บล.ทรีนีตี้ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยมี Upside จำกัด จากกรอบดัชนี SET INDEX ที่ 1,360 จุด ชี้ปัจจัยลบต่างประเทศยังคงกดดัน สะท้อนออกมาในทิศทางทองคำปรับตัวสูงขึ้น แนะรอจังหวะลงทุนหุ้นราคาเป้าหมายมีการปรับตัวลงทยอยเข้าซื้อ เน้นหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่ยังคงมีแนวโน้ม EPS อยู่ในเกณฑ์ดี และได้อานิสงส์จากสภาพคล่องของนักลงทุน Retail ในประเทศ ส่วนทองคำแนะนำถือครองในสัดส่วน 5-10% ของพอร์ตการลงทุนรวม
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า จากภาพดัชนี SET Index แกว่งตัวในแดนลบ หลังนักลงทุนเริ่มลดทอนความคาดหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีที่มาส่วนหนึ่งจากปัจจัยลบในต่างประเทศที่มาจากรายงานการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินเยนญี่ปุ่น พันธบัตรสหรัฐฯ รวมถึงทองคำปรับตัวสูงขึ้น โดยสำหรับทองคำนั้นยังคงมุมมองเดิมต่อจากวันพุธที่ผ่านมาว่า ตราบใดที่ราคา Spot ยังปรับตัวขึ้นไม่ถึงระดับ 2,150 เหรียญ/ออนซ์ จะยังไม่ถือว่าสินทรัพย์นี้เข้าสู่ภาวะ ‘ฟองสบู่’ แต่อย่างใด
“เราแนะนำชะลอการลงทุนใหม่ในระยะนี้ต่อไป หลังยังไม่เห็น Catalyst ใดๆ ออกมา โดยเฉพาะประมาณการ EPS ที่ยังคงมีแต่ทรงกับลง โดยหากจะต้องลงทุนจริงในช่วงนี้ให้รอจังหวะที่ราคาหุ้นเป้าหมายมีการปรับตัวลงค่อยใช้เป็นจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ โดยในส่วนของกลุ่มหุ้นเป้าหมายนั้นยังคงโฟกัสไปยังหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่ยังคงมีแนวโน้ม EPS อยู่ในเกณฑ์ดี และได้อานิสงส์จากสภาพคล่องของนักลงทุน Retail ในประเทศ โดยมี Sector ที่น่าสนใจได้แก่ กลุ่มบริหารหนี้ กลุ่มอาหารและเกษตร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มปั๊มน้ำมัน กลุ่มแพกเกจจิ้ง และกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการลงทุนหลังจากนี้ยังคงแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังต่อการลงทุนตลาดหุ้นไทยต่อไป จากปัจจัย Valuation ที่อยู่ในระดับสูง โดยหากอิงจากประมาณการ EPS ปีหน้าของ SET ล่าสุดที่อยู่ที่ราว 80.9 บาท และนำมาคูณกับระดับ Forward P/E กรณีดีที่สุดที่คำนวณที่ 16.8x จะได้ว่าระดับแนวต้านของดัชนีในเชิง Valuation จะอยู่ที่ 1,360 จุดเท่านั้น ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้นรวมที่ภาวะดัชนีไม่เหลือ Upside แล้ว ย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยง Downside risk ที่สำคัญในช่วงถัดไปได้
นอกจากนี้ การที่ Put/Call ration ทำจุดสูงสุดต่อเนื่อง Downside risk เปิดกว้างมากขึ้นสอดคล้องกับระดับสถานะคงค้างของตราสาร SET50 put option ที่ล่าสุดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากคิดเป็น Put/Call ratio ล่าสุดจะอยู่ที่ 2.4x แล้ว ถือเป็นระดับสูงสุดของรอบต่อไป ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของ Empirical study จะเห็นได้ชัดว่าระดับ Peak ของ Put/Call ratio นี้มักนำมาสู่การปรับฐานของ SET โดยเฉลี่ย 12% โดยมีจุดต่ำสุดของรอบหรือ Max drawdown อยู่ที่ประมาณ 4 เดือนหลังจาก Put/Call ratio ดังกล่าวทำจุดสูงสุด
มองประเด็น FX Manipulator ที่ไทยเราอาจเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงิน
จากกรณีที่ FX Manipulator list: ซึ่ง บล.ทรีนีตี้เคยกล่าวไว้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า ปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่อาจรออยู่ในช่วงกลางปีก็คือ การที่ไทยอาจถูกตัดสินจากสหรัฐฯ ว่าเข้าข่ายเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน เนื่องจากหากใช้ข้อมูลล่าสุดในขณะนั้นจะพบว่าไทยได้เข้าเกณฑ์ทั้ง 3 เกณฑ์ที่สหรัฐฯ กำหนดแล้ว ทั้งนี้ หากมาวิเคราะห์ในปัจจุบัน จะพบว่าไทยก็ยังคงเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 เกณฑ์เดิมต่อไป ไม่ว่าจะเป็น 1) การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับที่มากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญในช่วง 12 เดือนหลังสุด 2) ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลกว่า 2% ของ GDP ในรอบ 12 เดือนหลังสุด และ 3) การเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินต่างประเทศสุทธิในระดับที่เป็นบวกมากกว่า 2% ของ GDP ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่ากังวลต่อมาก็คือ Effective rate ในช่วง 6 หรือ 12 เดือนที่ผ่านมา หากพิจารณาในแง่ของ Effective exchange rate ก็จะพบด้วยว่าค่าเงินของไทยนั้นมีการปรับอ่อนค่าทั้งในมิติของ Nominal terms และ Real terms ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากสหรัฐฯ พิจารณาในส่วนนี้ก็ถือเป็นข้อหาที่ไทยเราอาจปฏิเสธได้ยากเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี หากไทยเข้าไปอยู่ใน List นี้จริง ต้องระวังมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในช่วงถัดไปได้ โดยหากดูจากข้อมูล YTD จนถึงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาพบว่าสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากสุดจะได้แก่ 1) คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 2) ผลิตภัณฑ์ยาง 3) ยานพาหนะและส่วนประกอบ 4) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ/ทรานซิสเตอร์/ไดโอด 5) เหล็ก 6) อัญมณีและทองคำ 7) อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป 8) ข้าว 9) รถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ด้าน Bond auction ซึ่งหากพิจารณาตามผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 5 ปีวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม โดยมี Bid-to-Cover อยู่สูงถึง 3.49x สูงกว่าการประมูลครั้งก่อนในรุ่นเดียวกันที่ 1.45x อย่างมีนัยสำคัญ และถือเป็นระดับสูงสุดของการประมูล Series ดังกล่าวในปีนี้ ขณะเดียวกัน ในส่วนของ Liquidity drained ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อน Appetite ของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ที่มากขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นการยืนยันถึงการดูดซับสภาพคล่องส่วนหนึ่งออกจากตลาดหุ้นเช่นเดิม ส่งผลให้การมีส่วนร่วมของนักลงทุนสถาบันในประเทศในตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่ระดับ 8% เท่านั้น ถือเป็นการทรงตัวต่ำกว่าระดับ 10% เป็นวันที่ 13 ติดต่อกัน และเป็นปัจจัยจำกัด Upside ของ SET Index ในแง่ของสภาพคล่องต่อไป
แนะนำถือครองเป็นสัดส่วนราว 5-10% ของพอร์ตการลงทุนรวม
ขณะที่มุมมองด้านทองคำนั้น ประเมินว่าราคาทองคำยังมี Upside จากปัจจุบันที่แถว 1,860 เหรียญ และยังคงแนะนำถือครองเป็นสัดส่วนราว 5-10% ของพอร์ตการลงทุนรวม เพื่อ Hedging กับราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาด้วยมาตรวัดราคาทองคำแท้จริงหรือ Real gold price ล่าสุด จะพบว่า หากใช้ระดับ CPI ปัจจุบันของสหรัฐฯ เป็นระดับอ้างอิงฐาน และนำราคาทองคำแต่ละช่วงเวลามาขจัดด้วยเงินเฟ้อ จะได้ว่าเพดานของราคาทองคำ Spot ในปัจจุบันที่จะสามารถปรับตัวขึ้นไปได้นั้นจะได้ถึงระดับประมาณ 2,150 เหรียญถึงจะเรียกว่าเข้าสู่สภาวะ ‘ฟองสบู่’ ของราคาทองคำได้
นอกจากนี้ หากพิจารณา Low real yield อีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญที่ยังคงคอยช่วยสนับสนุนราคาของทองคำ นั่นคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริงของสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำและถึงขั้นติดลบในหลายรุ่นอายุ ซึ่งจากการศึกษาของเราในอดีตพบว่าตัวแปรดังกล่าวมักแปรผกผันกับ Performance ของราคาทองคำในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