"กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร-KKP" เผยผลประกอบการครึ่งปีแรกในภาวะโควิด-19 ดีกว่าคาดการณ์ ด้วยแรงหนุนจากรายได้ธุรกิจตลาดทุน ซึ่งพุ่งขึ้นตามสภาวะตลาด และบล.ภัทร ยังคงครองมาร์เกตแชร์อันดับ 1 ด้านธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ในขณะที่ธุรกิจธนาคาร สินเชื่อเติบโตร้อยละ 5 ในเกือบทุกประเภทยกเว้นเอสเอ็มอี โดยมีลูกหนี้ที่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 40 ของสินเชื่อทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจเชื่อผลกระทบยังไม่สิ้นสุด ตั้งสำรองเต็มที่ พร้อมติดตามใกล้ชิด สำหรับสถานการณ์คุณภาพสินเชื่อหลังหมดระยะมาตรการช่วยเหลือ
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยในงานแถลงข่าวผลประกอบการครึ่งปีแรก 2563 ว่า แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรก สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซา แต่ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจถือว่าออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ ส่วนหนึ่งมาจากรายได้จากค่าธรรมเนียมของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งออกมาดีตามสภาวะตลาดหุ้นที่ฟื้นตัวจากไตรมาส 1 ปี 2563 ไม่ว่าจะในส่วนของธุรกิจนายหน้าค้าขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าสถาบันและลูกค้าบุคคลรายใหญ่ ซึ่ง บล.ภัทร ยังคงส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 หรือธุรกิจการลงทุน ทั้งการลงทุนระยะกลางและระยะยาว (Direct Investment) และการลงทุนระยะสั้นผ่านฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivatives Trading) ซึ่งทำผลกำไรรวมกว่า 658 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจคาดว่าผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะในแง่ของระยะเวลาที่ยังต้องใช้ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หรือโอกาสของการกลับมาซ้ำระบาดของโรค ดังนั้น จึงได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อธุรกิจตลาดทุนหรือธุรกิจอื่นๆ อย่างเต็มที่ นอกจากนั้น ในระยะที่ผ่านมา เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ธนาคารเกียรตินาคินยังได้ร่วมกับมาตรการของภาครัฐและออกมาตรการของธนาคารเองในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการขยายเวลาชำระหนี้ คิดเป็นร้อยละ 40 ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 250,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อรายย่อยร้อยละ 30 และสินเชื่อธุรกิจร้อยละ 10 โดยในส่วนนี้ธนาคารก็จะยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบ และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่องต่อไป
สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนั้น จากสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับมาตรการที่ผ่อนคลายให้แก่ลูกหนี้จะทยอยหมดลง น่าจะส่งผลต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ขยับเพิ่มมาที่ประมาณ 3.9% จากครึ่งปีแรกที่ 3.4% Credit Cost เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 2.5% จากครึ่งปีแรกที่ 2.32% อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงอัตราการเติบโตของสินเชื่่อปีนี้ที่ระดับ 7-9% จากครึ่งปีแรกที่เติบโตได้ 5% โดยแนวทางหลักยังคงเดิมคือการบริหารธุรกิจอย่างกระจายตัวเพื่อลดความเสี่ยง โดยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจตลาดทุนที่ยังขยายตัวได้ดีก็ช่วยชดเชยรายได้จากธุรกิจธนาคารที่ชะลอลงได้ระดับหนึ่ง เป็นผลจากแนวทางที่ทางกลุ่มได้ทำมาตลอด
"ยอดคงค้างสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกนั้น เป็นผลมาจากการพักชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เข้าโครงการทำให้ค่างวดที่ต้องหักออกไปยังคงอยู่ แต่หากหักส่วนดังกล่าวยอดคงค้างโตเป็น 0% เพราะสินเชื่อใหม่หดตัวลง ซึ่งเป้าหมายสินเชื่อเติบโตทั้งปีดังกล่าวก็มีส่วนจากกรณีดังกล่าวด้วย แต่ก็อาจจะมีส่วนเพิ่มขึ้นบ้างจากลูกหนี้รายใหญ่ที่กลับมาใช้สินเชื่อแบงก์เพราะระดมทุนจากตราสารหนี้ได้ยาก"
นายอภินันท์ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากมาตรการพักชำระหนี้-ดอกเบี้ยแล้ว ก็คงต้องดูว่ารายไหนมีความสามารถในการชำระหนี้กลับมาหรือไม่ ถ้าไม่กลับก็มีรูปแบบการบริหารจัดการไปตามขั้นตอน ถ้ามีสัญญาณจะกลับมาบ้างก็มาปรับโครงสร้างหนี้กันไป ซึ่งคาดว่า 70% ของลูกหนี้ที่เข้าโครงการจะกลับมาได้
ด้าน นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในส่วนของธุรกิจธนาคารพานิชย์ว่า สินเชื่อของธนาคารในไตรมาสแรกของปี 2563 มีการขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 โดยมาจากการขยายตัวในสินเชื่อเกือบทุกประเภท (ยกเว้นสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อลอมบาร์ด) ไม่ว่าสินเชื่อรายย่อย (ร้อยละ 5.5) สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 3.5) และสินเชื่อบรรษัท (ร้อยละ 8.9) โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์นั้นมีอัตราการเติบโตร้อยละ 6 (YTD) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการขยายฐานตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไปสู่กลุ่มที่มีคุณภาพทรัพย์สินดีขึ้นในจังหวะที่มีผู้เล่นบางส่วนถอยออกจากตลาด และในตลาดเองก็มีกระแสความต้องการรถยนต์ใช้แล้วเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการหลีกเลี่ยงระบบขนส่งสาธารณะและราคาที่อาจดูน่าดึงดูดใจมากขึ้นในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูง