เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ เคาะราคาขาย IPO ที่ 4.60 บาท P/E ที่ 95.12 เท่า เตรียมเข้าเทรด SET 9 ต.ค.นี้ โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ NRF เผยความต้องการจองจากนักลงทุนสถาบันได้รับความสนใจอย่างมากถึง 8 เท่า
น.ส.วีณา เลิศนิมิตร กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นที่เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) เปิดเผยว่า กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ NRF ที่ 4.60 บาท/หุ้น จากช่วงราคา 4.00-4.60 บาท/หุ้น หลังการสำรวจความต้องการจองจากนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) ได้รับความสนใจอย่างมากถึง 8 เท่าของจำนวนหุ้นที่จัดสรรแก่นักลงทุนสถาบัน และคาดว่าจะซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 9 ต.ค.63 ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ "NRF"
"การกำหนดราคาหุ้น IPO ของ NRF ที่ราคา 4.60 บาทต่อหุ้น ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จากศักยภาพการเติบโตและแผนการลงทุนที่ชัดเจน ประกอบกับมีความมั่นคงของผลการดำเนินงาน และโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากธุรกิจอาหารเป็นปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรทั่วโลกและการใส่ใจเลือกทานอาหารที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ ทำให้ NRF มีความสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว" น.วีณา กล่าว
ขณะที่แบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหุ้น IPO (ไฟลิ่ง) ของ NRF ระบุว่า การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) โดยราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 4.60 บาท คิดเป็น P/E เท่ากับ 95.12 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.62 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 ซึ่งมีกำไรสุทธิเท่ากับ 65.57 ล้านบาท เมื่อหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ เท่ากับ 1,355.78 ล้านหุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.05 บาท
NRF เป็นผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร อาหารมังสวิรัติที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shape) ได้เสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 340 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25.08% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท แบ่งเป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 290 ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นสามัญโดยผู้ถือหุ้นเดิมคือ บริษัท ดีพีเอ ฟันด์ เอส จำกัด จำนวนไม่เกิน 50 ล้านหุ้น
นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ NRF กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายเป็นผู้นำระดับโลกในการเป็นผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคต "Food For Future" โดยจะลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (The Next Evolution of Food) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วัตถุดิบและส่วนประกอบของอาหาร (Processing, Productivity, Raw Material, Ingredients) เพื่อผลิตอาหารที่มีคุณภาพและสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน มีรสชาติที่ถูกปากเพื่อสร้างความสุขและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก
พร้อมตั้งเป้าภายในปี 67 จะเพิ่มยอดขายเป็นประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 3 เท่า จากปัจจุบัน และมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based) เพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% นอกจากนี้ มีแผนเพิ่มสัดส่วนยอดขายออนไลน์เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
บริษัทได้วางแผนขยายการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย
1) การขยายกำลังการผลิต โดยลงทุนซื้อโรงงานผลิตอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับเดียวกับบริษัท พร้อมนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและการบริหารจัดการข้อมูล (Smart production) มาปรับใช้
2) ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ V-Shape ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารและที่ไม่ใช่อาหาร เพื่อจำหน่ายในไทยและต่างประเทศ โดย NRF เริ่มผลิตเจลล้างมือแบบพกพาในบรรจุภัณฑ์ V-Shapes และได้เข้าทำสัญญากับ Fluid Energy Group LTD ผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บริการเครื่องจักร V-shape สำหรับผลิตสินค้า Sanitization เพื่อจำหน่ายในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และแถบตะวันออกกลาง รวมถึงมีแผนร่วมลงทุนเครื่องจักร V-shape อีก 5 เครื่อง
3) การลงทุนในเครื่องจักรผลิตเส้นบุกเครื่องที่ 2 เพื่อขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการของตลาดอาหารสุขภาพที่กำลังเติบโต หลังจากผลิตภัณฑ์เส้นบุกในรูปแบบเส้นเปล่าและแบบพร้อมรับประทานของบริษัทได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทได้ลงนามในบันทึกตกลงความเข้าใจการรับจ้างผลิตระยะเวลาประมาณ 3 ปี เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์จากบุกประมาณ 15 ล้านหน่วย
4) การเข้าซื้อโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชในประเทศอังกฤษและสหรัฐฯ ผ่านการลงทุนใน Plant and Bean Ltd. ซึ่งร่วมทุนกับ THE BRECKS COMPANY LIMITED หรือเบรคส์ จัดตั้งบริษัท Plant and Bean Ltd. ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อรับจ้างผลิตอาหารโปรตีนจากพืชให้แก่บริษัทอาหารชั้นนำของโลก โดยปัจจุบัน NRF ถือหุ้นในสัดส่วน 25% และมีแผนจะลงทุนเพิ่มอีกสัดส่วน 25% รวมเป็น 50% ในปี 2564 และจะเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันประมาณ 3,400 ตัน เป็น 36,000 ตัน ภายในปี 2564
รวมถึงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระยะยาว โดยการถือตราสารหนี้แปลงสภาพ ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2563 บริษัทฯ ได้แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ใน Meatless Farm โดยถือหุ้นประมาณ 1% ในประเทศอังกฤษ ซื่งเป็นผู้ผลิตอาหารจำพวกแฮมเบอร์เกอร์เนื้อเทียม โปรตีนจากข้าวและถั่ว รวมถึงหัวไชเท้าโดยตั้งเป้าหมายเป็นผู้จัดจำหน่ายให้แก่ Meatless Farm ในภูมิภาคเอเชียในอนาคต
5) ลงทุนเพิ่มเติมใน Big Idea Venture และกองทุนนิวโปรตีน ที่มีขนาดกองทุน 1,500 ล้านบาท เพื่อให้เงินทุนสนับสนุนและคำปรึกษาแก่ธุรกิจสตาร์ทอัปเกี่ยวกับอาหารโปรตีนจากพืช โดยมีเป้าหมายลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัป 100 ราย ภายใน 3 ปี เพื่อโอกาสขยายฐานลูกค้าโดยการเป็น preferred co-packer ให้แก่สตาร์ทอัปเหล่านั้น และแลกเปลี่ยนความรู้พร้อมศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับบริษัท ปัจจุบันกองทุนดังกล่าวเข้าลงทุนแล้วประมาณ 27 สตาร์ทอัป ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งมียอดขายแล้ว
ล่าสุด NRF ได้เข้าลงทุนใน Phuture Food Limited (Phuture) สตาร์ทอัปด้าน Food Tech ในทวีปเอเชียที่ได้รับความสนใจจากบริษัทลงทุนระดับโลก เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์หมูสับเทียมที่ผลิตจากโปรตีนจากถั่วเหลือง เพื่อรองรับการผลิตให้แก่สตาร์ทอัแและลูกค้า Plant-based food นอกจากนี้ บริษัทมีแผนสร้างโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชแห่งใหม่ในไทย (Plant-based dedicated manufacturing facilities)
6) ร่วมทุนกับ Boosted ECommerce Inc. (Boosted) ใน 2 รูปแบบ คือ ลงทุนในกลุ่มบริษัท Boosted Ecommerce Inc. (Boosted) เพื่อบริหารจัดการธุรกิจ e-commerce ของ Third-party seller บน Amazon e-commerce platform และร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อลงทุนใน Consumer Package Goods ในอุตสาหกรรมอาหาร (รวมถึง pet food)
นอกจากนี้ บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ (United Nations) ขับเคลื่อนสู่สังคมสีเขียว โดยได้ริเริ่มโครงการ Carbon Footprint เมื่อเดือน ต.ค.62 ปัจจุบันถือเป็นองค์กรปราศจากคาร์บอน (Carbon Neutral) ที่เป็นโรงงานผลิตอาหารภาคเอกชนรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองดังกล่าว พร้อมกันนี้ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ 1) สร้างเครือข่ายโปรตีนทางเลือก (plant-based) ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค 2) สนับสนุนสตาร์ทอัปที่มีนวัตกรรมด้านอาหารใหม่ๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) โปรโมตการบริโภคและผลิตอาหารอย่างยั่งยืน 2) สนับสนุนสตาร์ทอัปที่มีนวัตกรรมด้านอาหารใหม่ๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) โปรโมตการบริโภคและผลิตอาหารอย่างยั่งยืน