สรุปภาพรวม 12 เดือน ปี 2563 ตลาดหุ้นไทยมาร์เกตแคปรวมกลับใกล้เคียงปี 2562 ที่ระดับ 16.5 ล้านล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสะสม 10 เดือนต่อเนื่อง ก่อนกลับมาซื้อในช่วง 12 เดือนสุดท้าย เช่นเดียวกับวอลุ่มซื้อขายทะลักในไตรมาสสุดท้าย อีกอัตราปันผลทั้งปีไม่น้อยกว่า 3% ยกโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี
สิ้นปี 2563 การเคลื่อนไหวของ Set Index ปีนี้ต้องยอมรับว่ามีความผันผวนมากตั้งแต่ต้นปี และคงต้องยกให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก สร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างมาก ล่าสุด ทีมงานผู้จัดการรายวัน 360 ได้รวบรวมไทม์ไลน์ของดัชนีหลักทรัพย์ (Set Index) ในช่วงแต่ละเดือนของปี 2563 เพื่อสรุปภาพรวมตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของตลาดหุ้นไทยซึ่งได้เผชิญปัญหา และแรงสนับสนุนในช่วงต่างๆ แตกต่างกันออกไป ดังนี้
มกราคม Set Index เริ่มต้อนรับโควิด-19
ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ปิดที่ 1,514.14 จุด ลดลง 4.2% จากสิ้นปีก่อน มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 6.29 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.4% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2562 ด้านผู้ลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ 1.72 หมื่นล้านบาท โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดส่วนใหญ่ในอาเซียน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานว่า ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะจากการระบาดของโคโรนาไวรัสซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การควบคุมโรคมีแนวโน้มที่ดี จากความเข้มงวดของรัฐบาลจีน และการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย โดยอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ระดับ 3.4% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.9% ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ของ SET และ mai อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท ลดลง 4.1% จากสิ้นปี 2562
ก.พ. โควิด-19 เริ่มสร้างผลกระทบลูกโซ่
ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดัชนี SET Index ปิดที่ 1,340.52 จุด ลดลง 11.5% จากเดือน ม.ค. และ 15.1% จากสิ้นปีก่อน อย่างไรก็ดี มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 6.58 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.8% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2562 ด้านผู้ลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ 1.93 หมื่นล้านบาท โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดส่วนใหญ่ในอาเซียน เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดขอโควิด-19 เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก
ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.0% ส่วนมาร์เกตแคปตลาดรวมอยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท ลดลง 13.9% จากสิ้นปี 2562
มี.ค.พิษโควิด-19 ทุบมาร์เกตแคปรูด!
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ดัชนี SET Index ปิดที่ 1,125.86 จุด ลดลง 16% จากเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ดี มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 7.17 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.8% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2562 ด้านผู้ลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ 7.83. หมื่นล้านบาท โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดในเอเชีย
ภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นจากเดือนก่อนเช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม SET Index ในเดือนมีนาคมปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดส่วนใหญ่ในอาเซียน เนื่องจากหลายธุรกิจปรับตัวรับกับสถานการณ์ได้ดี โดยเฉพาะธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหาร ตลอดจนธุรกิจค้าปลีกและบริการทางการแพทย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในดัชนีของกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวปรับตัวลดลงน้อยกว่า SET Index
ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 4.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.6% และมาร์เกตแคปอยู่ที่ 12.3 ล้านล้านบาท ลดลง 27.7% จากสิ้นปี 2562
เมษายนตลาดหุ้นเริ่มรีบาวนด์
ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 ดัชนี SET Index ปิดที่ 1,301.66 จุด เพิ่มขึ้น 15.6% จากเดือนก่อน มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2562 ด้านผู้ลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ 4.67 หมื่นล้านบาท โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดในเอเชีย
ภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม สอดคล้องกับทิศทาง ของตลาดโลก โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.6% จากสิ้นเดือนก่อนซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย โดยอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 4.0% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.3% ด้านมาร์เกตแคปตลาดรวมอยู่ที่ 14.2 ล้านล้านบาท ลดลง 16.4% จากสิ้นปี 2562
พ.ค.Set Index ฟื้นตัวต่อเนื่อง
ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปิดที่ 1,342.85 จุด เพิ่มขึ้น 3.2% จากเดือนก่อน มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวม อยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2562 ด้านผู้ลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ 3.15 หมื่นล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนและเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดในเอเชีย ถือเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนสอดคล้องกับทิศทางของตลาดส่วนใหญ่ในเอเชีย ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่ดีขึ้นรวมถึงการผ่อนคลายกิจกรรมและกิจการต่างๆ ในระยะที่ 2-3 ตลอดจนการปรับเพิ่มจำนวนหุ้นไทยในดัชนี MSCI
ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3.68% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.32% และมาร์เกตแคปรวมอยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท ลดลง 13.6% จากสิ้นปี 2562
มิถุนายนหลายกลุ่มธุรกิจฟื้นตัว
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,339.03 จุด ลดลง 0.3% จากเดือนก่อน ทั้งนี้หากพิจารณาผลตอบแทนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะเพิ่มขึ้น 2.8% โดยในเดือนมิถุนายนเมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปีก่อนพบว่า เกือบทุกอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่า SET Index ยกเว้นกลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
กล่าวได้ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยค่อนข้างทรงตัว แต่เมื่อพิจารณามูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันพบว่ามีความคึกคักมาก โดยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 7.73 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในครึ่งแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 6.86 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นมาจากผู้ลงทุนในประเทศเป็นหลัก
นอกจากนี้ เริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น สังเกตจากผู้ลงทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลงเหลือขายสุทธิ 2.23 หมื่นล้านบาท ทำให้ในครึ่งแรกปี 2563 ผู้ลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ 2.15 แสนล้านบาท ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3.70% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.15%
