xs
xsm
sm
md
lg

คริปโตมายด์ เดินหน้าดัน DeFi อนาคตการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การลงทุนกลายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่การถือเงินสดคือความเสี่ยงในระยะยาว การเสื่อมค่าของค่าเงินเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้หลายคนเริ่มสนใจเรียนรู้ถึงการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ทั้งเพื่อรักษาความมั่งคั่งหรือค้นหาอิสระภาพทางการเงินของตนเองในอนาคต

อัครเดช เดี่ยวพานิช ประธานกรรมการ บริษัท คริปโตมายด์ จำกัด และที่ปรึกษา สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวกับ “หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 ํ ” ว่า ในโลกในปัจจุบันนี้ เรามีรูปแบบการลงทุนมากมาย รวมถึงเครื่องมือทางการเงินที่เอื้อความสะดวกสบายในการลงทุนให้แก่นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยที่สุดอย่างเช่นการฝากเงินธนาคาร และรับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามประเภท หรือในอัตราที่ธนาคารกำหนด หรือแม้กระทั่งรูปแบบเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ อีกมากมายในตลาดทุน เช่น ตราสารหนี้ พันธบัตร ตราสารทุน หุ้น ไปจนถึงหน่วยลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ
อย่างไรก็ดีเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ เปรียบเสมือนสิ่งที่ช่วยนักลงทุนให้สามารถลงทุนอย่างง่ายดาย และแน่นอนว่าหนึ่งในปัจจัยที่จะสนับสนุนการลงทุนนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว และกระจายออกไปเป็นวงกว้างมากที่สุด คือเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้บริการเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น โครงการขายพันธบัตรจากกระทรวงการคลังและกรุงไทยที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดีด้วยการที่พันธบัตร และแทบจะขายหมดในทันที


“จุดเด่นของเทคโนโลยี Blockchain นั้น คือศักยภาพที่มีความซับซ้อน และแม่นยำเที่ยงตรงสูง โดยจะได้เข้ามาแก้ไขปัญหาในด้านความซับซ้อนปลีกย่อยในระบบเทคโนโลยีที่มีการประมวลผลจำนวนมาก ซึ่งต้องการความถูกต้องเที่ยงตรง ปลอมแปลงหรือทำซ้ำได้ยาก โดยที่ผ่านมาเทคโนโลยีเก่านั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง อีกทั้งยังมีความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากตัวกลางหลายฝ่าย และการจัดการเอกสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม เช่นในกรณีของพันธบัตร ในอดีต หลังจากซื้อพันธบัตรแล้วจะต้องรอการโอน พันธบัตรถึง 15 วัน แต่เมื่อเป็น Blockchain นักลงทุนกลับซื้อได้ในทันทีผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยจำนวนขั้นต่ำเพียง 100 บาท ผลก็คือประชาชนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง”

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในเรื่องของพันธบัตรนั้น เป็นเพียงจุดเล็กๆเท่านั้นเมื่อเทียบกับโลกการเงินที่เรามี ซึ่งปัจจุบันนี้ระบบการเงินบนโลกส่วนใหญ่ เป็นระบบที่ถูกสร้างมานาน ระบบเหล่านี้ทั้งเชื่องช้าล้าสมัย มีความซับซ้อน อีกทั้งมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย เพราะสามารถปลอมแปลงทำซ้ำขึ้นมาได้ ทำให้จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีความปลอดภัยสูง และมีประสิทธิภาพการประมวลผลการทำงานในการจัดการข้อมูลจำนวนมากเข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดการด้านกระบวนการและเอกสารอันมหาศาล ซึ่งในตอนนี้เราได้มีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยยกระดับโลกการเงินของเราให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์


“แนวคิดของ Asset Tokenization หรือการแปลงสินทรัพย์บนโลกให้อยู่ในรูปแบบของ Digital Token ผนวกกับเทคโนโลยี Blockchain หรือ Distributed Ledger ที่ช่วยพัฒนาการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ผ่านตัวกลางจำนวนมากที่ไร้ประสิทธิภาพและล่าช้า มาเป็นการแลกเปลี่ยนกันในรูปแบบดิจิทัลที่แทบจะทันทีโดยไม่ต้องมีตัวกลางอีกต่อไป ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นประตูให้เราเข้าสู่การลงทุนยุคใหม่ รูปแบบใหม่ๆ พร้อมทั้งโอกาสใหม่ๆที่ไม่เคยเป็นไปได้ เช่นการซื้อสินทรัพย์อย่างที่ดินและหุ้นต่างประเทศ ที่มีข้อจำกัดทางต้นทุน ทำให้คนที่มีกำลังทรัพย์พอเพียงเท่านั้นถึงจะเข้าถึงได้ แต่ข้อจำกัดนี้จะหายไปด้วยพลังของสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อเศษเสี้ยวของสินทรัพย์ได้ ตามกำลังทรัพย์ และไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ”

