากการให้ความช่วยเหลือก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1) ขยายเวลาพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนานสูงสุด 6 เดือน โดยจะมีผลต่อเนื่องเมื่อครบอายุสัญญาตามมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 มาตรการที่ 2) ปรับลดอัตราผ่อนชำระต่องวดและขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ และมาตรการที่ 3) เสริมสภาพคล่องทางการเงินสำหรับธุรกิจโรงแรมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ วงเงินสูงสุด 30 เดือนตามค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เกิดขึ้นจริง พร้อมวงเงินพิเศษสำหรับการเตรียมความพร้อมกิจการเพื่อต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว โดยขยายเวลาผ่อนชำระตามความรุนแรงของผลกระทบในแต่ละพื้นที่ท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางและได้รับผลกระทบสาหัสที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของต่างชาติ เช่น ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ธนาคารมุ่งหวังว่ามาตรการที่ออกมาครั้งนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้ลูกค้าเอสเอ็มอีสามารถเดินหน้าธุรกิจได้อย่างมั่นคงต่อไป
ทั้งนี้ ธนาคารได้มีการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มที่มีศักยภาพเพื่อพยุงธุรกิจให้ไปต่อได้ ส่วนลูกค้าที่ยังได้รับผลกระทบอยู่นั้น ธนาคารจะติดตามประเมินสถานการณ์ในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อก็พร้อมที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้วยมาตรการเพิ่มเติม
**แบงก์กรุงเทพต่ออายุมาตรการช่วยลูกค้า**
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ขานรับนโยบาย ธปท. ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยขยายระยะเวลาขอรับความช่วยเหลือไปอีก 6 เดือน ถึง 30 มิถุนายน 2564 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินเชื่อทุกประเภท ผ่านหลากหลายมาตรการ ทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายวงเงิน พักชำระหนี้ จนถึงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างดีที่สุด
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศขยายระยะเวลามาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ธนาคารจึงได้ขยายระยะเวลาขอรับความช่วยเหลือต่อไปอีก 6 เดือน จนถึง 30 มิถุนายน 2564 จากเดิมสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563
โดยสินเชื่อบัตรเครดิตสามารถเปลี่ยนประเภทเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา (Term Loan) 48 งวด หรือขยายระยะเวลาตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี พร้อมลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำให้แก่ลูกค้าทุกรายโดยอัตโนมัติตั้งแต่ เม.ย.63 จนถึงปี 2565 และปรับลดเพดานดอกเบี้ยตั้งแต่ ส.ค.2563 รวมถึงการพิจารณาขยายวงเงินให้แก่ลูกค้าที่มีความจำเป็นเป็นการชั่วคราว
สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีลักษณะหมุนเวียน (Revolving Loan) ให้ลดอัตราผ่อนขั้นต่ำ ตามความสามารถในการชำระหนี้ เปลี่ยนเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา (Term Loan) 48 งวด หรือขยายระยะเวลาตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปีประเภทสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (Installment Loan) ให้ลดค่างวดอย่างน้อย 30% โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี
สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ให้เลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือเลื่อนชำระเงินต้น (จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย) เป็นระยะเวลา 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าแต่ละรายตามความเหมาะสม หรือลดค่างวดโดยขยายเวลาการชำระหนี้ รวมถึงลูกค้าสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการรวมหนี้ (Debt Consolidation) โดยนำสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งอยู่กับธนาคารกรุงเทพ มารวมเป็นสินเชื่อเดียวกันเพื่อลดภาระทางการเงิน
นอกจากนี้ ธนาคารจะพิจารณาปรับและผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้เพิ่มเติมเป็นรายกรณี เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วน
ส่วนลูกค้าธุรกิจธนาคารได้ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในเชิงรุกอย่างทันเหตุการณ์ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและเสริมสภาพคล่อง เช่น การให้ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan ธปท.) อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทนลูกค้า 6 เดือนแรก
"ขณะเดียวกัน ธนาคารยังพยายามสนับสนุนให้ลูกค้าปรับตัวด้วยการหาตลาดใหม่และช่องทางการขายเพิ่มเติม ตลอดจนการอบรมสัมมนาความรู้ใหม่ให้แก่ลูกค้า เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเริ่มฟื้นตัวเองและกิจการกลับมาได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงการปรับตัวหรือขยายธุรกิจเข้าสู่ความท้าทายใหม่ที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกในอนาคต (Future World) ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ลูกค้ากลับมาลุกขึ้นยืนใหม่ได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง โดยมีธนาคารกรุงเทพ เป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่พร้อมเคียงข้างไปตลอด" นายสุวรรณ กล่าว