xs
xsm
sm
md
lg

เมย์แบงก์ชี้ ศบศ.เคาะมาตรการกระตุ้นการบริโภครอบใหม่มุ่งเป้าร้านค้ารายย่อย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ชี้ ศบศ. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดงบ 21,000 ล้านบาท ผ่านบัตรคนจน จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ตุลาคม-ธันวาคม 2563 หวังเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

จากการที่ศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบศ. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน จำนวน 3 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม-ธันวาคม 2563 โดยใช้งบประมาณครั้งนี้ประมาณ 21,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น

กลุ่มที่ 1 รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จำนวน 3.6 ล้านคน ปัจจุบันได้ 300 บาทต่อเดือน จะได้รับ 800 บาทต่อเดือน

กลุ่มที่ 2 รายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี จำนวน 10.3 ล้านคน ปัจจุบันได้ 200 บาทต่อเดือน จะได้รับ 700 บาทต่อเดือน

กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ “คนละครึ่ง”

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบศ.ยังเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการคนละครึ่ง (Co-pay) คนละ 3,000 บาทต่อ 1 สิทธิ กลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน งบประมาณที่ต้องใช้รวม 30,000 ล้านบาท ใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง

คาดค้าปลีกได้รับประโยชน์

ฝ่ายวิเคราห์ะหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง หรือ MBKET มองว่า จากมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลจะเป็นการกระจายเม็ดเงินหมุนเวียนให้กระจายในตลาดเพิ่มขึ้น โดยแบ่งออกเป็น

1) เพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 500 บาท/คน/เดือน ช่วง ต.ค.-ธ.ค.63 ซึ่งให้แก่กลุ่มประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ประมาณ 14 ล้านคน

2) “คนละครึ่ง” วงเงิน 100 บาท/คน/วัน คนละไม่เกิน 3,000 บาท ตลอดโครงการ ให้ประชาชนใช้จ่ายซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ไม่รวมลอตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบริการ มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 10 ล้านคน ส่วนร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมได้คือ ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ร้านค้ารายย่อยทั่วไปที่ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ใช่ร้านค้าสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ ประมาณ 100,000 ร้าน เริ่มลงทะเบียน 16 ต.ค.63 และสามารถใช้ได้ 23 ต.ค.-31 ธ.ค.63

หนุนเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น

แม้ว่ามาตรการที่ออกมาจะเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายเน้นไปที่ร้านค้ารายย่อยที่ไม่ใช่ นิติบุคคล และร้านธุรกิจแฟรนไชส์ แต่วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 2 ส่วนที่รวมแล้วสูงถึงราว 5 หมื่นล้านบาท ตลอดทั้งโครงการ จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นและส่งผลบวกทางอ้อมต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ค้าส่งจะได้ประโยชน์จากแรงซื้อของผู้ประกอบการรายย่อยอีกทอด

หุ้นค้าปลีก MAKRO & OSP คาดว่าจะได้ประโยชน์

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด หรือ MARKO ได้ประโยชน์ในฐานะผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคล็อตใหญ่ให้แก่ร้านค้ารายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของมาตรการกระตุ้นการบริโภค คาดจะเข้ามาช่วยเร่งการให้ฟื้นตัวช่วง 2H63 เร็วขึ้น หลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณการผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วใน 2Q63 อัตราการขยายตัวของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) เดือน ก.ค.-ส.ค.63 ฟื้นจาก -3.6% ในช่วง 2Q63 มาอยู่ในช่วงราว 2-3%

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP (ราคาเป้าหมาย 50 บาท) น่าจะได้ประโยชน์ในฐานะผู้ผลิตที่มีสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลายและเป็นกลุ่มสินค้าที่เข้าข่ายเป้าหมายของโครงการโดยตรง ทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ กาแฟสำเร็จรูป และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เข้ามาเป็น upside หนุนกำไรช่วง 3Q63-4Q63 เพิ่มเติม


กำลังโหลดความคิดเห็น