xs
xsm
sm
md
lg

อัดสภาพคล่อง6.3แสนล. ปล่อยซอฟต์โลน-พักชำระหนี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - คลัง เตรียมอัดฉีดเสริมสภาพคล่องเข้าระบบอีกกว่า 6.38 แสนล้านบาท ผ่านช่องทางธนาคารของรัฐ-ธปท. ทั้งปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟโลนต์) – พักชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย ด้านแบงก์ชาติ ขอความร่วมมือให้แบงก์พาณิชย์และนอนแบงก์เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ด่วน ปรับโครงสร้างหนี้ ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม และผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจจึงได้ดำเนินมาตรการด้านการเงินต่างๆ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระหนี้สิน ประกอบด้วย 1. สินเชื่อเสริมพลังฐานราก (ธนาคารออมสิน) มีวงเงินคงเหลือ 7,500 ล้านบาท ปล่อยกู้วงเงิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 3 ปี 2.สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มี วงเงินคงเหลือ 11,400 ล้านบาท เป็นวงเงินของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นการสนับสนุนสินเชื่อให้ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ หรือเกษตรกรรายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.1 ต่อเดือน ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน และ 3.สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินคงเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ปล่อยสินเชื้อให้แก่ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยสินเชื้อทั้ง 3 ประเภท ครม. ขยายเวลาออกไปถึง 30 มิ.ย. 2564

"การเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชนและธุรกิจผ่านสินเชื่อประเภทต่างๆ วงเงินรวม 6.38 ล้านบาท แยกเป็น ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 2.68 แสนล้านบาท โดยขยายเวลาโครงการสินเชื่อเดิมออกไป รวมถึงพักชำระหนี้ถึง 30 มิ.ย.64 อีกส่วนคือวงเงินซอฟต์โลนของธปท. อีก 3.7 แสนล้านบาท"

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ธปท. จึงขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้

1. ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563) โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์

2. ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีแนวทางต่าง ๆ อาทิ ปรับโครงสร้างหนี้ ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม หรือผ่อนปรนเงื่อนไข เป็นต้น

"ธปท. จะติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ ธปท. สามารถทบทวนมาตรการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป"


กำลังโหลดความคิดเห็น