จับตาสถานการณ์ต่างประเทศ สร้างแรงกระเพื่อมในตลาดหุ้นไทย เชื่อเศรษฐกิจโลกต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้น แม้ตัวชี้วัดผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ชี้ปัจจัยหลักอยู่ที่จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หลายพื้นที่ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ยังสูง ขณะหลายประเทศกังวลการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ทำให้ยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนอีกครั้ง โบรกฯ เชื่อหลังประกาศผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ คาดแรงผลักดันให้ดัชนี ฯ SET INDEX ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงระดับ 1,300 จุดได้ ขณะแนวโน้มปี 2564 เคลื่อนไหวระดับ 1,400 จุด และภาวะอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำหนุนเม็ดเงินไหลเข้าตลาด แนะหุ้นที่ได้อานิสงส์การเลือกตั้งและ Social distancing
จากกรณีที่นาย “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ออกคำสั่งให้ตัวแทนของรัฐบาลหยุดเจรจามาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เพื่อหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐที่ซบเซาลงอย่างหนักจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ร่วมกันกับพรรคเดโมแครตที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งนัยยะของนายทรัมป์ ที่ได้แสดงท่าทีออกมานั้น เพื่อหวังสร้างเงื่อนไขในช่วงการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี เพื่อให้เลือกตนได้สืบทอดอำนาจเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยที่ 2 โดยประกาศว่าหากชนะเลือกตั้งครั้งนี้ จะผลักดันร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดจนมาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งการออกมาทวีตข้อความผ่านโซเชียลมีเดียของ ปธน.ทรัมป์ เกิดขึ้นเพื่อสร้างกระแสกดดันต่อภาคเศรษฐกิจ หลังจากที่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น “นายเจอโรม พาวเวล” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมา เรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากสหรัฐยังคงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น มิฉะนั้นส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ซึ่งสหรัฐยังคงจำเป็น ต้องมีการใช้มาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น
“แม้ว่าขณะนี้จะมีความคืบหน้าในการสร้างงาน และการบริโภค แต่ผู้ที่กำหนดนโยบายยังคงต้องเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป มิฉะนั้นจะส่งผลให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างยากลำบากชะงักงัน ไม่ประสบผลสำเร็จ และอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยในทางตรงกันข้ามจะมีความเสี่ยงน้อยมากจากการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป โดยหากเจ้าหน้าที่ดำเนินนโยบายมากกว่าที่จำเป็น สิ่งนี้ก็จะไม่สูญเปล่า โดยการฟื้นตัวจะแข็งแกร่งและรวดเร็วขึ้น หากมีการใช้นโยบายการเงินและการคลังควบคู่กันเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะวิกฤต" นายพาวเวลกล่าวต่อสมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐ (NABE)
เศรษฐกิจโลกฟื้น ต้องใช้เวลาอีกนาน
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวช้า แม้ตัวชี้วัดเศรษฐกิจโลกทำจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 และเริ่มฟื้นตัวในเดือน ก.ค. แต่อัตราการฟื้นตัวในระยะถัดไปจะเริ่มชะลอตัวลง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะดีดตัวกลับได้แรงจากที่ร่วงลงเเรงในฤดูใบไม้ผลิ โดยได้รับการสนับสนุนจากอุปสงค์ที่ถูกอั้นไว้ในช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) แต่ข้อมูลล่าสุดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ยอดค้าปลีก และดัชนีความเชื่อมั่นในประเทศที่ร่ำรวย ไปจนถึงตัวเลขส่งออกในประเทศที่กำลังพัฒนา บ่งชี้ว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นในตอนแรกสืบเนื่องมาจากการปลดล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-9 เริ่มแผ่วลงแล้วซึ่งช่วยยืนยันว่าเศรษฐกิจโลกจะใช้เวลาหลายเดือนจึงจะฟื้นตัว
“ปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังการชะลอตัวคือ จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ยังสูง แม้ว่าจะลดลงในระยะหลังนี้ ขณะที่ในยุโรปซึ่งหลายประเทศได้เปิดพรมแดนให้เดินทางได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ก็น่าเป็นห่วง ดังนั้นหลายๆ ประเทศจะต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นในวงกว้างเหมือนกับการระบาดรอบแรก ตราบใดที่เศรษฐกิจของประเทศหลักๆยังไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์โดยทั่วไป เศรษฐกิจโลกก็น่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่น่าจะดีดตัวขึ้นได้แรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน 2-3 เดือนก่อน
ขณะที่มาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังดำเนินมาถึงขีดสุด สัญญาณจากผู้จัดทำนโยบายทั่วโลกเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ว่าประเทศต่างๆ ต้องการที่จะชะลอการใช้นโยบายแบบผ่อนคลาย โดยวุฒิสภาสหรัฐฯ ยังไม่ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นการคลังรอบใหม่เพื่อสนับสนุนลูกจ้างในสหรัฐฯ ที่ต้องหยุดงานชั่วคราวตามที่วุฒิสภาจากพรรคเดโมแครตเสนอมา ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยวงเงินทั้งหมดจะอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในมาตรการก่อนหน้านี้
ด้านนโยบายการเงิน การปรับเปลี่ยนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED จากระดับเป้าหมายที่ 2% เป็นอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ได้ในบางช่วงเวลา ถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกสักพัก แม้คาดว่าเฟดจะยังไม่มีแผนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566 แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ศูนย์แล้ว และเฟดยังไม่พร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่แดนลบ ดังนั้นจึงมีช่องสำหรับผ่อนคลายนโยบายการเงินอีกไม่มากนัก ขณะเดียวกันมีความไม่แน่นอนมากขึ้นในเหตุการณ์ด้านการเมืองที่กำลังจะมาถึง คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ Brexit ในสหรัฐฯ ซึ่งชาวอเมริกันจำนวนมากกังวลว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.อาจจะไม่ราบรื่น แต่อาจจะเกิดเหตุขัดแย้งรุนแรงและวิกฤตรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดีนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจจะเข้มงวดมากขึ้น ถ้านายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงดำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี เนื่องจากไบเดนวางแผนที่จะปรับเพิ่มการขาดดุลการคลัง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 10 ปี เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายของรัฐในส่วนของสวัสดิการสังคมและโครงการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพราะไบเดนวางแผนจัดหาเงินทุนสนับสนุนการเพิ่มขาดดุลการคลังด้วยการเพิ่มรายได้ภาษีสู่ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตามแผนของไบเดน ระบุว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะปรับขึ้นจากอัตราสูงสุดที่21% สู่ 28% อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะปรับขึ้นจากอัตราสูงสุดที่ 37% สู่ 39.6% และไบเดนจะเน้นเก็บภาษีคนรวยซึ่งยังไม่ได้กำหนดอัตราที่แน่นอน ถ้านโยบายภาษีเหล่านี้มีผลบังคับใช้ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางอาจจะได้รับผลกระทบ
หุ้นที่ได้รับอานิสงส์ สหรัฐฯ คงนโยบาย Social distancing
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่าจากการที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปิดเผยต่อสาธารณะชนว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทาง บล.ทรีนีตี้มีมุมมองว่าการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงแรกหลังจากที่มีข่าวว่า ปธน.ทรัมป์ของสหรัฐฯ ติดเชื้อโควิด-19 นั้นเป็นแสดงท่าทีออกมาในลักษณะที่รุนแรงจนเกินไป แต่อย่างไรก็ดีประเมินว่า การปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวและราคาน้ำมันนั้นสมเหตุสมผลแล้ว เนื่องจากการติดเชื้อโควิด-19 ของนายทรัมป์นั้น มีโอกาสทำให้ธีมการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Social distancing ในสหรัฐฯ มีโอกาสถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามการ การเว้นระยะทางสังคม” หรือ Social Distancing : ซึ่งส่งผลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ ณ ขณะนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถไว้วางใจได้เลย เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยยังคงมีการปรับตัว สูงขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีเหตุให้เชื่อว่ามาตรการ Lockdown อย่างจริงจังรอบ 2 ในสหรัฐฯ คงจะไม่เกิดขึ้น แต่นโยบาย Social distancing โดยการให้ทำงานจากบ้านหรือเรียนออนไลน์นั้นน่าจะมีอยู่ต่อไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงการติดเชื้อที่อาจเพิ่มขึ้น
กลุ่มสินค้าที่จะได้ประโยชน์
จากการตรวจสอบของ บล.ทีนีตี้ ต่อประเภทสินค้าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯในช่วงที่สหรัฐฯมีการ Lockdown อย่างเข้มข้นตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคมนั้น จะพบว่ามีหลายหมวดสินค้าที่มีการขยายตัวอย่างน่าสนใจ ซึ่งน่าจะเป็นสินค้าที่ได้ประโยชน์จาก หากธีม Social Distancing ในสหรัฐฯยังคงดำรงอยู่ต่อไป อย่างอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง โดยหุ้นที่เกี่ยวข้องได้แก่ ASIAN, ฟิลม์ที่ใช้ผลิตสินค้าจำพวกบรรจุภัณฑ์อาหาร มองหุ้นที่เกี่ยวข้องอย่าง PTL และ ประเมินอุปสงค์ต่อการใช้ถุงมือยางในบริการสาธารณสุข น่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไป จากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกที่ Active นั้นยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง มองหุ้นที่เกี่ยวข้องได้แก่ STGT
ขณะที่ กลุ่มธุรกิจ HORECA ซึ่งคาดว่าหุ้นกลุ่มที่อาจได้รับ Sentiment เชิงลบช่วงสั้นได้แก่กลุ่มธุรกิจที่ประกอบไปด้วย ธุรกิจโรงแรม (Hotel) ร้านอาหาร (Restaurant) กาแฟและธุรกิจจัดเลี้ยง (Cafe and Catering) ตลอดจนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การท่องเที่ยว เช่นกลุ่มสายการบิน กลุ่มน้ำมัน รวมถึงร้านอาหารทั้งหลาย เนื่องจากคนบางกลุ่มในสหรัฐฯอาจยังคงจำกัดเวลาการออกมาใช้ชีวิตภายนอกต่อไป โดยสำหรับราคาน้ำมันนั้นมีโอกาสได้รับผลกระทบเชิงลบในระยะกลางต่อไป หากความเป็นไปได้ที่จะเกิดกรณี Blue sweep นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากนายโจ ไบเดนมีโอกาสที่จะยกเลิกมาตรการสนับสนุนพลังงานดั้งเดิมจำพวก ถ่านหินและน้ำมัน ในอนาคตได้
ไทยเสี่ยงสูง โควิด-19 ระบาดรอบสอง
แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ผ่อนปรนข้อจำกัดส่วนใหญ่สำหรับภาคธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 แต่ยังคงบังคับใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการเดินทางเข้าออกระหวางประเทศทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าธุรกิจในประเทศทั้งหมด กลับมาดำเนินงานตามปกติแล้ว ขณะที่กิจกรรมต่างๆ ยังคงมีน้อยกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 ซึ่งแผนการที่รัฐบาลไทยจะกลับมาเปิดประเทศอย่างระมัดระวัง โดยวางแพลนที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,200 คนต่อเดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 และเชื่อว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับการระบาดรอบสองของโควิด-19 จากเหตุผล 3 ประการคือ ประชาชนให้ความสำคัญต่อการป้องกันการติดเชื้อลดน้อยลง,ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ข้ามชายแดนมาเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ โดยส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมา และจะมีผู้ป่วยเข้ามาจากนักท่องเที่ยวภายใต้โครงการ Special Tourist Visa
“เราเชื่อว่ารัฐบาลจะทยอยประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในบางพื้นที่ ในกรณีที่เกิดการระบาดภายในประเทศรอบใหม่ ซึ่งจะสร้าง sentiment เชิงลบต่อหุ้นกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง ศูนย์การค้า และสถาบันการเงิน แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกปรับตัวลดลง แต่เราแนะนำให้ลดการถือครองหุ้นกลุ่มที่ราคาฟื้นตัวขึ้นมาค่อนข้างแรง เช่น หุ้นกลุ่มโรงแรม หุ้นกลุ่มศูนย์การค้า หุ้นกลุ่มสายการบิน หุ้นกลุ่มขนส่งทางบกและทางราง และหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยหากไม่มีการระบาดรอบสอง กลุ่มเหล่านี้จะมี upside จำกัด และขาดปัจจัยบวกกระตุ้นราคาหุ้น ดังนั้นผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงจึงดูไม่น่าสนใจที่ระดับปัจจุบัน”
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
ประมาณการเศรษฐกิจไทยในกรณีของเศรษฐกิจไทย ความเสี่ยงมีมากขึ้นจาก GDP ในไตรมาส 2/63 หดตัวลง 12.2% จากปีก่อน ลดลงเกือบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกรทบมากที่สุด คือ กลุ่มท่องเที่ยวซึ่งหดตัวลง50% และกลุ่มขนส่ง (ลดลง 39%) โดยมีสาเหตุมาจากมาตรการห้ามการเดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนค่อนข้างมากใน GDP ดังนั้น การหดตัวลงของสองกลุ่มนี้จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวม และจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในวงกว้างทั่วโลกส่งผลทำให้เชื่อว่ารัฐบาลอาจจะไม่สามารถอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้เหมือนเช่นก่อนหน้านี้
ดังนั้น ปัจจุบัน จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงมากขึ้น จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ -5.9% เป็น -7.8% โดยมองว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัย 3 ประการคือ (1) จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 จะกลับมาเพิ่มขึ้นทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่สามารถอนุญาตให้นักทองเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยได้ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้อยู่ที่ 6.7 ล้านคน (เท่ากับ 4 เดือนแรกของปีนี้) และรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยว 3.3 พันล้านบาทต่อปี หดตัวลง 83% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตามใน ช่วงหลังของการประกาศผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ออกมาแล้ว คาดว่าน่าจะมีแรงผลักดันให้ดัชนี ฯ SET INDEX ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงที่ระดับ 1,300 จุดได้ ขณะที่แนวโน้มปี 2564 ประเมินว่าดัชนี SET INDEX จะขยับขึ้นไปได้ไม่ไกลจากเดิมมากนัก โดยอาจเคลื่อนไหวที่ระดับ 1,400 จุด โดยประเด็นสำคัญของการที่จะต้องโฟกัสได้แก่ ความชัดเจนเรื่องการผลิตวัคซีนรักษาโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ตลาดผ่อนคลายความกังวลลง และส่งผลต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น ขณะที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกแม้ว่าปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำจนถึงปี 2566 ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น
หุ้นตัวไหน ? หลุมหลบภัยช่วงโควิด
ทั้งนี้ ยังคงคำแนะนำการปรับพอร์ต ลงทุนหุ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 โดยโฟกัสหุ้นรายตัว เน้น defensive ที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ BAM, BDMS, CBG, EGCO และ GFPT , หุ้นขนาดเล็กที่มีทิศทางการการเติบโตโดดเด่นอย่างมีนัยยะสำคัญและผลประกอบการมีแนวโน้มแข็งแกร่ง เช่น AUCT, IIG, PRIME, SVI, WICE และ ZIGA และหุ้นประเภทTactical ที่ปรับตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลก และวัฏจักรเศรษฐกิจในประเทศที่มีคุณภาพดี เช่น AP, PTT และ TOP