ผู้นำทัพ Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ‘จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์’ ได้สะท้อนเทรนด์เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน เพราะมนุษย์เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ภาคลงทุนมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมารูปแบบการดำเนินเศรษฐกิจที่สร้างความเติบโต โดยเน้นการผลิตและการบริโภคที่ใช้ทรัพยากรมหาศาล ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพวะแวดล้อมและสังคมอย่างมาก อีกทั้งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“หากว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ยังถูกปล่อยออกมาในอัตราเดิมไปจนถึงสิ้นศตวรรษนี้ จะสร้างความเสียงหายต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันถึง 550 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่าขนาดเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปี 2562 ถึง 7 เท่าเลยทีเดียว นั่นคือสาเหตุทำให้เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ “การปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน” (The Sustainability Revolution) และเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบที่สามารถสร้างความเติบโตโดยไม่ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้กับโลก”
จิรวัฒน์ อธิบายถึงการขับเคลื่อนสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่ทิ้งความเสียหายไว้กับโลก ว่าเป็นการมุ่งสู่ CLIC Economy คำว่า CLIC ย่อมาจาก C-Circular คือการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน L-Lean เป็นการลดความสูญเปล่าหรือใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า I-Inclusive คือความเท่าเทียมกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และ C-Clean คือเศรษฐกิจบนสิ่งแวดล้อมสะอาด
ในการปฏิวัติคราวนี้จะเกิดแบ่งขั้วระหว่างธุรกิจที่เป็นผู้ชนะ หรือกลุ่มที่สามารถก้าวผ่านเพราะตระหนักและมีการปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ ซึ่งเปรียบเสมือนนกอินทรี ส่วนอีกกลุ่มที่เป็นผู้แพ้ หรือกลุ่มที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะถูกจำกัดการดำเนินธุรกิจในที่สุด นอกจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ยังจะไม่ได้รับการยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค และสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซี่งเปรียบเทียบได้กับนกกระจอกเทศ
“เทรนด์ด้านความยั่งยืนถือเป็นโอกาสสำคัญของนักลงทุนในการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว หนึ่งในมิติด้านความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการลงทุน คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Transition เนื่องจากมีผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและเพิ่มความเสี่ยงแก่ธุรกิจที่ยังคงอิงกับอุตสาหกรรมหนักแบบเก่าอย่างมหาศาล แต่ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสเติบโตให้ธุรกิจในรูปแบบใหม่อย่างไร้ขีดจำกัดเช่นกัน โดยเป้าหมายร่วมของโลกในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 50% ภายในปี 2573 หมายถึงโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า"
เขาบอกอีกว่าในการจะบรรลุเป้าหมายในการลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก จะต้องอาศัยทั้งการสร้างสรรค์เทคโนโลยีสะอาด ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมหนักที่ยังมีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนหลัก 4 ประการ คือ
หนึ่ง นโยบายจากภาครัฐ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางสะอาดและควบคุมธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
สอง ผู้บริโภคที่มีความตระหนักรู้ต่อสถานการณ์และหลีกเลี่ยงการใช้สินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สาม เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและมีราคาถูกลง เอื้อให้ธุรกิจสามารถสร้างกำไรไปพร้อมๆ กับความยั่งยืนได้
สี่ เงินของนักลงทุน ที่จะสนับสนุนบริษัทที่มุ่งสู่ความยั่งยืน
จิรวัฒน์ บอกอีกว่าจากปรัชญาของลอมบาร์ด โอเดียร์ ( Lombard Odier) พันธมิตรของเราซึ่งเป็นผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ คำว่า Rethink (คิดใหม่) เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปตลอดเวลา เมื่อผสานกับคำว่า Perfect Wealth ของธนาคารกสิกรไทย เพื่อให้คนรุ่นต่อไปมีชีวิตมีคุณภาพ ดังนั้นมิติของการบริหารความมั่งคั่งจึงมีมากกว่าเรื่องของการบริหารพอร์ตการลงทุน มันเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น โดยหลังจากนี้จะเน้นไปที่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยกลยุทธ์สำคัญในปีนี้เราจะเน้น 3S คือ Sustainable, Sharing, S-Curve
กลยุทธ์ที่หาผลตอบแทนนั้นเป็นเรื่องรองไปแล้ว เนื่องจากไม่เกิดความยั่งยืนกับลูกค้า แต่สิ่งสำคัญที่จะเน้นที่สุดคือควบคุมความเสี่ยง นอกจากนี้ปีนี้จะโฟกัสการลงทุนในกิจการรับผิดชอบต่อสังคม โดยยืนยันว่าไม่ได้พูดเอาเท่ และยังได้กล่าวเสริมว่าบริษัทที่เน้นความยั่งยืน ในระยะยาวแล้วผลตอบแทนดีกว่ามากกว่า นอกจากนี้เทรนด์การลงทุนก็เริ่มมาสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันนี้มีดัชนีเกี่ยวกับความยั่งยืน เช่น MSCI หรือ FTSE รวมไปถึง DJSI