กรกฎาคมต่างชาติขายสุทธิต่ำสุด
ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,328.53 จุด ค่อนข้างทรงตัว โดยลดลง 0.8% จากเดือนก่อน สาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุน ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง อีกทั้งเป็นช่วงเวลาเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจ รวมถึงการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในครึ่งปีแรกทำให้ SET Index เคลื่อนไหวในกรอบแคบ
ทั้งนี้ พบว่ามี 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และในบางหมวดธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวหลังเริ่มมีการคลายการล็อคดาวน์ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณการฟื้นตัวของหลักทรัพย์ที่อยู่นอกกลุ่ม SET100
ส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6.4 หมื่นล้านบาท อยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ด้านมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 6.79 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ เริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น สังเกตจากผู้ลงทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลง โดยในเดือนนี้ขายสุทธิเพียง 9,938 ล้านบาทซึ่งเป็นมูลค่าขายสุทธิที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน อยู่ที่ระดับ 3.66% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.03%
ส.ค.หลายปัจจัยกดดันความเชื่อมั่น
สำหรับ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,310.66 จุด ปรับลดลง 1.3% จากเดือนก่อน โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุน ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง รวมถึงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศ ทำให้ SET Index ปรับลดลง 17.0% จากสิ้นปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 19.9% จากสิ้นปีก่อนหน้า
โดยรวมดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยค่อนข้างทรงตัว นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณการฟื้นตัวของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และ ในบางกลุ่มธุรกิจในภาคบริการที่ได้อานิสงส์จากการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่อาจจะนำไปสู่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เร็วขึ้น
ในส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 5.65 หมื่นล้านบาท และหากพิจารณาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 6.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3.64% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.89%
กันยายนกังวลเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,237.04 จุด ลดลง 5.6% จากเดือนก่อน โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุน ได้แก่ ความล่าช้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิิด-19 ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทำให้ SET Index ปรับลดลง 21.7% จากสิ้นปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 24.7% จากสิ้นปีก่อนหน้า
ทำให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 4.78 หมื่นล้านบาท และทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 6.45 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยคิดเป็น 43.51% ขณะที่ผู้ลงทุนต่างประเทศยังมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยกว่า 2.76 แสนล้านบาท และอัตราเงินปันผลตอบแทน อยู่ที่ระดับ 3.56% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.83%
ต.ค. ปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับภูมิภาค
ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,194.95 จุด ลดลง 3.4% จากเดือนก่อน และปรับลดลง 24.4% จากสิ้นปีก่อน อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ MSCI ASEAN อย่างไรก็ดี SET Index ที่ปรับลดลงทำให้อัตราส่วน P/E ratio ปรับลดลงมาใกล้เคียงกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค อีกทั้งอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย
โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 5.32 หมื่นล้านบาท และทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 6.34 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ผู้ลงทุนต่างชาติยังมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2563 ขายสุทธิกว่า 2.98 แสนล้านบาท และอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 54% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.77%
พ.ย.วอลุ่มเทรดทะลัก-ต่างชาติกลับมาซื้อ
ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ การชนะเลือกตั้งของพรรคเดโมแครตในสหรัฐฯ ที่มีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าโลก ทำให้นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์ทั้งเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ว่าจะฟื้นตัวรวดเร็วขึ้น อีกทั้งมีความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของบริษัทยาขนาดใหญ่หลายแห่ง ทำให้ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,408.31 จุด เพิ่มขึ้น 17.85% จากเดือนก่อน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดของปี 2563 และปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในเอเชีย
สำหรับกลุ่มหลักทรัพย์ที่ปรับตัวดีกว่า SET Index ได้แก่ หลักทรัพย์ขนาดใหญ่ (SET50 และ SET100) ในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และธนาคาร และสิ่งที่น่าสนใจคือ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยรายเดือนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 6.59 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และพบว่าผู้ลงทุนต่างชาติมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิเป็นเดือนแรกในรอบ 16 เดือน ด้วยมูลค่า 3.25 หมื่นล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเงินทุนไหลเข้าสูงที่สุดใน ASEAN อีกด้วย และทำให้ใน 11 เดือนแรกของปี 2563 ผู้ลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ 2.65 แสนล้านบาท จากที่ขายสุทธิ 2.98 แสนล้านบาท ในเดือนก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ระดับ 3.00% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.50%
ธันวาคมโควิด-19 รอบใหม่ปั่นป่วน Set Index
ปรับตัวลงตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบันรับผลการปรับลดน้ำหนักตลาดหุ้นไทยในดัชนี MSCI และย่อตัวลงอีกครั้งจากกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ แต่มีแรงหนุนจากรายงานข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระตุ้นความคาดหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยร่วงลงอีกครั้งจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ประกอบกับมีแรงกดดันจาก FTSE rebalance ซึ่งทำให้มีการลดน้ำหนักลงทุนหุ้นไทยหลังยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้น ก่อนจะแกว่งตัวไร้ทิศทางระหว่างรอติดตามมาตรการดูแลสถานการณ์ แต่ท้ายที่สุดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นอีกครั้ง หลังรัฐบาลยังไม่ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างอียูและอังกฤษ
ขณะที่ปริมาณการซื้อขายต่อวันอยู่ในระดับ 8.82 หมื่นล้านบาท ส่วนนักลงทุนต่างประเทศกลับมาซื้อสุทธิ 2,149 ล้านบาท (25 ธ.ค.) โดยมีอัตราผลตอบแทน 3.23% มีมาร์เกตแคปรวม 16.5 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับเมื่อสิ้นปี 2562 ที่ระดับ 16.7 ล้านล้านบาท ส่วน Set Index ล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 1,486.31 จุด เพิ่มขึ้น 34.79 จุด หรือ 2.74