"สตางค์ คอร์ปอเรชั่น" เผยปี 2563 ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่คึกคัก เพราะไวรัสโควิด-19 หนุน ส่งผลให้เป็นช่วงขาขึ้น สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะการลงทุนในบิตคอยน์กลายเป็นสินทรัพย์คงคลังสำรอง ที่สถาบันการเงินเข้าเก็งกำไร เชื่อปี 64 ตลาดราคาของบิตคอยน์มีแนวโน้มขึ้นไปถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยังคงคึกคักต่อเนื่อง
นายปรมินทร์ อินโสม กรรมการบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำด้านการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เปิดสรุปมุมมองต่อภาพรวมของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ ในปี 2563 และทิศทางของตลาดในปี 2564 ว่า “ปีที่ผ่านมาโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่กลายเป็นธุรกิจขาขึ้นที่สวนกระแสในเศรษฐกิจขาลง และในปี 2564 บิตคอยน์จะเปลี่ยนสถานะจากสินทรัพย์เก็งกำไร เป็นสินทรัพย์คงคลังสำรองของสถาบันการเงิน และนักลงทุนรายใหญ่”
โดยระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่วิกฤตจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การลงทุนของโลก แต่มูลค่าตลาดรวม (Market Cap) ของบิตคอยน์กลับพุ่งขึ้นไปถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โตขึ้นกว่า 277 % จากเมื่อต้นปีที่ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตแซงหน้ายักษ์ใหญ่เจ้าเดิมในระบบ Payment อย่าง VISA, Mastercard และสถาบันการเงิน อย่าง JPMorgan Chase ธนาคารอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ภาพรวมของการเทรดคริปโตเคอร์เรนซี่ในตลาดโลกมีมูลค่าตลาดรวม 7.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โตขึ้นกว่า 236% จากเมื่อต้นปีซึ่งอยู่ที่ 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา : coinmarketcap.com ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2563)
“ปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ราคาบิตคอยน์กลับมาทำสถิติราคาสูงสุดที่ 28,354 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา : cointelegraph ราคา ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2563) นั้นเกิดจากนักลงทุนสถาบัน และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างกระจายความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง นำเงินไปลงทุนในบิตคอยน์เพื่อเป็นสินทรัพย์คงคลังสำรอง (Reserve Asset) ซึ่งสินทรัพย์อื่นๆ เช่น น้ำมัน ทอง หรือหุ้นต่างให้ผลตอบแทนไม่ดีเท่าบิตคอยน์ ที่โดยเฉลี่ยจะได้ผลตอบแทน 6.5% ต่อเดือน” ปรมินทร์ กล่าว และเสริม
“นอกจากโควิด-19 แล้ วอีก 2 ปัจจัยที่มีผลทางจิตวิทยาทำให้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่อยู่ในความสนใจของผู้คนมากขึ้นก็คือ ความเป็นไปได้ของ Facebook Coin ที่พลิกแผนธุรกิจจาก Libra รีแบรนด์เป็น Diem ที่เปลี่ยนแนวคิดในการสร้างเหรียญโดยจะใช้ดอลลาร์สหรัฐตรึงมูลค่าเพียงสกุลเดียว จากแผนเดิมในรูปแบบตะกร้าเงินหลายสกุล เพื่อลดความกังวลของหน่วยงานกำกับทั่วโลก
ปัจจัยสุดท้ายก็คือ การเกิดขึ้นของ Central Bank Digital Currency (CBDC) เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางทั่วโลกที่กำลังเร่งศึกษาและทดลองใช้ อย่างในกรณีดิจิทัลหยวนของจีนซึ่งอยู่ในระหว่างทดลองใช้งานกับประชาชนใน 3 เมืองหลักของจีน”
ปรมินทร์ วิเคราะห์ว่า ในปี 2564 บิตคอยน์จะเป็นที่ต้องการในตลาดราคาของบิตคอยน์มีแนวโน้มขึ้นไปถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ก็จะยังคงคึกคัก จากการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยเศรษฐกิจโดยรวมยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้น ความต้องการขายเพื่อ cash out นำเงินสดมาดำรงชีวิตประจำวัน รวมทั้งการรักษาธุรกิจยังคงมีอยู่ ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายต้องหาทางกระจายความเสี่ยงสภาพคล่องมาลงทุนโดยใช้บิตคอยน์เป็น Reserve Asset จึงทำให้มีการซื้อล็อตใหญ่ๆ เป็นหลายๆ รอบ
สำหรับคำแนะนำสำหรับนักลงทุนรายย่อยก็คือ คาดว่าราคาของบิตคอยน์จะคงอยู่ที่ 20,000-26,000 ดอลลาร์สหรัฐไปจนถึงต้นเดือนมกราคม หลังจากนั้น จะมีโอกาสลงมาปรับฐานและหลังจากเดือนเมษายนก็อาจมีการปรับตัวขึ้นอีกรอบ ดังนั้น ต้องระวังไม่ถือยาว ต่อเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น จึงเล่นตามเทรนด์ของตลาด อย่างไรก็ตาม ต้องบริหารความเสี่ยงและการลงทุนให้ดี เนื่องจากธรรมชาติของคริปโตเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความผันผวนสูง