นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า จากรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเน้นการผลิตและการบริโภคที่ใช้ทรัพยากรมหาศาล ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาวะแวดล้อมและสังคมเป็นอย่างมาก แต่ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน และเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบที่สามารถสร้างความเติบโตโดยไม่ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้กับโลก ซึ่งผู้แพ้และปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงจะถูกจำกัดการดำเนินธุรกิจ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ได้การยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในที่สุด
ดังนั้น เทรนด์ความยั่งยืนถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งของนักลงทุนในการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว โดยหนึ่งในมิติด้านความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการลงทุนคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Transition) โดยเป้าหมายร่วมของโลกในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 50% ภายใน 2573
ขณะที่ KBank Private Banking ก็ได้นำเสนอกองทุนภายใต้ธีมความยั่งยืนแก่ลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น K-HIT และ K-CHANGE ล่าสุด ได้นำเสนอกองทุน K Climate Transition ซึ่งเน้นการลงทุนในหน่วยลงทุนของ LO Funds - Climate Transition, (USD), I Class A (กองทุนหลัก) ซึ่งเป็นกองทุนที่คำนึงถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกองทุนแรกและหนึ่งเดียวของไทย พร้อมสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจากธุรกิจหลายหลากทั่วโลก เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมจะสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีและยั่งยืนกว่าธุรกิจที่เมินเฉยสิ่งเหล่านี้ โดยจะเปิดขาย IPO ครั้งแรกในช่วงวันที่ 1-15 กันยายนนี้
"ลอมบาร์ด โอเดียร์ พันธมิตรของเรา แบ่งธุรกิจที่มีศักยภาพไว้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ หนึ่ง ธุรกิจผู้ชนะในโลกที่มีการจำกัดปริมาณคาร์บอน ได้แก่ ธุรกิจที่ผลิตสินค้าหรือให้บริการที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง เช่น พัฒนาซอฟต์แวร์ให้การใช้ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น และสอง ธุรกิจผู้ชนะในโลกที่ได้รับความเสียหายจากคาร์บอน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสภาวะโลกร้อน เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงแข็งแรงขึ้น และธุรกิจที่วิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงด้านการเงินจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าความต้องการเงินลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอีก 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึงปี 2030 โดย 5 ปีที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้ากองทุน Climate change แล้วกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ขนาดสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ"
นายจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมของธุรกิจ Private Banking ของธนาคารในครึ่งปีแรกนั้น จะมีความผันผวนค่อนข้างมากในช่วงเดือนมีนาคมเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 แต่โดยหลักไปแล้ว เป็นการเปลี่ยนประเภทการลงทุนแบบขายอย่างหนึ่งไปซื้ออีกอย่างเพื่อบาลานซ์พอร์ตในช่วงตื่นตระหนกเท่านั้น โดยคาดการณ์สินทรัพย์การลงทุน (AUM) จะทรงตัวใกล้เคียงปัจจุบันที่ระดับ 750,000 ล้านบาท