3 สมาคมอสังหาฯ ยื่น 5 ข้อเสนอแนะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคธุกิจอสังหาฯ ต่อ กระทรวงการคลัง เชื่อรัฐหนุนต่อมาตรการเดิม พร้อมเพิ่มเติมมาตรการกระตุ้นตัวใหม่ วอนยกเลิก LTV ชั่วคราวช่วยลดยอดปฏิเสธสินเชื่อ ส่งเสริมประชาชนมีที่อยู่อาศัยของตนเอง เผยคืบหน้างานมหกรรมบ้านฯ ขยายเพิ่มพื้นที่จัดงานเป็น 3 ฮอลล์ หลังอสังหาฯ แห่ร่วมออกบูทกวาา 260 รายขนกว่า 1,000 โครงการร่วมบูม มั่นใจคนร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย คาดยอดขายในงานกว่า 4,000 ล้านบาท
นายชัยรัตน์ ธรรมพรี อุปนายกสมาคมอาคารชุดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโดครั้งที่ 42 กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา สมาคมคือสมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอแนะแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาฯ ต่อ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอมาตรการเร่งด่วน แก้ปัญหาและกระตุ้นผู้ซื้อเร่งตัดสินใจซื้อ ช่วยประคองสถานการณ์ตลาดในปัจุบัน
โดยทั้ง 3 สมาคมฯ ได้เสนอให้มีการต่ออายุมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ 5 ข้อ คือ 1.ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมการจดจำนองลงถึงอัตราต่ำสุด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ซื้อที่ยู่อาศัยในทุกประเภท ทุกระดับราคา ทั้งที่อยู่อศัยใหม่ และบ้านมือสองจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.64 และ 2.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการยกเลิกการบังคับใช้มาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนได้มากขึ้น โดยเชื่อว่ทุกสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย มีระบบการพิจารณาที่เข้มงวดอยู่แล้ว 3.ขอให้มีการประกาศขยายการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 9% ออกไปอีก 2 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.64 จนถึวันที่ 31 ธ.ค.65 เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการทั่วประเทศ
4.ขอให้ผู้ซื้อห้องชุดชาวต่างชาติได้รับวีซ่า โดยมีระยะเวลาตามมูลค่าของห้องชุด เช่น ห้องชุดมูลค่า 3-5 ล้านต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 5 ปี มูลค่า 5-10 ล้านต่อห้องได้รับวีซ่าเป็นเวลา 10 ปี มูลค่เกิน 10 ล้านบาทต่อห้องได้สิทธิถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย 5.ขอให้นำโครงการบ้านดีมีดาวน์ มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยที่ภาครัฐสนับสนุนเงินลดภาระการผ่อนดาวน์ในรูปแบบของ Cash Back ให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย กลับมาใช้อีกครั้ง และขอเพิ่มวงเงินจากเดิม 50,000 บาทต่อราย เป็น 100,000 บาทต่อราย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้มากขึ้น เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.64
ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลจะมีการต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาฯ พร้อมกันนี้ คาดว่าจะมีการออกมาตรการใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 64 อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ทั้ง 3 สมาคม ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการมากที่สุดคือ การยกเลิกมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและลดปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงิน
โดยที่ผ่านมา ผลจากมาตรการ LTV ทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นถึง 40% จากเดิมที่มีอัตราการเฉลี่ยตามปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงปกติอยู่ที่ 10-15% ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการกระตุ้นให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้อย่างแท้จริงจำเป็นต้องมีการยกเลิกมาตรการ LTV ออกไปชั่วคราวก่อน เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้บริโภคมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
นายชัยรัตน์ กล่าวถึง งานมหกรรมบ้านและคอนโดครั้งที่ 42 ว่า จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 มี.ค.64 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้มีการเพิ่มพื้นที่การจัดงานอีก 1 ฮอลล์ จากเดิมที่ใช้พื้นที่ในการจัดงาน 2 ฮอลล์ ขยายเป็น 3 ฮอลล์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการที่แสดงความจำนงเข้าร่วมออกบูทในงานดังกล่าว โดยขณะนี้มีบริษัทที่เข้าร่วมออกบูทในงานแล้ว 250 ราย หรือมีโครงการที่เตรียมจะออกบูทในงานกว่า 1,000 โครงการ
โดยในงานครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 100,000 ราย เนื่องจากในปีที่ผ่านมาผู้บริโภคมีการชะลอการตัดสินใจซื้อเพื่อรอเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในงานมหกรรมบ้านและคอนโด แต่งานได้มีการเลื่อนการจัดออกมา 2 ครั้งทำให้ในปีที่ผ่านมาไม่มีการจัดงานเกิดขึ้น ส่งผลให้ดีมานด์อั้นมาตั้งแต่ปีก่อน ประกอบกับงานในครั้งนี้ผู้ประกอบการที่ร่วมออกบูทเตรียมโปรโมชันพิเศษทั้งของแถมและส่วนลดราคาพิเศษจำนวนมาก เพื่อระบายสต๊อกสินค้าในมือออกไป ประกอบกับในงานมีสินค้าให้ลูกค้าเลือกซื้อจำนวนมาก ทำให้คาดว่าจะมียอดซื้อขายที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นในงานไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท