ความร้อนแรงของ หุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA อาจปิดฉากลงแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากวิ่งมาราธอน จนสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ราคา 838 บาท
ก่อนถูกถล่มขายจนทรุดฮวบลงมาปิดที่ 560 บาท และภายในวันเดียวราคาหุ้นพลิกผันขึ้นลงเกือบ 300 บาท นักลงทุนที่ขายหุ้นออกไม่ทัน รอบนี้ต้องเจ็บหนัก
DELTA สร้างตำนานเป็นสุดยอดหุ้นแห่งปี โดยราคาปิดเมื่อสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 53.50 บาท และช่วงเกิดวิกฤต “โควิด-19” ลงไปต่ำสุดที่ 27 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มพุ่งทะยานจนขึ้นไปสูงสุดระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 28 ธันวาคม โดยพุ่งขึ้นไปยืนที่ 838 บาท
เมื่อเทียบกับจุดปิดสิ้นปี 2562 กับจุดสูงสุดที่ 838 บาท หุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 784.50 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น1,466.35% หรือ 14.66 เท่า
แต่ถ้าเทียบกับจุดต่ำสุดที่ 27 บาท หุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 811 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,003.70% หรือ 30.03 เท่า
หุ้นที่ดีดตัวขึ้นอย่างร้อนแรงภายใน 1 ปี ผลตอบแทนถึง 14 เด้ง ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย โดย DELTA อาจเป็นหุ้นตัวแรกในรอบหลายทศวรรษที่ให้ผลตอบแทนเกินกว่า 1,000% ภายใน 1 ปี
ก่อนถูกทุบจนดิ่งลงเหว DELTA วิ่งจากราคา 346 บาท หรือราคาปิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ 838 บาท โดยภายใน 8 วันทำการ ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 492 บาท หรือเพิ่มขึ้น 142.19%
ราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นแรงและต่อเนื่องนับสัปดาห์ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องสอบถามไปยังบริษัทว่า มีพัฒนาการด้านการดำเนินงานใดที่ส่งผลต่อราคาหุ้นหรือไม่ ซึ่ง **ฝ่ายบริหาร DELTA ชี้แจงกลับก่อนเปิดการซื้อขายวันที่ 28 ธันวาคม ระบุว่า บริษัทไม่มีพัฒนาการใดที่ส่งผลต่อการซื้อขายหุ้น**
แม้ DELTA จะปฏิเสธว่า ไม่มีข่าวดีใดๆ แต่ราคาหุ้นยังพุ่งทะยานต่อเนื่อง โดยช่วงแรกของการซื้อขายวันที่ 28 ธันวาคม ราคาแตะที่ 838 บาท และ ถูกถล่มขายจนปักหัวลง ฉุดให้ดัชนีหุ้นรูดตาม และปิดที่ 1,452.67 จุด ติดลบ 33.64 จุด ทั้งที่ระหว่างชั่วโมงซื้อขาย ดัชนีหุ้นทะลุขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,500 จุดแล้ว
ทำไมหุ้น DELTA จึงรูดลงแรงคงไม่มีใครให้คำตอบได้ เช่นเดียวกับเวลาที่หุ้นตัวนี้พุ่งทะยาน ซึ่งหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น DELTA ที่ผันผวนรุนแรง จากแตะ 838 บาท ภายในพริบตาทรุดลงเหลือเพียง 560 บาท นักลงทุนรายย่อยคงไม่มีใครเจ็บตัวสักเท่าไหร่
เพราะรายย่อยน่าจะเผ่นขายหุ้นทิ้ง ทุบทำกำไรไปเกือบหมดแล้ว ตั้งแต่ราคาหุ้นทะลุ 400 บาท จะเหลือนักลงทุนรายย่อยที่ “ใจหิน” ถือหุ้นต่อจนทะลุ 800 บาทเพียงไม่กี่รายเท่านั้น
แรงซื้อที่ผลักดันราคาหุ้นพุ่งเฉียดทะลุ 1,000 บาท จึงไม่ใช่ฝีมือของรายย่อยหรือขาใหญ่ในประเทศ แต่น่าจะเกิดจากนักลงทุนขาใหญ่ต่างประเทศที่เห็นโอกาสในการลากหุ้น เพื่อรอขายกองทุนในประเทศและต่างประเทศ
ขาใหญ่กลุ่มนี้ต้องมั่นใจว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ DELTA จะไม่ขายหุ้นออกมามนเวลาที่ลากหุ้นขึ้นไป จึงลากหุ้นโดยไม่คำนึงว่าราคาจะแพงขนาดไหน ไล่ราคาหุ้นโดยไม่กลัวถูกทุบ
เบื้องหลังการลากหุ้นเกิดจากการที่ DELTA จะถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี 50 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งจะ ทำให้กองทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องเข้ามาซื้อหุ้น DELTA เข้าถ่วงน้ำหนักในพอร์ตการลงทุน
เพราะหากไม่มี DELTA ในพอร์ต เมื่อราคาหุ้น DELTA ปรับตัวขึ้น กองทุนอาจมีผลตอบแทนสู้กองทุนอื่นไม่ได้ ผู้จัดการกองทุนอาจถูกปลดได้
กองทุนจึงเหมือนถูกบังคับให้ต้องซื้อหุ้น DELTA
ดังนั้น ขาใหญ่ที่ลากหุ้น DELTA จึงเห็นโอกาส และไล่ซื้อหุ้น ลากราคาชนิดที่ไม่กลัวตาย เพราะยังไงหลัง 1 มกราคมปีหน้า ก็สามารถขายหุ้นให้กองทุนได้
เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับหุ้น บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY ก่อนถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี 100 มีขาใหญ่ที่ไม่กลัวเจ้ามือทุบหุ้น ลากหุ้น BEAUTY ไปกว่า 20 บาท ทำให้กองทุนต้องซื้อหุ้นเข้าพอร์ตในต้นทุนที่สูง และ ขาดทุนหนักกันถ้วนหน้า
เพราะล่าสุด BEAUTY ทรุดลงมาเหลือประมาณ 1.57 บาทเท่านั้น
ไม่มีใครบอกได้ว่าทิศทางหุ้น DELTA จะเป็นอย่างไร แต่สำหรับการลากหุ้นสู่ยอดดอยในรอบนี้น่าจะปิดฉากลงแล้ว
เพราะ "ขาใหญ่" ที่ไม่กลัวเจ้ามือ DELTA บรรลุเป้าหมาย โดยเก็บหุ้นกักตุน และลากหุ้นไปเพื่อทำราคา รอตีหัวกองทุนที่จำเป็นต้องซื้อ DELTA ถ่วงไว้ในพอร์ตแล้ว
งานนี้นักลงทุนรายย่อยไม่เกี่ยว และไม่น่าจะเจ็บตัว เพราะส่วนใหญ่เผ่นไปตั้งแต่ DELTA ขึ้นมาแตะ 300 บาทแล้ว