“ส.ว.สถิตย์” ชี้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล หลายประเทศเริ่มทดลองใช้ ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มทดลองใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนโอนเงินระหว่างธนาคารและบริษัทขนาดใหญ่ ก่อนให้บริการประชาชนในขั้นต่อไป ซึ่งต้องวางสมดุลเรื่องความปลอดภัยของระบบ การพิสูจน์ตัวตน และกฎหมายกำกับดูแลให้เหมาะสม
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา กล่าวในงานสัมมนา Blockchain Thailand Genesis 2020 เรื่อง สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง กับการปรับตัวครั้งใหญ่ของรัฐบาลทั่วโลก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ว่า เพื่อจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลสู่ดิจิทัล สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC : Central Bank Digital Currency) ของภาคการเงินการธนาคารจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ CBDC คือ เงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ออกโดยธนาคารกลาง โดยกำหนดให้มีมูลค่าไม่ต่างจากเงินสดที่ใช้ในปัจจุบัน หรืออาจกำหนดให้นำไปใช้ในวงจำกัดเพื่อวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน
ในทางทฤษฎีธนาคารกลางสามารถออกแบบ CBDC ในหลายลักษณะ เช่น แบบสำหรับธุรกรรมที่มีมูลค่าสูงระหว่างสถาบัน (Wholesale) เช่น การชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน (Interbank payment) เท่านั้น คนทั่วไปไม่สามารถใช้ได้ และแบบสำหรับธุรกรรมรายย่อย (Retail) หรือแบบที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้
ดังนั้น CBDC จึงมีลักษณะแตกต่างจาก Crypto หรือสกุลดิจิทัลที่เอกชนเป็นผู้ออก เช่น Bitcoin และ Ripple โดย Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกในลักษณะที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ออกได้ โดยให้บุคคลทั่วไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกหรือกระบวนการขุด ส่วน Ripple เป็นการออกโดยองค์กรธุรกิจหรือภาคเอกชนที่สามารถระบุตัวผู้ออกได้ชัดเจน
CBDC ยังเป็นการเพิ่มบทบาทให้ธนาคารกลางด้วย เนื่องจากการจัดทำ CBDC จะใช้ BlockChain จะทำให้ทุกคนในระบบเชื่อมถึงกันโดยตรง (peer-to-peer) และระบบสามารถจดบันทึกธุรกรรมการโอน (Record & Timestamp) ของผู้ถือเหรียญแต่ละคนในระบบ (Nodes) ได้อย่างถูกต้องและโปร่งใส ดังนั้น ความจำเป็นที่ต้องมีธนาคารพาณิชย์ในฐานะผู้ทำหน้าที่รับ/โอนเงิน ปรับยอดบัญชี หรือจดแจ้งการโอนจึงหมดไป โดยระบบ BlockChain จะจดแจ้งการโอนในลักษณะกลุ่ม ซึ่งทุกคนในระบบจะจดแจ้งการโอนไปพร้อมๆ กัน โดยข้อมูลต่างๆ จะถูกรวมศูนย์ที่ธนาคารกลาง ซึ่งเท่ากับว่า ธนาคารกลางจะอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกันกับทุกคนในระบบ และอาจตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเงินดิจิทัลทั้งระบบได้
ประเทศสาธารณรัฐเอสโตเนีย โดยธนาคารกลางของเอสโตเนียเริ่มดำเนินการวิจัยสกุลเงินดิจิทัล พร้อมๆ กับธนาคารกลางยุโรปหลายประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ ในปี 2557 ได้มีการประกาศแผนการใช้สกุลเงินดิจิทัลชื่อ “เอสต์คอยน์” โดยมุ่งเป้าไปที่พลเมืองดิจิทัลของตนเองจากโครงการ E-Residency โดยชาวต่างชาติที่เปิดบริษัทในเอสโตเนียโดยที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในประเทศลักษณะดิจิทัล นอมาด (Digital Nomad) อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรปขอให้เอสโตเนียระงับเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเงินสกุลยูโรต้องเป็นสกุลเงินหนึ่งเดียวเท่านั้นของสหภาพยุโรป เพราะฉะนั้น เอสโตเนีย อาจต้องทำประชาพิจารณ์หรือประชามติหากต้องการเดินหน้าโครงการเอสต์คอยน์ต่อไป
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลแบบทั่วไป (Retail) 4 เมืองใหญ่คือ เซินเจิ้น ซูโจว เฉิงตู และเขตพัฒนาพิเศษสงอัน โดยวางเป้าหมายที่จะใช้เงินหยวนดิจิทัลแทนเงินสดทั้งหมดในอนาคต ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า หยวนดิจิทัลอาจสั่นคลอนสถานะของดอลลาร์สหรัฐที่ครองความเป็นเจ้าสกุลเงินของโลกมานานหลายทศวรรษ และเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาของยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวแล้ว โดยสาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังยกระดับเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ในด้านความสามารถในการแข่งขันและการขับเคลื่อนประเทศ สู่การเข้าควบคุมเศรษฐกิจโลก
สำหรับประเทศไทยแล้ว มีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว ซึ่งออกโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทดลองใช้เงินดิจิทัลแล้ว ภายใต้โครงการอินทนนท์ เริ่มจากสร้างระบบต้นแบบโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (BlockChain) เพื่อให้บริการการโอนเงินระหว่างธนาคารในประเทศ (Wholesale) รวมถึงบริการการโอนเงินไปยังสถาบันการเงินในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate) เช่น เอสซีจี (SCG) โดยจะมีการให้บริการแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (Retail) ในระยะต่อไป
การสร้างสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง ในระยะแรก ประเทศต่างๆ ไม่ได้ประสงค์ให้ทดแทนเงินสดแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่น ดิจิทัลหยวนของจีน ที่รัฐบาลได้ออกมาประกาศชัดเจนว่าเงินหยวนในแบบดิจิทัลจะถูกใช้ควบคู่กับหยวนที่เป็นเงินสด เช่นเดียวกัน เงินดิจิทัลสกุล Prizm ของภูฏานก็ยังคงใช้ควบคู่กับเงินสกุลงุลตรัม
ท้ายที่สุด การจัดทำสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง (CBDC) ไม่ว่าจะในรูปแบบใด การวางสมดุลที่เหมาะสมในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของระบบ การพิสูจน์ตัวตน และกลไกของกฎหมายกำกับดูแล เป็นเรื่องที่ผู้กำกับตรวจสอบไม่อาจมองข้ามได้