บจ.พลังงานในตลาดหุ้นไทย รุกปักฐานสร้างโรงไฟฟ้าในเวียดนาม เหตุเศรษฐกิจเติบโตเร็ว ความต้องการพลังงานเพิ่มต่อเนื่อง หวังปั่นรายได้มั่นคงต่อเนื่อง SUPER เก็บ PPA ในมือมากสุด ขณะ BGRIM ลุยแสงอาทิตย์ใหญ่สุดในอาเซียน และอีกหลายแห่งชิมลางพร้อมขยายเพิ่ม บางบริษัทเริ่มทยอยรับรู้รายได้ดันผลประกอบการสวย
เป็นที่ทราบกันดีว่า ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โรงงานและผู้ผลิตในแทบทุกอุตสาหกรรมย่อมต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนการผลิต ประเทศที่กำลังพัฒนาและสร้างตัวเองเพื่อให้ทันกับเพื่อนบ้านอื่นจึงต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเวียดนามคืออีกแห่งที่นักลงทุน หรือบริษัทผู้ผลิตในหลากหลายธุรกิจมุ่งหมายหอบเงินทุนไหลเข้าไปลงทุน และอีกเหตุผลสำคัญหนึ่งคือค่าแรงต่ำ
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เวียดนาม เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดประเทศหนึ่งและเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ยังคงขยายตัวสวนทางกับสถานการณ์ของโลก เพราะมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลเวียดนามก็สนับสนุนการลงทุนให้ง่าย เพื่อจะได้มีไฟฟ้าเพียงพอใช้ ล่าสุดได้ประกาศอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มอีก 7 กิกะวัตต์ ส่งผลให้เวียดนามจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมรวมถึงเกือบ 12 กิกะวัตต์ภายในปี 2568 ขณะที่มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 130 กิกะวัตต์ ในปี 2573
ดังนั้น จึงไม่แปลกหากไม่กี่ปีมานี้ จะพบว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง เบนเข็มแตกไลน์สู่ธุรกิจพลังงานทดแทนยอมทุ่มเงินลงทุน เพราะมองว่าให้ผลตอบแทนที่ดีและความต้องการใช้ไฟฟ้ายังมีต่อเนื่อง และเวียดนามจึงเป็นเป้าหมายหลักที่บริษัทเล็กใหญ่ต่างมุ่งไปลงทุน และนี่คือ บจ.ไทยที่มุ่งไปลงทุนแบ่งเค้กในเวียดนาม
SUPER กำ PPA รวม 1,457.72 เมกะวัตต์
บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER เลือกที่จะรุกหนักในเวียดนาม เพราะความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ซึ่งปี 2562 SUPER ลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามและ COD 4 โครงการ กำลังผลิตรวม 186.72 เมกะวัตต์ (MW) จากทั้งหมด 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 286.72 เมกะวัตต์ และต้นปี 63 บริษัทก็ปิดดีลซื้ออีก 1 โครงการ กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการโอนหุ้น
นอกจากนี้ SUPER มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 3 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 550 เมกะวัตต์ คาดทยอย COD เดือนธันวาคม 2563 จะช่วยผลักดันการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ มั่นใจว่าแนวโน้มรายได้ปีนี้จะเติบโต 15-20 และยังมีแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม 4 โครงการ กำลังผลิตรวม 422 เมกะวัตต์ ในทะเล 2 โครงการ รวม 172 เมกะวัตต์ และบนบก 2 โครงการ รวม 250 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการในทะเลเริ่มทยอยการก่อสร้างและจะเริ่ม COD ไตรมาส 4 ปี 2564 ส่วนอีก 2 โครงการบนบกใกล้ลงนามในสัญญาก่อสร้างเร็วๆ นี้ ถือได้ว่าปี 2563 จะเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวจากที่ได้ลงทุนไปควบคู่ไปกับการขยายการลงทุนใหม่ โดยเน้นที่เวียดนามเป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ฟาร์ม เนื่องจากมีโครงการค้างท่อที่มีอยู่ 3,000 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน SUPER มีใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในเวียดนามรวม 1,457.72 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์ม 1,036.72 เมกะวัตต์ และวินด์ฟาร์ม 422 เมกะวัตต์ ขึ้นแท่นผู้นำเลยทีเดียว จึงนับได้ว่านอกจากโครงการโซลาร์ฟาร์ม วินด์ฟาร์ม และโรงไฟฟ้าขยะ ที่มี PPAในมือทะลุ 1,200 เมกะวัตต์แล้ว การเข้าสู่โซลาร์รูฟท็อป แบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Private PPA) ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ SUPER เข้าลงทุน
"ผลงานไตรมาส 2 ปีนี้ SUPER ทยอยรับรู้รายได้เวียดนามเพิ่มขึ้น รวมทั้งจากโรงไฟฟ้าขยะ นั่นคือบริษัทฯ มีรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่องตามอายุสัมปทาน ซึ่งส่วนใหญ่มีระยะเวลา 20-21 ปี " นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ SUPER กล่าว
SSP รุกหนักแสงอาทิตย์-ลม
บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP คืออีกหนึ่งบริษัทที่ลุยพลังงาน ตั้งแต่โครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศ ขยายไปยังต่างประเทศและในเวียดนาม ได้ลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์ม Binh Nguyen ขนาด 40 MW ซึ่งปีนี้เพิ่งจะรับรู้รายได้เต็มปี อีกทั้งศึกษาเข้าลงทุน "โรงไฟฟ้า โซลาร์ฟาร์ม เฟส 2" และเตรียมโครงการพลังงานลมเพิ่มอีกรวม 100-200MW คาดจะได้ข้อสรุปปีนี้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน SSP ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 48 MW ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และบริษัทได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว กำหนด COD กลางปี 2564 รวมทั้งหาโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานงานทดแทนอื่นๆ ในต่างประเทศเพิ่ม เพื่อเข้ามาช่วยเสริมฐานธุรกิจและทำให้บรรลุเป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มเป็น 400 MW ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า
เพราะนอกจากที่กล่าวมาแล้ว SSP ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในมองโกเลีย ซึ่งจะหนุนผลการดำเนินงานในปี 2563 ให้เติบโตสร้างสถิติสูงสุดใหม่ ถือได้ว่าปีนี้ที่ดีกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ
"ภาพรวมผลงานครึ่งแรกปี 2563 ยังคงรักษาการเติบโตได้ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 284 ล้านบาท และมีรายได้รวม 905.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 716.90 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ายังเติบโตได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากปีนี้มีการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเสริม" นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP กล่าว
RATCH ชิมลางจากพลังงานลม
บมจ.ราช กรุ๊ป หรือ RATCH คืออีกหนึ่งแห่งที่เบนไปลงทุนในเวียดนาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong ผ่าน บริษัทย่อย อย่างบริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่น (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น หรือ RHIS ด้วยสัดส่วนการลงทุน 51% โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมติดตั้งบนบก ขนาดกำลังการผลิต 29.70 เมกะวัตต์ มีเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 45 ล้านเหรียญสหรัฐ คาด COD ก.ย.2564 และก่อนหน้านั้น RHIS ได้ลงสัญญากับ Geleximco Group Joint Stock Company หรือGeleximco เพื่อเข้าลงทุนในกองทุน An Binh Energy and Infrastructure Fund (ABEIF) 49% ซึ่งเป็นกองทุนนี้มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานในเวียดนาม ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินแอนทราไซด์ Thang Long ขนาด 620 เมกะวัตต์ COD แล้ว โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 650 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 150 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเริ่มพัฒนาโครงการ นั่นหมายถึงการมีส่วนร่วมได้เสียของเงินลงทุนของ RATCH ในอนาคต
"ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทนในอินโดนีเซีย และเวียดนาม คาดว่าจะปิดดีลได้ 2-3 โครงการในครึ่งปีหลังนี้ และจะเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าปีนี้เพิ่มเป็น 780 เมกะวัตต์ อีกทั้งศึกษาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้า เป็นการสร้างความมั่นคงและความสม่ำเสมอด้านรายได้" นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าว
สำหรับผลงาน 6 เดือนแรกปีนี้ RATCH มีรายได้รวม 20,767.79 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนและเงินปันผล 2,194.56 ล้านบาท และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ 251.68 ล้านบาท
BANPU ลุยพลังงานลมต่อเนื่อง
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ให้บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ BANPU และ BPP ถือหุ้น 50% ไปซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลม EI Wind Mui Dinh ขนาด 37.6 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม ด้วยเม็ดเงินลงทุน 2,065 ล้านบาท และจะรับรู้รายได้ทันที เพราะโรงไฟฟ้าแห่งนี้ COD ตั้งแต่เดือน เม.ย.ปี 62
ก่อนหน้านี้ BANPU ได้ลุยพลังงานลมขนาด 200 เมกะวัตต์ มาแล้วและจะเริ่ม COD เฟสแรกในปี 64 และยังคงมองหาการลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง ตามเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
ผลประกอบการครึ่งแรกปี 63 ของ BANPU มีรายได้จากการขายรวม 36,334.10 ล้านบาท มี EBITDA รวม 7,286.95 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 801.70 ล้านบาท เพราะผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงที่อ่อนตัวลงหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างรวดเร็ว
"บริษัทจึงปรับลดค่าใช้จ่าย ชะลอการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีความเสี่ยงสูง เน้นการทำธุรกิจในประเทศที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง และการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน ในเวียดนาม ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว จึงช่วยเพิ่มรายได้และกระแสเงินสดจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียนให้บริษัทฯ ในปีนี้ และยังมองหาโอกาสลงทุนในเวียดนามต่อเนื่อง" นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าว
EP ซื้อพลังลมแห่งใหม่ปูทางชิงเค้ก
หลังจากซื้อมาขายไป บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP ก็เดินหน้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งใหม่ในเวียดนาม ผ่านทางบริษัท EPVN W2 (HK) Company Limited (EPVN W) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของ EP ที่เข้าลงนามในสัญญาซื้อหุ้น โครงการ Tay Nguyen และ Mien Nui กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ โดย 2 โครงการ มีมูลค่าโครงการรวมกว่า 4,500 ล้านบาท คาดว่าเมื่อจ่ายไฟฟ้าแล้วจะเพิ่มรายได้ให้ EP อีกปีละกว่า 740 ล้านบาท จากก่อนหน้าที่เข้าซื้อหุ้น Target Company HL3 และ 4 แห่งละกว่า 150 ล้านบาท
ดังนั้น ถือว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากการบุกเบิกของบริษัทที่ได้ประสบความสำเร็จในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้บริษัทเปิดประตูการลงทุนอื่นๆ ต่อไปได้อีกในอนาคต
"บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2563 เติบโตไม่ต่ำกว่า 40% จากปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,103.73 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้ที่แน่นอนจากธุรกิจโรงไฟฟ้า และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเชื่อว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตสูงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต และยังมีโครงการอื่นที่อยู่ระหว่างการศึกษา และพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนพลังงานลมในเวียดนามอีกกว่า 200 เมกะวัตต์ ความชัดเจนไม่เกินไตรมาส 3 นี้" นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ กล่าว
BGRIM ลุยแสงอาทิตย์ใหญ่สุดในอาเซียน
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เข้าลงทุนในเวียดนามด้วยการให้ บริษัท บี.กริม รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ 1 จำกัด เข้าซื้อหุ้น Viet Thai Solar Joint Stock Company จากผู้ถือหุ้น 3 ราย มูลค่า 1,134 ล้านบาท เพื่อถือหุ้นสามัญ 55% ใน Dau Tieng Ninh Energy Joint Stock Company ซึ่งเป็นบริษัทผู้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ DAU TENG1 1และ DAU TENG2 กำลังการผลิต 420 เมกะวัตต์ (MW) ในเวียดนาม และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้กลางปี 2562 อีกทั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ PHU YEN TTP กำลังการผลิต 257 เมกะวัตต์ จึงถือว่าใหญ่สุดในอาเซียน
หลังจากนั้น BGRIM ยังมีโอกาสลงทุนในโครงการอื่นๆ เพิ่มอีกคือ โครงการโรงไฟฟ้าจากก๊าซ LNG บริษัทคาดว่ามีโอกาสไม่ต่ำกว่า 3,000 เมกะวัตต์ อีกทั้งมีโครงการ Gas to Power ที่เวียดนาม จะสรุปในปลายปีนี้ถึงต้นปี 64
สำหรับไตรมาส 2 BGRIM มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,682 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยสำคัญมาจากการเติบโตของกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องสู่ 3,019 เมกะวัตต์ในกลางปี 2563 โดยตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมาเปิด COD โรงไฟฟ้า 4 โครงการ และการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้า 2 โครงการ คือ โครงการ บี.กริม เพาเวอร์ (เอไออี-เอ็มทีพี) และโครงการโรงไฟฟ้าอ่างทอง เพาเวอร์ และยังมีโครงการ SPP ใหม่อยู่ระหว่างเจรจาอีก 2-3 แห่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปปีนี้
อีกทั้งโครงการวินฟาร์ม 1&2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ มีกำหนดการ COD ช่วงไตรมาส 4/2563 ถึงไตรมาส 1/2564 มั่นใจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามคำมั่น สัญญาที่ให้ไว้ที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาการซื้อไฟฟ้าที่ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565
GULF เริ่มที่ลมบก 100 เมกะวัตต์
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เข้าไปลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2561 ก่อนจะพัฒนาโครงการปลายปี 2562 คือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลมขนาด 420 เมกะวัตต์ และล่าสุดให้ Gulf International Holding Pte. Ltd. (GIH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ซื้อหุ้น 100% ของ Dien Xanh Gia Lai Investment Energy Joint Stock Company (DGI) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบนบกคือ โครงการ Ia Pech 1 และ โครงการ Ia Pech 2 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาโครงการละ 50 เมกะวัตต์ (MW) รวมทั้งสิ้น 100 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการรวม 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
น.ส.ยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF กล่าวว่า GULF มีแผนการเข้าซื้อกิจการ หรือเข้าถือหุ้นเกี่ยวกับไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง บริษัทจะเลือกโครงการดีๆ โดยเฉพาะในเวียดนามที่ยังมีโอกาสเติบโต ซึ่งปีนี้คาดหวังว่าจะสรุปแผนการเข้าร่วมลงทุน หรือซื้อกิจการได้ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาช่วยหนุนรายได้ให้เติบโตชัดเจนในปี 2564 เป็นต้นไป
สำหรับเป้าหมายรายได้ปี 63 เติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้โรงไฟฟ้าไบโอแมส กำลังผลิต 25 เมกะวัตต์ ที่ COD มีนาคม 2563 และโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนามจะ COD เข้าระบบอีก 30 เมกะวัตต์ปลายปี 2563 อีกทั้งรายได้เต็มปีของโรงไฟฟ้า SPP ทั้งหมด 12 แห่ง ที่เปิดดำเนินการครบแล้ว 1,563 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าโซลาร์เวียดนาม 120 เมกะวัตต์ ที่ COD ไปแล้ว และยังคงเฟ้นหาโครงการลงทุนใหม่ๆ เพิ่ม เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซฯ LNG ที่เวียดนาม ขนาด 6,000 เมกะวัตต์ โครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บ LNG ที่เวียดนาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ สปป.ลาว ขนาด 2,400 เมกะวัตต์
BGC ลุ้นดีล M&A โซลาร์ฟาร์มเพิ่ม
บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส หรือ BGC คืออีกหนึ่งบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่ง ปัจจุบันบริษัทมีดีล M&A โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่เวียดนาม 2-3 แห่ง ขนาดกำลังผลิต 50-100 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเตรียมงบลงทุนไว้ 1,000-2,000 ล้านบาท โดยจะถือหุ้นสัดส่วน 70% คาดได้ข้อสรุปช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามแผนตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 300-400 MW ภายใน 5 ปี จากก่อนหน้าที่บริษัทมี “ธุรกิจโรงไฟฟ้า” โซลาร์ฟาร์มที่เวียดนามขนาดกำลังผลิต 67MW ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้ตามสัดส่วนไตรมาสละ 100 ล้านบาท
"และผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ยอมรับยอดขายช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. มีตัวเลขปรับตัวลดลง จากโรคระบาดโควิด-19 เข้ามากระทบ และจากมาตรการภาครัฐที่ควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ แต่ได้อานิสงส์จากช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันลดส่งผลให้ต้นทุนผลิตต่ำลง และมั่นใจว่าผลงานทั้งปี 2563 จะโตทรงตัว เนื่องจากมี “ธุรกิจโรงไฟฟ้า” โซลาร์ฟาร์มที่เวียดนาม เข้ามาหนุนฐานรายได้" นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC กล่าว
จากการลงทุนของแต่ละบริษัทข้างต้น และจากการเข้าไปอ่าน บทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์จากหลายสำนัก ล้วนมองถึงผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในรูปแบบของรายได้และกำไรในอนาคต แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา กระแสไฟฟ้าในบางโครงการและบางแห่ง พบว่า ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง เพราะภาคการผลิตลดกำลังผลิต อันเป็นผลจากโควิด-19 ทำให้การขายไฟฟ้าต่ำกว่าปกติ แต่เมื่อมาตรการคลายล็อกดาวน์ ทุกอย่างขับเคลื่อนภาคการผลิตเริ่มกลับสู่ปกติ ย่อมหมายถึงกิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมา บริษัทที่ลงทุนในต่างประเทศเองก็เดินหน้าโครงการต่อเนื่อง บางบริษัททยอยรับรู้รายได้เข้ามาหนุนผลประกอบการสดใส นักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่แนะนำให้ "ถือ" หุ้นกลุ่มพลังงงาน โดยเฉพาะบริษัทที่เข้าไปลงทุนในพลังงานหลายรูปแบบในหลายประเทศ