xs
xsm
sm
md
lg

โค้งสุดท้าย Brexit อังกฤษ-อียูบรรลุข้อตกลง

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตอนต้นปีจนถึงปัจจุบัน เป็นเรื่องใหญ่แห่งปีที่กลบเรื่องอื่นๆ ไปเกือบหมด รวมทั้งการเจรจาข้อตกลงหลังสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ “ เบร็กซิต” ที่จะต้องมีข้อยุติภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ที่หายไปจากกระแสข่าว จนกระทั่งสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนจะถึงเส้นตาย จึงกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งว่า อังกฤษจะออกจากอียูแบบมีข้อตกลงหรือไม่มีข้อตกลง

หากออกแบบไม่มีข้อตกลง เพราะทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจากันได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 เป็นต้นไป ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายจะเป็นอย่างไร จะสร้างความปั่นป่วนโกลาหลให้กับเศรษฐกิจ และชีวิตของประชาชนทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะคนอังกฤษจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายๆ เรื่อง หลังจากที่อยู่ร่วมกันมาเกือบครึ่งศตวรรษ

หลังจากการเจรจากันข้ามคืนจนล่วงเข้าวันใหม่ของวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม 2020 ทั้งสองฝ่ายก็บรรลุข้อตกลง เป็นอันว่า เบร็กซิต ซึ่งทางนิตินัยเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้ แต่มีระยะเปลี่ยนผ่าน 11 เดือน เพื่อให้เจรจาหากติกาสำหรับความสัมพันธ์ใหม่มีผลสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้า

ประเด็นใหญ่ของการเจรจากันคือ ข้อตกลงการค้า ซึ่งมีข้อสรุปว่า เหมือนเดิม คือ ทั้งอียู และอังกฤษยังอยู่ในระบบตลาดเดียว (Single Market) และสหภาพศุลกากร (Custom Union) กล่าวคือ การส่งออก นำเข้าสินค้า “ส่วนใหญ่” ระหว่างกัน ยังเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีไม่มีการเก็บภาษี ไม่มีการกำหนดโควตา

ที่เปลี่ยนแปลงคือ สินค้าส่งออกของอังกฤษ โดยเฉพาะอาหาร และสินค้าเกษตร จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของอียู เช่น เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย สุขอนามัย แหล่งกำเนิดสินค้า ฯลฯ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ต้องการส่งสินค้าเข้าไปขายในอียู ซึ่งตรงนี้จะทำให้การทำธุรกิจกับอียูยากขึ้น เพราะมีกฎระเบียบมากมาย และทำให้ต้นทุนเพิ่ม

การค้าด้านบริการ (ภาคการเงิน) ยังไม่มีความชัดเจนมากนักสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจภาคบริการทางการเงิน เนื่องจากยังไม่มีการตัดสินใจในเรื่อง “การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน” ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถให้บริการทางการเงินจากอังกฤษไปยังประเทศต่างๆ ในตลาดร่วมยุโรปภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน ข้อตกลงใหม่เพียงระบุกฎเกณฑ์มาตรฐานสำหรับบริการทางการเงิน แต่ไม่ได้รวมถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงและช่องทางเข้าถึงตลาด ทั้งอังกฤษและอียูยังจะต้องเจรจากันเพิ่มเติมในเรื่องนี้

การทำงานของบุคลากรวิชาชีพไม่มีการรับรองโดยอัตโนมัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคลากรด้านวิชาชีพระหว่างอังกฤษและอียูอีกต่อไป โดยฝ่ายอียูระบุว่า แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ วิศวกร หรือสถาปนิกของอังกฤษ จะต้องขอใบรับรองคุณสมบัติด้านวิชาชีพจากแต่ละประเทศสมาชิกอียู ที่พวกเขาประสงค์จะเข้าไปทำงาน

ประเด็นนี้นับเป็นความสูญเสียของฝ่ายอังกฤษที่ไม่ต้องการอุปสรรคใดๆ “ที่ไม่จำเป็น” มากีดกั้นการบริการด้านวิชาชีพที่มีการกำกับดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงฉบับใหม่มีการระบุถึงกรอบสำหรับการรับรองคุณสมบัติของบุคลากรวิชาชีพสำหรับอังกฤษเอาไว้ด้วย

การเดินทางเพื่อธุรกิจมีบทบัญญัติระบุไว้ภายใต้ข้อตกลงฉบับใหม่เกี่ยวกับการเดินทางเพื่อการทำธุรกิจของคนอังกฤษหรือบริษัทอังกฤษในอียู หลังจากที่ระยะเวลาแห่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้บุคคลอังกฤษที่เดินทางไปอียูเพื่อการทำธุรกิจในช่วงเวลาสั้นๆ สามารถเยือนอียูได้ 90 วัน นอกจากนี้ บุคคลอังกฤษที่เยือนอียูเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจเพื่อการจัดตั้งบริษัท ยังไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตการทำงานในช่วงเวลานั้นด้วย

กฎเกณฑ์ว่าด้วยการทำประมงประเด็นนี้มีการถกเถียงกันมาก ความต้องการมีอำนาจอธิปไตยในการทำประมงเหนือน่านน้ำของตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อังกฤษต้องการแยกตัว

ภายใต้ข้อตกลงใหม่เรือประมงของอังกฤษจะได้รับโควตาการทำประมงในน่านน้ำอังกฤษ 25% คืนมาจากอียู คิดเป็นมูลค่า 146 ล้านปอนด์ หรือราว 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะค่อยๆ ทยอยได้คืนในระยะเวลา 5 ปี (ตอนแรกเริ่มเจรจาอังกฤษขอคืน 80% แต่มีการประนีประนอมในที่สุดเพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลง) มีกรอบเวลา 5 ปีครึ่งสำหรับช่วงของการเปลี่ยนผ่าน แต่ในระหว่างนี้สิทธิในการเข้าไปทำประมงในน่านน้ำของกันและกันยังคงอยู่

ข้อตกลงนี้ ยังมีผลบังคับอย่างเป็นทางการ เพราะต้องให้รัฐสภา และฝ่ายบริหาร ของประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศ เห็นชอบเป็นรายประเทศ ทุกประเทศด้วย ภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น