FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนร่วงมาในโซนซบเซาครั้งแรกในรอบ 4 ปี กังวลท่องเที่ยว และขัดแย้งระหว่างประเทศ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ก.พ. 63 ลดลง 9.91% มาอยู่ที่ระดับ 72.75 โดยเป็นการปรับลดลงอยู่ในโซนซบเซา (Bearish) (ช่วงค่าดัชนี 40-79) เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เนื่องจากนักลงทุนกังวลสถานการณ์การท่องเที่ยวและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน ขณะที่นักลงทุนรอดูผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะการประกาศปันผลของบริษัทจดทะเบียน นโยบายภาครัฐ และภาวะเศรษฐกิจในประเทศจากการลงนามทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด
นอกจากนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงเล็กน้อย มาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการแพทย์ (HEALTH) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์การท่องเที่ยว
"ผลสำรวจ ณ เดือนมกราคม ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ซบเซาเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ซบเซา หากพิจารณารายกลุ่ม กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่เกณฑ์ซบเซาจากเกณฑ์ทรงตัวในเดือนก่อน ขณะที่กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ซบเซามาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ซบเซาเช่นเดิม" นายไพบูลย์ระบุ
ในช่วงเดือน ม.ค. 63 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) เคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน โดยช่วงต้นเดือน ดัชนีทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 1,600 จุด จากนั้นปรับตัวลดลงมากในระยะสั้นมาอยู่ที่ระดับ 1,550 จุดจากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน และฟื้นตัวขึ้นโดยได้รับผลดีจากการลงนามข้อตกลงการค้าขั้นที่ 1 ระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยดัชนีทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1,600 จุดในช่วงกลางเดือน จากนั้นดัชนีเคลื่อนไหวลดลงค่อนข้างมากจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณล่าช้า และปัญหาการแพร่ขยายของเชื้อไวรัสโคโรนาในจีน และการห้ามนักท่องเที่ยวจีนกรุ๊ปทัวร์เดินทางไปยังต่างประเทศ โดยดัชนีลดลงมาอยู่ที่ 1,510-1,520 จุด ในช่วงปลายเดือน
ทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน รองลงมาคือ นโยบายภาครัฐ และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่นักลงทุนกังวลการท่องเที่ยวจากปัญหาเชื้อไวรัสโคโรนาที่ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวจีนในไทย เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากเชื้อไวรัสโคโรนา ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังการลงนามข้อตกลงทางการค้าขั้นที่ 1 ทิศทางนโยบายทางการเงินและนโยบายทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือ การเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจภาครัฐพื่อกระตุ้นการลงทุน การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว แนวโน้มค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลง ผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และการไหลเข้าออกของเงินทุน
ขณะที่ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน ก.พ. 63 ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 7 สัปดาห์ข้างหน้า นับจากวันที่สำรวจ (3 ก.พ. 63)
น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน ก.พ. 63 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในรอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือน มี.ค. 63 (ประมาณ 7 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 50 และ 66 ตามลำดับ ลดลงจากครั้งที่แล้วเล็กน้อย เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลได้ปรับลดลงแล้วในช่วงต้นปีก่อนทำการสำรวจความเห็น ซึ่งได้มีการรับรู้เหตุการณ์แพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ
ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์แล้วจึงมีโอกาสลดลงอีกไม่มาก โดยมีมุมมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมีจำนวนมากขึ้น ดัชนีคาดการณ์จึงยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)" จาก 1.11% ในรุ่นอายุ 5 ปี และ 1.28% ในรุ่นอายุ 10 ปี ณ วันที่ทำการสำรวจ (3 ก.พ. 63) โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ที่ทรงตัว การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่ทรงตัว และ Fund Flow จากต่างชาติที่ลดลง