ธปท. ออกหนังสือเวียนขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้สมัครรับความช่วยเหลือและให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก เน้นแก้ไขปัญหาให้เร็วตรงจุด เฉพาะราย พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประมวลผลและหามาตรการเพิ่มเติมต่อไป ระบุ พ.ย.63 มีลูกหนี้ขอความช่วยเหลือ 5.6 ล้านล้านบาท จำนวนบัญชี 11 ล้านบัญชี
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ธปท. จึงขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563) โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์
2.ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีแนวทางต่างๆ ดังนี้
2.1 ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น
2.2 ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม
2.3 พิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. soft loan
2.4 ผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสม
สำหรับลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือแล้วล่าสุดเดือน พ.ย.63 วงเงิน 5.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเป็น 11 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อย ที่มีวงเงินขอรับความช่วยเหลือประมาณ 3.22 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวน 10 ล้านราย
โดยความช่วยเหลือดังกล่าวจะเป็นการยืดอายุหนี้ ลดดอกเบี้ยนั่นเป็นเพียงการช่วยเหลือชั่วคราวที่ผ่อนคลายผลกระทบภาระหนี้และดอกเบี้ยยังคงอยู่ ดังนั้น ธปท.ต้องการที่จะให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้
ส่วนกรณีที่ลูกหนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก 28 จังหวัดนั้น ธนาคารพาณิชย์เอกชนได้เจรจากับลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง มีการช่วยเหลือตามความเหมาะสมและตรงปัญหาให้แก่ลูกหนี้ในแต่ละราย ในส่วนของธนาคารเฉพาะกิจ เน ออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. ก็พิจารณาช่วยเหลือลูกหนี้ตามความจำเป็นและเหมาะสมในแต่ละราย
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามสถานการณ์และสอบถามข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือได้รวดเร็วและตรงจุดมากที่สุด รวมทั้งยังเตรียมนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์หามาตรการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือควรรีบติดต่อศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า (call center)
ของผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละแห่งได้โดยตรง หรือโทร.1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. หรือผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” เว็บไซต์ https://www.1213.or.th/App/DebtCase
ธปท. จะติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ ธปท. สามารถทบทวนมาตรการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป