ทิศทางราคาทองคำหลังทะยานผ่าน 3 หมื่นบาทภาพรวมมีโอกาสไปต่อ ตราบใดดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่า และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าชะลอตัว ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดันราคา เตือนต้องระวังราคาปัจจุบันใกล้เต็มเพดานแล้ว มีโอกาสถูกแรงเทขายฉุดราคาทองคำดิ่ง โดยเฉพาะหากวัคซีนที่หลายชาติคิดค้นประสบความสำเร็จ อีกทั้งแรงซื้อขายในสัญญาล่วงหน้า กูรูเตือนระวัง “ติดดอย”
ในที่สุดราคาทองคำในประเทศไทยก็ทะยานขึ้นสู่ระดับ 3 หมื่นบาทต่อทองคำ 96.50% ที่น้ำหนัก 1 บาท โดยสุทธิราคาทองคำแท่งขายที่ระดับ 30,050 บาท รับซื้อบาทละ 29,950 บาท ขณะที่ทองคำรูปพรรณ ขายบาทละ 30,550 บาท และรับซื้อที่บาทละ 29,410 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ส.ค. 63) โดยรวมไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะหลายต่อหลายคนเชื่อว่าอย่างไรที่สุดราคาทองคำจะทะยานขึ้นมายืนอยู่ในระดับนี้แน่นอน เพียงต่อเวลาเท่านั้น เมื่อตัวแปรสำคัญคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จากความจำเป็นที่รัฐบาลของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากเข้ามาอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยเครื่องมือจำเป็นที่อุตส่าห์เก็บเข้ากรุไปตั้งแต่เมื่อปี 2555 (ค.ศ. 2013) นั่นคือ “มาตรการ QE”
เหตุการณ์การอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐครั้งนี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในช่วง 2551 ที่สหรัฐฯเผชิญหน้ากับวิกฤตซับไพรม์ จนธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องนำมาตรการ QE หรือ Quantitative Easing หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ” มาใช้โดยการนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และรัฐบาลจะเข้าไปซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน และจะให้สถาบันทางการเงินปล่อยกู้ให้ภาคเอกชนต่อไป เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศมีการใช้จ่ายมากขึ้น
โดยผู้คิดค้นมาตรการนี้คือ “เบน เบอร์นันเก” อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ในยุคนั้น และหลายคนมองว่าเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ดี จนทำให้แพร่สะพัดไปสู่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็หันมาเอาอย่างด้วยการนำมาตรการ QE มาแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับตนเองด้วย ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ มีการใช้เม็ดเงินจากมาตการ QE รวม 4 ครั้ง เป็นเงินกว่า 2.85 ล้านล้านเหรียญ หรือใช้เวลาทยอยอัดฉีดเงินเข้าระบบถึง 5 ปี (ปี 2555)
สิ่งที่น่าสนใจคือ มาตรการ QE ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ นำมาใช้นั้นสามารถพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีทุนสำรองหนุนหลังเหมือนกับประเทศอื่นๆ ดังนั้น การเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีเงินจำนวนมากไหลเข้ามาจนล้นเหลือ ค่าเงินดอลลาร์ก็จะยิ่งอ่อนค่าลงเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นเคยมีบางคนเรียกเปรียบเปรยเงินดอลลาร์ลุงแซมว่าเหมือน “เงินกงเต็ก”
นอกจากนี้ สิ่งที่ได้มาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ นั่นคือ ช่วยผลักดันให้ตลาดหุ้นกลับมาอยู่ในโซนสีเขียว และ “ทองคำ” มีราคาปรับตัวสูงขึ้นสร้างสถิติใหม่เป็นว่าเล่น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มหนี้ให้เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลทั่วโลก จนมีรายงานว่าสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่หันมาใช้มาตรการ QE กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มีงบดุลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 1 ล้านล้านเหรียญดีดตัวขึ้นไปเกือบ 5 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งปัจจุบันประเทศเหล่านี้ยังไม่สามารถลดงบดุลนี้ลงได้ เพราะการทำ QE คือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือเป็นการสร้างหนี้ให้กับตัวเอง
จากเหตุผลคร่าวๆ จึงพอกล่าวได้ว่า การประกาศใช้มาตรการ QE มากระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ ก็ทำให้นักลงทุนทั้งแบบทั่วไป หรือสถาบันและกองทุนมองภาพล่วงหน้าออก ว่าเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแย่ขนาดไหน และก็มองออกว่าราคาทองคำจะกลับมาทะยานขึ้นอีกครั้งด้วยเพราะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จึงเกิดการแห่เก็งกำไร โยกย้านเม็ดเงินเข้ามาสะสมเป็นทองคำในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เช่น ทองคำรูปพรรณ ทองคำแท่ง Gold Spot Gold Futures เป็นต้น
ดังนั้น หากสัญญาณ หรือทิศทางเศรษฐกิจยังไม่เห็นวี่แววการฟื้นตัว และสหรัฐฯ ยังอัดฉีดเม็ดเงินผ่าน QE ต่อเนื่อง โอกาสที่ราคาทองคำจะขยับตัวเพิ่มขึ้นไปอีกนั้นถือว่ายังมีความเป็นไปได้สูง นั่นหมายถึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาทองคำจะไม่หยุดนิ่งที่ระดับ 3 หมื่นบาท หรือ 2 พันเหรียญนิดๆ ในปัจจุบัน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าต้นตอสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้อย่าง “การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19” อาจจำเป็นต้องใช้เวลาร่วม 2 ปีเพื่อทุเลา หรือยุติลง และกว่าเศรษฐกิจทั้งระบบจะฟื้นตัวนั้นจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่านี้ นั่นเท่ากับเป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก**
ยิ่งมีแรงเสี้ยมจากบรรดานักวิเคราะห์ หรือผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศหลายสถาบันออกมา ประเมินว่าในอีก 2 ปีราคาทองคำจะขยับขึ้นไปถึง 3 พันเหรียญสหรัฐต่อออนซ์ หรือมากกว่า 4 หมื่นบาท ก็ยิ่งกระตุ้นให้นักลงทุนรีบหันมาสะสมทองคำเพิ่มเติมมากขึ้น และเมื่อมีดีมานด์ไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้ ย่อมหนีไม่พ้นที่จะเห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ ทำให้คำถามสำคัญสำหรับการลงทุนจึงอยู่ที่ว่า “ใครจะโกยกำไรจากการเก็งกำไรราคาทองคำได้มากกว่ากัน?” และ “ปัจจุบันราคาทองคำยืนอยู่บนจุดสูงสุดหรือยัง?” หลังจากทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 2,039 เหรียญสหรัฐ เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่
“พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) แสดงความเห็นที่น่าสนใจว่า ราคาทองคำตลาดโลกปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ และทิศทางยังคงเป็นขาขึ้น เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยสนันสนุน โดยเฉพาะโควิด-19 ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ล่าสุดพบว่าส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 2 หดตัวถึง 32%
นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนก็ยังคงมีความขัดแย้งกันอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเกิดความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อและการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์จากสภาพคล่องที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้นักลงทุน ธนาคารกลางหลายประเทศสะสมทองคำมากขึ้น รวมถึงกองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ยังคงเข้าซื้อทองคำเป็นปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม YLG แนะนำนักลงทุนควรกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ให้หลากหลาย เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง โดยมองว่าควรมีสัดส่วนการลงทุนทองคำในพอร์ตลงทุนที่ 5-15% โดยคนที่เริ่มลงทุนควรมีสัดส่วนลงทุนอยู่ที่ 5% และค่อยปรับขึ้นเป็น 10% และ 15% โดยสัดส่วนไม่ควรเกินระดับนี้ เนื่องจากปัจจุบันราคาถือว่าปรับขึ้นมาสูงแล้ว แม้ว่าโอกาสราคายังสามารถปรับขึ้นได้อีก แต่การลงทุนควรมีวินัยและกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และถือทองคำไว้ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
สำหรับเป้าหมายราคาทองคำปีนี้จะปรับขึ้นไปเท่าใดนั้นปัจจุบันถือว่าคาดการณ์ได้ยากเพราะราคาปรับขึ้นมามากแล้ว ขณะเดียวกันผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากวิกฤตก็อยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น แต่หากมีวัคซีนผลิตออกมาใช้ได้จริงก็อาจส่งผลให้ราคาทองคำปรับลดลงได้ อย่างไรก็ตาม มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้น ทองคำจึงยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งล่าสุดโกลแมน แซคส์คาดการณ์ว่าภายใน 12 เดือนราคาทองคำจะปรับไปที่ 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (33,900 บาท) ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม YLG มองเป้าหมายถัดไปที่ 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือคิดเป็นเงินบาทไทยประมาณ 31,000 บาท
และจากความเห็นดังกล่าว นั่นทำให้ในแง่การลงทุน ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักแนะนำให้รอราคาทองคำปรับลดลงในระยะสั้นและอย่าเก็บระยะยาว เพราะราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นมากแล้ว จึงมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ขณะเดียวกันถัดไปในปี 2564 การเคลื่อนไหวของราคาทองคำยังขึ้นกับปัจจัยความเสี่ยงด้านเครดิตหรือตลาดหุ้น และดอลลาร์ที่อ่อนค่าอาจบรรเทาลง เพราะถ้าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับใกล้ช่วงเวลาที่ผลทดสอบวัคซีนจะถูกนำออกมาใช้ น่าจะทำให้บริษัทต่างๆ หรือภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มฟื้นตัวมีรายได้กลับมา เพราะหากวิเคราะห์บนพื้นฐานเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนั้น ราคาทองคำควรจะอยู่ที่ระดับ 1,500-1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 22,000-23,600 บาทเท่านั้น
นอกจากนี้ การลงทุนในทองคำยังมีสิ่งที่น่ากังวลอีกประการ นั่นคือ แรงซื้อขายในสัญญาล่วงหน้า ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุน เพราะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการซื้อขายทองคำจริง ซึ่งที่ผ่านมาการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในปัจจุบันถือว่าแรงซื้อขายในสัญญาล่วงหน้ามีส่วนสำคัญยิ่งต่อการขึ้นลงของราคา
ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ที่นักลงทุนลดความเชื่อมั่นในราคาทองคำลง อาทิ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งใหม่ และผลที่ออกมาผู้นำอาจจะไม่ใช่คนปัจจุบัน นั่นย่อมหมายถึงนโยบายระหว่างประเทศที่คุกรุ่นมายาวนานอาจจบลงไปด้วย นั่นอาจทำให้อุตสาหกรรม หรือระบบเศรษฐกิจดีขึ้นจนมีผลให้ราคาทองคำปรับตัวลง หรือหากเกิดแรงขายในตลาดสัญญาล่วงหน้าด้วยเพราะการคาดการณ์ข้างต้น หรือสาเหตุอื่นๆ ที่เกิดดันราคาทองคำในสัญญากระดาษหรือสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ดิ่งตัวลงหนัก และย่อมทำให้ราคาทองคำจริงปรับตัวลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น กูรูด้านการลงทุนหลายคนจึงส่งสัญญาณว่ายังสามารถลงทุนในทองคำได้ แต่ควรเป็นการลงทุนระยะสั้น ไม่ควรถือครองหรือลงทุนระยะยาวเพราะราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวลดลงหนักได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่ลงทุนในทองคำด้วยต้นทุนที่สูงเพื่อจะหวังทำผลกำไรจากการปรับตัวขึ้นเล็กๆ น้อยๆ จะมีความเสี่ยงต่อการขาดทุน เมื่อพิจารณาจากฐานของราคาทองคำซึ่งขึ้นมาแตะระดับ 3 หมื่นบาทแล้วถือว่าเกินปัจจัยพื้นฐานกว่าที่ควรจะเป็น เพียงแต่ยังมีช่องว่างให้ฉวยโอกาสต่อได้เพียงเล็กน้อย
ส่วนปัจจัยที่จะทำให้ราคาทองคำยังอยู่ในระดับสูง หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นไปต่อ ณ ปัจจุบันนี้ หากไม่ให้น้ำหนักต่อสงครามการค้าระหว่างประเทศ หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญต่อการปรับตัวขึ้นลงของราคาทองคำ นั่นเพราะหลายฝ่ายมองว่า ความเชื่อมั่นในตลาดเงินตลาดทุนที่ทรุดตัวลงถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมทั่วโลกอยู่ในระดับสูง ถือเป็นเครื่องสนับสนุนราคาทองคำอย่างแท้จริง แม้มาตรการแก้ไขหรือมาตกรการป้องกันในบางประเทศจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์กระเตื้องขึ้นก็ตาม
ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความเห็นว่าราคาทองคำในอีก 1 เดือนจะหมดแรง สู่ 1,850-1,800 ดอลลาร์ หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาทองโลก รวมไปถึงราคาทองในประเทศไทยดีดตัวขึ้นสูงทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นของราคาทองคำในช่วงนี้คาดการณ์กันว่าจะมีการเทขายออกมาเป็นระยะๆ
ทั้งนี้ ถือว่าราคาทองคำในประเทศเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาทองปรับเพิ่มขึ้นจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มเติมท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง และสถานการณ์ทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการระบาดโควิด-19 และกรณีการเมืองระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่มองว่าอาจได้เห็นการพักตัวของราคาทองคำจาก 4 เหตุผล ดังนี้
(1) อุปทานจากเศษทองเก่าจะเร่งตัวขึ้น จากการนำทองคำที่เก็บไว้ออกมาขายทำกำไร ทำให้โครงสร้างตลาด Q3/63 ยังมีโอกาสเป็นอุปทานส่วนเกินต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 หลังจาก World Gold Council รายงานโครงสร้างตลาดทองคำ Q2/63 เป็นอุปทานส่วนเกินต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ถึง 72 ตัน
(2) Dollar Index และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้น จากการเร่งออกพันธบัตรของคองเกรสเพื่อระดมเงินมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่งผลลบต่อราคาทองคำตามหลักความเสมอภาคของค่าเงิน
(3) ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจไม่ได้เร่งขึ้นเหมือนช่วงก่อนหน้า สังเกตจากขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เริ่มลดลง - ส่งผลให้กระแสเงินส่วนเกิน (Excess Fund Flow) ที่เป็นตัวเปิด Upside ให้กับราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมามีโอกาสชะลอตัวชั่วคราว
และ (4) ผลตอบแทน YTD สูงถึง 30% ใกล้เคียงผลตอบแทนสูงสุดรายปีในอดีตที่ 31% แต่ถ้านับที่จุดสูงสุดของแต่ละปีราคาทองคำสามารถขึ้นแรงได้ถึง 41% YTD นั่นหมายถึง ราคาทองคำยังมีโอกาสกระชากทำสถิติสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง ถ้าจังหวะการพักฐานยังไม่หลุดจุดเปลี่ยนแนวโน้มแถว 1,800 ดอลลาร์/ออนซ์ ทำให้ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ Short Hedge แล้วรอซื้อกลับที่ 1,800-1,850 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยเรายังคาดหวังราคาทองคำจะกลับทำจุดสูงสุดใหม่แถว 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากพักฐานรอบนี้แล้ว ก่อนจะไปจบรอบขาขึ้นอย่างเป็นทางการหลังสหรัฐฯ เลือกตั้งในช่วง พ.ย.-ธ.ค. 63
โดยสรุปตามมุมมองความเห็นของกูรูต่อราคาทองคำ หลายฝ่ายยังคงเชื่อว่าราคาทองคำยังมีโอกาสขยับขึ้นเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่สูงถึง 3 หมื่นบาทต่อทองคำ 96.50% น้ำหนัก 1 บาทได้อีก แต่ช่องว่างในการทำกำไรจากช่วงเวลานี้เหลือน้อยเต็มทีหลังพบสัญญาณแรงเทขายที่เตรียมจะถาโถมออกมาจำนวนมาก หรือเมื่อพิจารณาจากราคาที่ควรจะเป็นของ “ทองคำ” ซึ่งควรอยู่ในระดับที่ต่ำ พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน
ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบหลายสัญญาณบวก หากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งหากสำเร็จได้ก่อนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ย่อมกดดันราคาทองคำให้ปรับตัวลงมาแน่นอน แต่ปัญหาการทรุดตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาอุ้มราคาทองคำให้ปรับตัวลงไปได้ไม่มากนัก ก่อนจะปรับตัวลงอย่างจริงจังเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว นั่นทำให้คนที่หันมาลงทุนทองคำในช่วงเวลานับจากนี้ นอกจากกังวลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังอาจกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะต้องหมั่นตรวจเช็กการเคลื่อนไหวของราคาทองคำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันผลขาดทุนสูงจากการลงทุนในต้นทุนที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาพักผ่อนหรือเวลานอนในประเทศไทย คือเวลาที่ประเทศขนาดใหญ่เปิดทำการซื้อขายตลอดคืน สงสัยคงอาจมีใครบางคนต้องควักต้นทุนเพิ่มเพื่อไปพบแพทย์หลังความดันขึ้นสูง!