นอกจากนั้น การขยายตัวของสินเชื่อส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 เช่น การพักชำระหนี้ ซึ่งทำให้ยอดสินเชื่อไม่ถูกปรับลดลง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โดยทั่วไปยังไม่แน่นอน และมาตรการช่วยเหลือทางการเงินในปัจจุบันอาจทำให้คุณภาพของสินเชื่อหรือเครดิตยังไม่สะท้อนความเป็นจริงอย่างเต็มที่ ธนาคารจึงได้มีนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวัง อีกทั้งยังได้ตั้งสำรองสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) สำหรับไตรมาสที่สอง 2563 เป็นจำนวนถึง 744 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วเพื่อเป็นความคุ้มกันเพิ่มเติม ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 128.7
สำหรับครึ่งหลังของปีนั้น ในส่วนของสินเชื่อรายย่อย จะเน้นสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น ทั้งสินเชื่อบ้านซึ่งจะเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับสินเชื่อเช่าซื้อก็จะเน้นร่วมมือกับดีลเลอร์และค่ายรถรายใหม่ที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงคงการปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง และขณะนี้จะเน้นการให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก
นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณและประธานสายตลาดการเงิน ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ให้รายละเอียดผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก 2563 ว่า กลุ่มธุรกิจฯ มีกําไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 2,668 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.1 จากงวดเดียวกันของปี 2562 เป็นกําไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดําเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จํากัด (มหาชน) และบริษัทย่อย จํานวน 775 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 7,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 2,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้อื่น 1,133 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 10,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 จากงวดเดียวกันของปี 2562 ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสที่สองปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ปรับลดลงจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คํานวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งหากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 จะอยู่ที่ร้อยละ 17.76 โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 13.7
**ประมาณจีดีพี -9%**
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 2563 ว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 3 เรื่องที่ต้องลุ้นหรือคอยจับตา คือ 1.สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 เพราะแม้ในไทยจะไม่มีผู้ติดเชื้อต่อเนื่องกว่า 60 วันแล้ว แต่อัตราการติดเชื้อในโลกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันละกว่า 200,000 คน ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรวมแล้วกว่า 17 ล้านคน และมีความเสี่ยงที่บางพื้นที่อาจจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก การพัฒนาวัคซีนสำเร็จน่าจะเกิดขึ้นหลังต้นปีหรือกลางปีหน้า ทำให้ยังไม่สามารถวางใจได้ว่าสถานการณ์จบลงเมื่อไร แต่อาจจะคาดได้ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว 2.เศรษฐกิจไทยอาจจะยังโตต่ำกว่าศักยภาพไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวจากต่างชาติค่อนข้างมาก และการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นถึงร้อยละ 12 ของจีดีพี มาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ย่อมจะกระทบถึงธุรกิจและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว คาดว่าอาจจะมีจำนวนคนว่างงานสูงสุดถึง 5 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลไปถึงความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของทั้งธุรกิจและครัวเรือน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้ ปัจจุบันมีลูกค้าสถาบันการเงินถึง 12.8 ล้านบัญชี หรือมูลค่าหนี้กว่า 6.9 ล้านล้านบาท หรือหนึ่งในสามของหนี้รวมทั้งระบบที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อยู่
และ 3.การอัดฉีดของภาครัฐ แม้ในระยะเวลาที่ผ่านมา การช่วยเหลือจากธนาคารกลางและรัฐบาล จะช่วยพยุงสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก และตลาดการเงินได้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเงินไปแล้วกว่า 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยเองก็อาจจะเพิ่มจากร้อยละ 41 ในปี 2562 ไปถึงร้อยละ 60 ในปีหน้า ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายในอนาคต นอกจากนี้ อีก 2 ปัจจัยเสี่ยงที่ควรต้องระวัง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และอาจมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจไทย เช่น การตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกของไทย
ทั้งนี้ KKP ได้ประมาณการจีดีพีปีนี้ที่ระดับ -9% แต่หากเป็นกรณีเลวร้าย เช่น มีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ทำให้การส่งออก การท่องเที่ยวกลับมาชะงักไปอีกก็อาจจะทำให้หดตัวเพิ่มขึ้น -12 ถึง -15%