นอกจากนี้หากจะมองให้ไกลกว่านั้นจะเห็นสิ่งที่เรียกว่า Decentralized Finance หรือ DeFi ซึ่งเป็นการสร้างระบบการเงินในรูปแบบใหม่ในโลกดิจิทัลที่ไม่ต้องพึ่งตัวกลาง ซึ่งทราบกันดีว่า “เราพูดถึงการย้ายหน้าที่ดูแลระบบการเงินที่ปัจจุบันทำโดยตัวกลางเช่นสถาบันการเงิน” มาเป็นระบบกระจายศูนย์ที่ทำงานได้ด้วยตนเอง ทำงานตามโปรแกรมที่ถูกเขียนไว้ โดย DeFi นั้นใช้ประโยชน์จาก Smart Contract ซึ่งใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ทำให้เหล่านักพัฒนาสามารถสร้างแพลทฟอร์มที่ทำงานเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือขึ้นมา โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเชื่อในผู้สร้าง แต่เชื่อในโปรแกรม Smart Contract ที่ถูกเขียนขึ้นมาและสามารถตรวจสอบได้โดยทุกฝ่าย ปลอมแปลงและทำซ้ำได้ยาก เนื่องจากข้อมูลจะถูกบันทึกเป็นชุดสำเนาดิจิทัลที่เชื่อมโยงถึงกันในระบบBlockchain

“เราลองนึกภาพธนาคารดิจิทัลที่สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ที่ธนาคารเดิมเคยทำได้ แต่ธนาคารเหล่านี้นั้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และบางทีก็อนุญาติให้ผู้ใช้งานเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยโหวต ดูแลระบบ และใช้เงินทุนทำประโยชน์ให้กับระบบแลกกับผลตอบแทนดั่งเป็นส่วนหนึ่งของธนาคาร โดยสามารถทำได้ตั้งแต่ การกู้ยืมเงินแบบไร้ตัวกลาง (MakerDAO, Compound Finance) , การสร้างสินทรัพย์จำลองเทียบกับสกุลเงินหรือหลักทรัพย์บนโลกจริง (Synthetix) , การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์และสกุลเงินดิจิทัลแบบไร้ตัวกลาง (Uniswap) ซึ่งในไทยเราก็มี คูแลป (KULAP) Decentralized Licensed Exchange รายแรกของโลก ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.ไทย โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้เปิดโอกาสให้ทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนเข้ามามีส่วนร่วมและรับผลประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม”

ทั้งนี้ระบบการเงินในรูปแบบใหม่ในโลกดิจิทัลที่ไม่ต้องพึ่งตัวกลางหรือ DeFi นั้น ได้มีการริเริ่มดำเนินการในประเทศไทยและเปิดโอกาสในการลงทุนให้กับนักลงทุนไทย โดยมี บริษัท เมอร์เคิล แคปปิตอล (Merkle Capital) กองทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้เริ่มบุกเบิกเรื่องนี้อยู่ ซึ่งได้ทำวิจัยศึกษาโอกาสการลงทุนในโลกการเงินดิจิทัลใหม่นี้ ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าเดิม ทั้งจากการตัดรายได้ของตัวกลาง ความสามารถในการทำธุรกรรมอย่างไร้พรมแดน และการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆชนิดใหม่ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต


“Decentralized Finance (DeFi) จะทำให้การพึ่งพาตัวกลางทางการเงินและการลงทุนค่อยๆ หมดไป โดยจะถูกแทนที่ด้วยระบบการเงินกระจายศูนย์ ระบบที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ระบบที่ไร้พรมแดน ระบบที่ย้ายความเชื่อมั่นจากมนุษย์ไปสู่โค้ด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมโครงสร้างทางการเงินในรอบศตวรรษเลยทีเดียว”

ทั้งนี้ในปัจจุบัน ระบบการเงินที่ถูกวางไว้ในระบบ Decentralized Finance มีมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ โดยใช้เวลาไม่ถึงสามปี ซึ่งแสดงให้ถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ใช้งานได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม การเงินบน DeFi นั้นยังเป็นอะไรที่ใหม่ แน่นอนว่ายังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย และความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่จะเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน ทำให้ถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูงในการใช้งาน แต่ในแง่ของแนวคิดและเทคโนโลยีแล้ว หากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่นวัตกรรมที่จะมาปฎิวัติระบบการเงินและการลงทุนต่างๆของโลกอนาคตอย่างคาดไมถึง

อัครเดช เดี่ยวพานิช ประธานกรรมการ บริษัท คริปโตมายด์ จำกัด และที่ปรึกษา สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น